จุดกระแส มหา′ลัย ไซเบอร์ไทย ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

จุดกระแส มหา′ลัย ไซเบอร์ไทย ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

จุดกระแส มหา′ลัย ไซเบอร์ไทย ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้เทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัวที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน และปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดขั้นตอน หรืออำนวยความสะดวกให้การทำงานเป็นไปได้ง่ายขึ้น อย่างภาคการศึกษาที่ปัจจุบันนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ดาวน์โหลดเอกสารการเรียน หรือส่งงานผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง ยิ่งกว่านั้นมหาวิทยาลัยบางแห่งได้พัฒนาไปถึงการเรียนออนไลน์

จากมหกรรม Smart Education งานนำเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก ที่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีการหยิบยกเรื่องมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยมากล่าวถึงได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ไทยใช้รูปเแบบ Dual Mode

พันธกิจของ สกอ. คือ ต้องดูแลสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ อีกทั้งมีนโยบายส่งเสริมการอุดมศึกษาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงได้จัดตั้งโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ (Thailand Cyber University : TCU) ขึ้น เพื่อให้บริการการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้นผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (Inter-University Network : UniNet)

"ผศ.ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา" ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า โครงการนี้จัดตั้งมากว่า 6 ปีแล้ว ที่ผ่านมามีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์ร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

ปัจจุบันมีบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ 700-800 วิชา ซึ่งสามารถนำไปใช้สอนทดแทนกรณีขาดอาจารย์ หรือใช้เป็นการสอนเสริมได้

"มหาวิทยาลัยไซเบอร์มี 4 รูปแบบ คือ Single Mode จัดการเรียนการสอนทางไกลโดยเฉพาะ, Dual Mode มีทั้งการเรียนในห้องเรียนตามปกติ และการสอนออนไลน์ เป็นรูปแบบที่มหาวิทยาลัยไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการ, Mixed Mode รูปแบบเหมือนกับ Dual Mode แต่ต่างกันที่อาจารย์สอนออนไลน์จะเป็นชุดเดียวกับอาจารย์ที่สอนในห้องเรียน ซึ่งรูปแบบนี้ในประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะ สกอ.มีการควบคุมว่าต้องมีอาจารย์ประจำของหลักสูตรนั้น ๆ และ Consortium Mode เกิดจากการรวมตัวกันของสมาคมต่าง ๆ มาเปิดสอนออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยมีรูปแบบนี้"

นอกจากนั้นมีมหาวิทยาลัย 9 แห่งดำเนินการในการเป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์ โดยได้ส่งหลักสูตรมาขออนุมัติจาก สกอ. ตอนนี้มี 50 หลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติแล้ว และอีก 17 หลักสูตรอยู่ระหว่างกระบวนการ ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรด้านสังคมศาสตร์ มีทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท อาทิ ม.รังสิต จะเป็นหลักสูตรด้านนิติศาสตร์, ม.หอการค้าไทย เปิดสอนด้านบัญชี เป็นต้น

เด่นที่สุดของโลกคือเกาหลีใต้

"ผศ.ดร.ฐาปนีย์" บอกว่า ประเทศที่ถือว่ามีความโดดเด่นด้านมหาวิทยาลัยไซเบอร์ คือประเทศเกาหลีใต้ เห็นได้จากมีแผนแม่บทมหาวิทยาลัยไซเบอร์อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากการทำ e-Learning สู่ u-Learning และเป็น Smart Education ซึ่งมหาวิทยาลัยไซเบอร์ของเกาหลีส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Dual Mode คือ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนตามปกติจะมีมหาวิทยาลัยไซเบอร์แยกออกมาด้วย แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน และที่ได้รับการนิยมจากผู้เรียนคือ Hanyang Cyber University, Seoul Cyber University

ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยไซเบอร์ 21 แห่ง จัดการเรียนการสอนสูงสุดระดับปริญญาโท โดยกระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้เปิดระดับปริญญาเอก เพราะเห็นว่าจะต้องมีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา รวมถึงทำวิทยานิพนธ์ อีกทั้งควรให้ความสนใจกับการเรียนโดยตรงมากกว่าการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต

"หลักสูตรที่คนให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 คือ สวัสดิการสังคม (Social Welfare)เกือบทุกมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง ซึ่งคนที่มาเรียนมหาวิทยาลัยไซเบอร์จะเป็นคนที่จบระดับชั้นมัธยมศึกษา แต่ไม่มีโอกาสต่อระดับปริญญาตรี แต่เมื่อเข้าสู่การทำงาน และมีความพร้อมด้านการเงิน จึงมาเรียนผ่านมหาวิทยาลัยไซเบอร์ อีกกลุ่มคือคนที่เรียนจบปริญญาตรีทำงานแล้ว และอยากเติมเต็มความรู้ให้ตัวเอง"

เดินหน้าอย่าง SMART

สำหรับแนวทางการจัดมหาวิทยาลัยไซเบอร์ของประเทศไทย "ผศ.ดร.ฐาปนีย์" กล่าวว่า ทำได้ 4 ช่องทาง คือ 1.พัฒนามหาวิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาทางไกลอยู่แล้ว เช่น ม.สุโขทัยธรรมาธิราช โดยบางมหาวิทยาลัยมีข้อได้เปรียบในแง่การมีหลายวิทยาเขต หากเพิ่มนโยบายการเรียนทางไกลเข้าไปด้วยจะทำให้ภาพชัดเจนขึ้น

2.ร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ และสถาบันอุดมศึกษา (Corporate-University Joint Venture) อย่าง ม.รังสิต และ ม.หอการค้าไทย

3.มหาวิทยาลัยไซเบอร์เต็มรูปแบบ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน, ความพร้อมของอาจารย์, หลักสูตรการเรียนการสอน เป็นต้น และ 4.มหาวิทยาลัยบรรษัท หรือสถาบันเพื่อการฝึกอบรม (Corporate University/Training Institutes) เช่น สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือบริษัทต่าง ๆ ที่เปิดสถาบันเพื่ออบรมพนักงานตัวเอง โดยส่วนหนึ่งของการเรียนจะใช้ไซเบอร์เป็นตัวเสริม

ทั้งนี้ "ผศ.ดร.ฐาปนีย์" มองว่า จะขับเคลื่อนให้เป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์ได้ต้องมี SMART ซึ่งย่อมาจาก S : Share Vision หากมหาวิทยาลัยต้องการเป็นมหาวิทยาลัยทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตควรวางวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน ซึ่งต้องครอบคลุมการเป็น e-Faculty, e-Student หรือ e-Administrator ดังนั้นจะต้องมี M : Motivation สร้างแรงผลักดัน และแรงจูงใจให้รู้ว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และสมควรที่จะปรับให้เป็นมหาวิทยาลัยไซเบอร์

นอกจากนั้นจะต้องเขียน A : Action Plan ทั้งการบริหารจัดการ, การจัดการเรียนการสอน, สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งต้องดำเนินการไปตามแผนงานเพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ให้ได้ ยิ่งกว่านั้นจะต้องมีความรับผิดชอบ R : Responsibilityทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรับผิดชอบงาน และหน้าที่ของตน สุดท้ายคือ T : Technology&Teaching นำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้ก้าวไปสู่การสอนยุคใหม่ที่เป็น Smart Learning

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook