วัยรุ่นโบกมือลาเฟซบุ๊ก?

วัยรุ่นโบกมือลาเฟซบุ๊ก?

วัยรุ่นโบกมือลาเฟซบุ๊ก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เริ่มรู้สึกเบื่อเฟซบุ๊กกันหรือยังคะ?

ถ้าหากตอบว่า เบื่อ ก็มีแนวโน้มสูงมากที่คุณจะเป็นคนในกลุ่มที่จัดว่าเป็น "วัยรุ่น"

ถ้าหากตอบว่า ไม่เบื่อ ก็ยินดีด้วยค่ะ (ปรบมือแปะๆๆ) ที่เมื่อกี้คุณตอบเบาๆ ในใจ คนข้างๆ ไม่มีใครได้ยิน สามารถกลับไปอ่านใหม่แล้วเลือกคำตอบดูอีกครั้งตามชอบ


สาเหตุ ที่ซู่ชิงบอกว่า คนที่ตอบว่าเริ่มจะเบื่อเฟซบุ๊กแล้วน่าจะเป็นวัยรุ่นก็เพราะว่านับวันก็จะมี ข้อมูลสถิติมายืนยันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเฟซบุ๊กกลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับพลเมืองอินเตอร์เน็ตในวัยนี้

แม้แต่ผู้บริหารของเฟซบุ๊กเองก็เคยออกมายอมรับแล้วว่าแนวโน้มของพฤติกรรมผู้ ใช้งานในกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาที่วัดกันเป็นรายวันนั้นน้อยลงจริงๆ

ถึงแม้เฟซบุ๊กจะไม่ได้ระบุให้แน่ชัดว่าผู้ใช้งานกลุ่มวัยรุ่นที่พูดถึงนั้น อยู่ที่ช่วงอายุตั้งแต่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ แต่ก็น่าจะพอคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าคงจะอยู่ที่กลุ่มอายุ 13-17 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เฟซบุ๊กหันมาให้ความสำคัญค่อนข้างสูงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สำหรับคนในวัยทำงานอย่างเราๆ ที่นั่งเฝ้าหน้าจอที่เปิดเฟซบุ๊กค้างเอาไว้ทั้งวันและติดตามข่าวสารบ้าน เมืองจากเฟซบุ๊กเป็นหลัก ก็คงจะนึกจินตนาการไม่ออกว่ามันมีแพลตฟอร์มอื่นให้คนไปรวมตัวกันได้ดีกว่า เฟซบุ๊กอีกหรือ ในเมื่อตอนนี้ดูเหมือนเราจะสามารถติดต่อเข้าถึงคนรอบตัวจำนวนมากผ่านทาง เฟซบุ๊กได้ง่ายยิ่งกว่าการติดต่อทางโทรศัพท์เสียอีก

แต่มันก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้วัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เบื่อง่ายและเปลี่ยนใจง่ายกำลังหันหลังสะบัดก้นให้กับเฟซบุ๊กอย่างไม่ไยดี

ซู่ ชิงลองรีดความเป็นวัยรุ่นเท่าที่ยังพอจะมีเหลืออยู่ในร่างกายทุกหยดหยาดออก มานั่งคิดดูว่าจะมีสาเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้ผู้ใช้งานกลุ่มนี้เริ่มจะเบื่อๆ เซ็งๆ กับเฟซบุ๊ก

ปัจจัยที่มีผลที่สุดน่าจะมีอยู่ 2 ข้อค่ะ และทั้งสองข้อนี้ก็สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ด้วย

ข้อแรกเลยก็คือเฟซบุ๊กเริ่มเป็นที่รวมตัวของคนที่สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ จำสมัย Hi5 ได้ไหมคะ ว่ามันเก๋และเท่ตรงที่เป็นแหล่งรวมของเด็กวัยรุ่นในวัยใกล้เคียงกัน ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน มีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แคร์เรื่องทำนองเดียวกัน และพอย้ายแพลตฟอร์มกันมาอยู่บนเฟซบุ๊กช่วงแรกๆ ก็ยังเป็นสถานที่ของวัยรุ่น เป็นดินแดนสนธยาที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าสลับซับซ้อนเกินกว่าจะเข้ามายุ่มย่าม ยิ่งทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีแหล่งนัดรวมตัวที่เป็นอิสระเสรีได้ร้อย เปอร์เซ็นต์

แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล ในเฟซบุ๊กนอกจากจะมีสมาชิกในครอบครัวครบทุกคนแล้ว ยังยกกันมาเป็นตระกูลไล่ไปตั้งแต่รุ่นเล็กจนรุ่นใหญ่ใหญ่ชนิดที่ว่าก่อนหน้านี้ขนาดคอมพิวเตอร์ยังไม่ยอมจับ หรือต้องเอาผ้าคลุมคอมพิวเตอร์ไว้กลัวติดไวรัส แต่เดี๋ยวนี้ล็อกอินเฟซบุ๊กผ่านแท็บเล็ตกลายเป็นเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดา

นั่นแหละค่ะ สิ่งที่ทำให้เฟซบุ๊กหมดความเท่ไปทันทีในสายตาของวัยรุ่น มันไม่คูล ไม่เอ็กซ์คลูซีฟ และไม่ "วัยรุ่น" อีกต่อไป เมื่อเฟซบุ๊กกลายเป็นสถานที่ของผู้ใหญ่ไปเสียแล้ว

ยังไม่นับความเซ็งของวัยรุ่นที่พ่อแม่จะต้องคอยตามอ่านโพสต์และแอบสอดส่องชีวิตส่วนตัวในแบบไม่พลาดสักคอมเมนต์

วัยรุ่นก็เลยต้องออกไปหาแพลตฟอร์มใหม่ที่ผู้ใหญ่ยังไม่ค้นพบและรุกรานเข้ามาทำลายบรรยากาศ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ขับไล่เด็กวัยรุ่นให้ออกไปจากเฟซบุ๊กก็คือนโยบายการโฆษณาที่ยั้วเยี้ย มั่วซั่ว และน่ารำคาญที่สุด

จากเดิมที่เฟซบุ๊กเคยเป็นเหมือนหน้ากระดานบอกความเป็นไปในชีวิตของเพื่อน ทันทีที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก็ดูเหมือนจะพยายามหารายได้ทุกช่องทาง ไหนจะกินพื้นที่แบนเนอร์ขวามือไปทั้งซีก และไหนจะแทรกซึมมาอยู่ในไทม์ไลน์ ทำตัวเนียนๆ เสมือนกับว่ามันคือโพสต์จากเพื่อนเราคนใดคนหนึ่ง ต้องหยุดดูและอ่านอย่างระมัดระวังถึงจะสังเกตว่านี่เป็นโฆษณานี่นา

การมีโฆษณาไม่ใช่เรื่องผิดเพราะทุกธุรกิจก็ต้องทำกำไรอยู่แล้ว แต่การให้ผู้ใช้งานเห็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับความสนใจของตัวเองในยุคที่ ทุกคนเปิดเผยข้อมูลความชอบและตัวตนบนอินเตอร์เน็ตกันโต้งๆ แบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัยด้วยประการทั้งปวง โฆษณาบนเฟซบุ๊กมักจะเป็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวกับความสนใจของผู้ใช้งานเลย แถมบ่อยครั้งเป็นโฆษณาคุณภาพต่ำที่ไม่น่าจะปล่อยให้หลุดผ่านมาเสียด้วยซ้ำ

เจอแบบนี้เข้า ผู้ใหญ่อาจจะบ่นเบื่อแล้วเล่นต่อ แต่วัยรุ่นที่มีแนวโน้มที่จะมีความอดทนต่ำกว่าก็โบกมือบ๊ายบาย

เฟซบุ๊ก พยายามแก้เกมด้วยการเปลี่ยนกฎบางอย่างที่ลดความเข้มงวดกับผู้ใช้งานกลุ่มนี้ ให้มากขึ้น จากเดิมที่จะแชร์โพสต์กับคนที่เป็นเพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนเท่านั้น ก็เปลี่ยนมาให้แชร์กับใครก็ได้บนเฟซบุ๊กเพื่อให้วัยรุ่นใช้เฟซบุ๊กได้อย่าง เป็นอิสระมากขึ้น

พร้อมๆ กันนี้ทั้ง Mark Zuckerberg ซีอีโอ และ Sheryl Sandberg ผู้บริหารหญิงมากความสามารถขององค์กรก็ผลัดกันออกมายืนยันต่อสาธารณชนว่า ข่าวลือที่ว่าวัยรุ่นไม่ชอบเฟซบุ๊กแล้วไม่เป็นความจริง

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครเชื่อเท่าไหร่และมองว่าเฟซบุ๊กกำลังบอกความจริง เพียงแค่เสี้ยวเดียว เพราะจริงอยู่ที่วัยรุ่นจำนวนมากยังใช้งานเฟซบุ๊ก แต่แนวโน้มตัวเลขที่ว่าน้อยลงเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างจริงจัง

ว่าแต่ว่า แล้วแพลตฟอร์มไหนที่คนในวัยนี้หันไปซบอกบ้าง

หลักๆ ก็คือทวิตเตอร์ที่จนถึงทุกวันนี้ผู้ใหญ่จำนวนมากยังเกาหัวแกรกๆ และถามคำถามเดิมว่าทวิตเตอร์คืออะไร และอินสตาแกรม โซเชียลเน็ตเวิร์กแชร์รูปถ่ายสุดฮิต (ซึ่งเจ้าของกิจการก็ยังเป็นเฟซบุ๊กอยู่ดี)

นอกจากนี้ ก็ยังมีบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ที่เริ่มกลายเป็น "ของเท่" และของที่ "ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึง" สำหรับเด็กวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น Snapchat โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใช้ในการส่งภาพให้กันภายในเวลาที่จำกัด เลือกได้ตั้งแต่ 1 จนถึง 10 วินาที หลังจากนั้นภาพก็จะลบตัวเองออกจากระบบ ส่งหารายคนก็ได้ ส่งหาเป็นกลุ่มก็ได้

ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะของบริการนี้ที่จะต้องทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ไม่ต่างกับ ทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าผู้ใหญ่ไม่น่าจะชื่นชอบได้ง่ายๆ ซึ่งก็ยิ่งเป็นเหตุผลให้วัยรุ่นปลื้มมันขึ้นไปมากกว่าเดิมอีก

หรืออีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่วัยรุ่นชื่นชอบก็คือ Tumblr ซึ่งก็คือโซเชียลเน็ตเวิร์กและแพลตฟอร์มไมโครบล็อกกิ้งที่ผู้ใช้งานสามารถ โพสต์เสมือนเป็นบล็อกสั้นๆ และตามบล็อกของคนอื่นที่เราสนใจ เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่ยังไม่รู้สึกอยากจะเริ่ม ลองเล่นเท่าไหร่

ดูเหมือนกับว่าเทรนด์ของโซเชียลเน็ตเวิร์ กที่เด็กโหยหาจะกลับมาสู่การแชร์เรื่องราวของตัวเองกับคนรอบตัวเพียงกลุ่ม เล็กๆ อย่างกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น และเฟซบุ๊กก็ได้กลายเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เวิ้งว้างเกินไปแล้วสำหรับพวก เขา

ดังนั้น โซเชียลเน็ตเวิร์กที่จะจับใจผู้ใช้งานกลุ่มนี้ได้ก็น่าจะต้องเป็นอะไรที่ย่อ สเกลให้เล็กลงเพื่อให้มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ใช้งานวัยรุ่นมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องเป็นแอปพลิเคชันประเภทส่งข้อความหากันอย่าง Line หรือ Wechat ไปเลย

การสูญเสียผู้ใช้งานในวัยนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะคนวัยทีนเป็นคนในกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อกันและกันสูง เป็นวัยที่กำลังอยากเสพคอนเทนต์ อยากส่งเสียง อยากมีส่วนร่วม ทำอะไรเป็นกลุ่มเป็นก้อน และเป็นเป้าหมายสำคัญของนักการตลาด

ถ้าหากเมื่อไหร่ที่เดินทางมาถึงวันที่วัยรุ่นแซวกันว่าใครยังแอ็กทีฟอยู่บน เฟซบุ๊กนับว่าเป็นคนเชยสุดๆ ก็จะเป็นหายนะของเฟซบุ๊กทันที และจะส่งผลเสียในระยะยาว

เพราะถ้าหากคนกลุ่มนี้ไม่ใช้เฟซบุ๊ก ก็จะยังคงพฤติกรรมนี้ไว้จนถึงช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งก็จะทำให้เฟซบุ๊กสูญเสียผู้ใช้งานกลุ่ม 18-25 ปีไปด้วยในที่สุด

ดังนั้น เฟซบุ๊กก็น่าจะต้องรีบหากิมมิคอะไรบางอย่างมาจูงใจให้วัยรุ่นที่เหลือยัง ซื่อสัตย์กับแพลตฟอร์มของตัวเองต่อไปให้ได้ เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของอาณาจักรเฟซบุ๊กนี้ให้อยู่ต่อไปได้นานที่สุด


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์

คอลัมน์ Cool Tech โดย จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook