แผลในช่องปาก...มากกว่าที่คิด

แผลในช่องปาก...มากกว่าที่คิด

แผลในช่องปาก...มากกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ เรื่องฟันFunกับทันต จุฬาฯ โดย ศ.ทญ.กอบกาญจน์ ทองประสม

การเกิดแผลในช่องปากนั้นมีหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยๆ มักเป็นแผลที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น ฟันแตกคม ฟันขึ้นผิดตำแหน่ง กัดกระพุ้งแก้ม ตะขอฟันปลอม หรือเครื่องมือจัดฟันระคายเคืองเนื้อเยื่อช่องปากบริเวณที่สัมผัส เป็นต้น แผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เมื่อกำจัดสาเหตุออกไปแล้ว จะหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่า แผลในช่องปากบางชนิดอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคของระบบต่างๆ ในร่างกายที่มีความสำคัญกับผู้ป่วย การใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีโรคต่างๆ ของร่างกาย มักมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผลเสียอันไม่พึงประสงค์เสมอ บางครั้งยาบางชนิดจะสามารถกระตุ้นทำให้เกิดแผลเรื้อรังในช่องปาก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมากได้ ยาที่พบบ่อยว่าสามารถทำให้เกิดแผลในช่องปากได้ คือ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาที่ใช้รักษาโรคข้อและกระดูกอักเสบ ยาต้านลมชัก ยาคุมกำเนิด และยาชนิดอื่นๆ

ส่วนรอยโรคนั้น มักจะพบลักษณะเป็นลายเส้นสีขาวร่วมกับการอักเสบแดงจัดเป็นแผล บางครั้งมีเลือดออกบริเวณรอยโรคด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก กินอาหารรสจัดไม่ได้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงวัยกลางคน ยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดรอยโรคชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด ที่พบบ่อยๆ คือ ยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาลดไขมันบางชนิด เป็นต้น และรอยโรคชนิดนี้ มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งในช่องปากได้ แต่พบน้อยในคนไทย

อีกอย่างที่ควรรู้คือ โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเองบางชนิด บางครั้งอาจตรวจพบว่า มีแผลในช่องปากที่มีลักษณะคล้ายกับแผลร้อนใน ซึ่งแผลที่เกิดขึ้นนี้จะมีลักษณะเรื้อรังนานเป็นปีหรือหลายปี ส่วนใหญ่มักจะพบแผลได้ที่บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดานปาก ริมฝีปาก

ดังนั้น หากท่านมีแผลเรื้อรังในช่องปาก ควรไปพบทันตแพทย์ซึ่งจะเป็นบุคคลแรกที่สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในช่องปาก และอาจตรวจพบมะเร็งในช่องปากระยะแรกได้

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook