ยกระดับนักศึกษาอาชีวะ พัฒนาภาษา-ไอที-ภาวะผู้นำ
บริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์จำกัด (เอเอสเอ็ม) ผู้ให้บริการงานรักษาความปลอดภัยในกลุ่มล็อกซเล่ย์ และวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พัฒนาหลักสูตรการจัดการความปลอดภัย ระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพื่อยกระดับบุคลากรด้านอุตสาหกรรมความปลอดภัยให้มีศักยภาพสูงขึ้น
โดย "กาญจน์ ทองใหญ่" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจด้านงานรักษาความปลอดภัยคือคุณภาพคนและเทคโนโลยี
"ความร่วมมือในการเปิดหลักสูตรการจัดการความปลอดภัยครั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้พนักงานตำแหน่ง รปภ.ของเอเอสเอ็ม มีโอกาสรับการศึกษา และพัฒนาภาคทฤษฎี ที่เน้นด้านภาษาต่างประเทศ , การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสาร และทักษะการเป็นผู้นำ เพื่อนำไปใช้ควบคู่กับการปฏิบัติงานประจำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด"
โดยเรารับสมัครพนักงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) ประมาณ 120 คน เข้าศึกษารุ่นแรก ซึ่งเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยมีศูนย์การเรียน 2 แห่ง คือ ที่สำนักงานลาดกระบัง และที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายในห้องเรียนทั้ง 2 แห่งจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์การเรียนการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างครบครัน
"กาญจน์" ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าพนักงานที่เรียนจบหลักสูตรนี้จะได้รับวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ทำให้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่งบริษัทมีนโยบายส่งเสริมคนภายในองค์กรให้เติบโตในสายงานขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้า และระดับบริหารอยู่แล้ว
ดังนั้น พนักงานจะมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เช่น ผู้ควบคุมงาน หรือหัวหน้างานไซต์งานต่าง ๆ สอดคล้องกับการขยายการให้บริการด้านความปลอดภัยของเอเอสเอ็มสู่ภายนอกสนามบิน รวมทั้งพนักงานยังสามารถไปประกอบอาชีพที่อื่นโดยไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น
"อนาคตอันใกล้เราตั้งเป้าที่จะขยายหลักสูตรสู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีด้วย เพื่อผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพด้านรักษาความปลอดภัย รองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)"
ด้าน "เจนวิทย์ ครองตน" ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ กล่าวว่า วิทยาลัยออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ด้านทฤษฎี ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมตามมาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานงานด้านการจัดการความปลอดภัย เพื่อให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้กับงานประจำที่ปฏิบัติอยู่
"หมวดวิชาที่จัดให้มีการเรียนการสอน ได้แก่ วิชาปฏิบัติการจัดการความปลอดภัย, วิชาภาษาอังกฤษสำหรับความปลอดภัย, วิชาความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม และการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง เป็นต้น
ซึ่งหลักสูตรบริหารการจัดการด้านความปลอดภัย ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหลักสูตรอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ที่สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องร่วมมือกัน"
ขณะที่ "ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล" ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรสายอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องตอบสนองกับความต้องการของภาคเอกชน และตลาดแรงงานทุกระดับ
"ปัจจุบันเรามีบุคลากรที่จบสายอาชีวศึกษาเพียง 2.8 แสนคนต่อปี ขณะที่ความต้องการบุคลากรที่จบสายนี้ของตลาดแรงงานมีถึง 4 แสนคนต่อปี ดังนั้นเราจึงควรเร่งผลักดันการสร้างภาพลักษณ์ว่า การเรียนสายอาชีพสามารถมีงานทำ 100%, มีรายได้ที่ดี, มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน และมีอาชีพที่มั่นคง"
เพราะการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การพัฒนาสร้างบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง