มหา"ลัยแตกไลน์บันเทิง เปิดหลักสูตรอินเตอร์กินรวบตลาดเออีซี

มหา"ลัยแตกไลน์บันเทิง เปิดหลักสูตรอินเตอร์กินรวบตลาดเออีซี

มหา"ลัยแตกไลน์บันเทิง เปิดหลักสูตรอินเตอร์กินรวบตลาดเออีซี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความร้อนแรงของอุตสาหกรรมทีวีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นคู่ชกระหว่างช่อง ฟรีทีวีอีกต่อไป เมื่อทีวีดาวเทียมซึ่งดูเหมือนเป็นผู้เล่นที่นิ่งมาตลอดกลับพลิกเกมรุกอย่าง รวดเร็ว บวกกับการผุดเป็นดอกเห็ดของช่องเคเบิลทีวีจึงทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดของแวดวงโทรทัศน์แข่งขันกันดุเดือดยิ่งขึ้น

เมื่อ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีโครงการประมูลคลื่นโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ส่งผลให้รายการโทรทัศน์ของ ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 48 ช่อง จนทำให้นึกภาพออกเลยว่าอนาคตของวงการทีวีจะคึกคักแค่ไหน เพราะแน่นอนว่ากลุ่มทุนจะดาหน้าเข้าแย่งชิงเค้กก้อนนี้อย่างล้นหลาม

การ เพิ่มขึ้นของจำนวนช่องทีวี ย่อมนำมาซึ่งความต้องการบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และหากติดตามข่าวสารของบริษัทสื่อโทรทัศน์ที่ผ่านมาจะพบว่าหลายค่ายเปิดรับ สมัครคนร่วมงานจำนวนมาก

แม้ปัจจุบันจะมีคณะนิเทศศาสตร์ เป็นหัวหอกหลักในการผลิตบัณฑิตป้อนสู่วงการสื่อสารมวลชน แต่อาจด้วยการเล็งเห็นถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมทีวี รวมถึงช่องว่างของหลักสูตรที่สามารถเข้าไปเติมเต็มอีก จึงทำให้สถาบันการศึกษาบางแห่งคลอดหลักสูตรใหม่ขึ้นมารองรับความต้องการคน ด้านบันเทิง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมองไกลไปถึงการขยายฐานผู้เรียนไปสู่นักศึกษาจากประเทศอาเซียน และหวังให้ประเทศไทยเป็นฮับของอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต

ล่าสุด วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย (Superstar College of Asia) เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาดนตรีและศิลปะการแสดง ภาคภาษาอังกฤษ ซึ่ง "พิสิษฏ์พงศ์ วรเศรษฐการกิจ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ออเคสตร้า อินเวสเตอร์ กรุ๊ป และคณบดีวิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยว่า วิทยาลัยร่วมมือกับ Edexcel Approved Centre บอร์ดคณะกรรมการการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ

"หลักสูตรที่ นำมาสอนคือ Business and Technology Education Council หรือ BTEC ซึ่งได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยกว่า 250 แห่งทั่วโลก หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม โดยจะเน้นการเรียนรู้ และการปฏิบัติเหมือนทำงานจริงแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปที่เน้นทฤษฎีมากกว่า"

BTEC เป็นหลักสูตร 2+1 คือเรียนที่วิทยาลัยศิลปินแห่งเอเชีย 2 ปี ได้รับวุฒิ BTEC Level 5 จากสถาบัน Edexcel

หลังจากนั้นจึงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยใน ประเทศอังกฤษอีก 1 ปี หรือมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นอีก 2 ปี ก็จะได้รับปริญญาตรีศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรี หรือสาขาศิลปะการแสดงที่ตัวเองเลือก โดยวิทยาลัยจะรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2557 ประมาณ 50-100 คนในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาต่างชาติ 25%

"ประเทศ ในอาเซียนค่อนข้างอนุรักษนิยมเชิงวัฒนธรรม ทำให้ไม่มีสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับบันเทิงเท่าไรนัก ด้วยความที่เราเป็นแห่งเดียวของอาเซียนที่มีหลักสูตร BTEC เด็กจากประเทศอื่นน่าจะเลือกเรา เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับการไปเรียนที่อังกฤษ ขณะเดียวกัน

เรามีแผนจะไปเปิดสอนที่กัมพูชาด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าไทยจะเป็นฮับด้านบันเทิงของอาเซียนได้ เพราะคนในอาเซียนให้ความสนใจศิลปินไทยมากกว่าศิลปินจากประเทศเกาหลี"

"พิสิษฏ์พงศ์" มองว่า วงการบันเทิงไทยเติบโตเร็วมาก เมื่อเทียบ 10 ปีผ่านมา เห็นได้จากธุรกิจเคเบิลทีวีที่มีกว่า 200 ช่อง หรือ ขนาดตลาดการผลิตคอนเทนต์ของโทรทัศน์ไทย เดิมมีเพียงวันละ 60 ชั่วโมง จากช่องฟรีทีวี ขณะที่ในอนาคตจะมีการเปิดทีวีดิจิทัล 48 ช่อง จะทำให้คอนเทนต์เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,000 ชั่วโมงต่อวัน

"การเติบโตที่รวดเร็วของคอนเทนต์ ทำให้มีความต้องการคนจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังไม่มีการป้อนคนเบื้องหน้าได้มากพอ อย่างคณะนิเทศศาสตร์ จะเป็นการผลิตคนเบื้องหลังมากกว่า"

ขณะ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีโครงการจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อผสมคาดว่าจะเปิดสอนในปีการ ศึกษา 2557

ต่อเรื่องนี้ "ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน" อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ในฐานะประธานจัดตั้งโครงการหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อผสม กล่าวว่า หลักสูตรนี้มีอยู่แล้วในต่างประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย แต่ในอาเซียนยังไม่มีโดยตรง จะเป็นไปในลักษณะของคณะดุริยางคศิลป์มากกว่า

ทั้งนี้ จุดเด่นของหลักสูตรคือการนำวิชาที่เกี่ยวกับวิศวกรรมมาปรับให้สอดคล้อง เช่น ฟิสิกส์สำหรับเสียง หรือคณิตศาสตร์ทางด้านดนตรี

"เรา กำลังสร้างวิศวกรที่มีความรู้ด้านดนตรี จากการสอบถามไปยังองค์กรต่าง ๆ พบว่าประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้โดยตรง ที่ผ่านมาเขาจะต้องนำบุคลากรที่มีอยู่ไปอบรมความรู้เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพและสามารถทำงานได้ตรงกับหน้าที่ความรับผิดชอบ"

ตอน นี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสถาบันดนตรียามาฮ่า, สถาบันดนตรีเคพีเอ็น และสถาบันเอสเออี (SAE : School of Audio Engineering) ซึ่งมีส่วนร่วมทั้งในแง่การจัดทำหลักสูตร และการฝึกงานของโครงการสหกิจศึกษา ที่นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานในองค์กรข้างต้นได้ทั้งในประเทศไทยและต่าง ประเทศที่องค์กรนั้นๆ มีสาขาอยู่

สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและ สื่อผสม เป็นหลักสูตร 2 ภาษา จึงต้องการผลักดันให้นักศึกษามีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ เพื่อรับการเปิดประชาคมอาเซียน และในอนาคตมีแผนจะเปิดหลักสูตรนานาชาติรองรับนักศึกษาจากประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน จะขยายเปิดหลักสูตรนี้ในระดับปริญญาโทควบคู่กันไป

ทั้ง นี้ เมื่อเรียนจบแล้ว บัณฑิตสามารถทำงานได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมดนตรี, อุตสาหกรรมภาพยนตร์/โฆษณา/เกม/แอนิเมชั่น, อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี, อุตสาหกรรมทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์, อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น

และไม่เพียงแต่การทำงานในประเทศ "ผศ.ดร.พิทักษ์" ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมามีการจ้างคนไทยไปรับงานด้านบันเทิงในประเทศอาเซียนอีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายขอบเขตไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนต่อความก้าวหน้าทางอาชีพในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook