โรคหน้าหนาวกับดวงตา
เมื่อลมหนาวมาเยือน โอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บช่วงหน้าหนาวก็เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่สุขภาพทั่วไป กลุ่มอาการตาแห้ง ก็เป็นอีกกลุ่มที่หลายคนมองข้าม
"นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ" จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ให้ข้อมูลว่า อาการตาแห้งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่แห้ง ทำให้ประชาชนประสบกับอาการดังกล่าว ซึ่งมีข้อบ่งชี้ ดังนี้ 1.มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณดวงตา 2.ตาแดง 3.น้ำตาไหล 4.กระพริบตาบ่อย และ 5.ตาฝ้าฟาง โดยกลุ่มที่พบบ่อยมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุ คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ เด็กและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เป็นต้น โดยการแก้ปัญหา ทำได้ด้วยการประคบเย็นบริเวณดวงตา โดยนำผ้าไปแช่ในตู้เย็น หรือชุบน้ำเย็นมาวางทาบโดยไม่ต้องกด ขยี้ หรือคลึง ซึ่งการวางผ้านั้นให้วางตั้งแต่ขมับซ้ายมาขมับขวาทาบทับหน้าผาก ตา และจมูก จนกว่าผ้าจะแห้ง หลังจากนั้น ให้นำผ้ามาชุบน้ำเย็นต่อ ซึ่งต้องทำติดต่อกันประมาณ 20 นาที และทำวันละ 2 ครั้ง จะช่วยให้อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีประคบเย็นแล้วอาการตาแห้งยังไม่หาย ผู้ป่วยควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
สำหรับการดูแลดวงตาไม่ให้มีอาการตาแห้ง ทำได้ 4 วิธี คือ 1.หลีกเลี่ยงการออกแดด 2.สวมแว่นกันแดดหรือหมวกทุกครั้งที่ออกแดด และ 3.ดื่มน้ำก่อนออกจากบ้านทุกครั้งเพื่อทำให้ตาชุ่มฉ่ำ และเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำเวลาอยู่นอกบ้าน และ 4.รับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น ผักสีเขียว ผักบุ้ง มะละกอ และแครอต เนื่องจากในกลุ่มเด็กนั้นมีอาการตาแห้งเกิดจากการไม่ได้รับประทานผักและผลไม้
"จริงๆ แล้วอาการตาแห้งไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อดวงตามากนัก แต่อาการตาแห้งจะสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วยมากกว่า ดังนั้น ประชาชนจึงควรที่จะรู้จักกับอาการตาแห้งเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการวิตกกังวลจนเกินเหตุ รวมถึงจะได้สามารถตั้งรับ รู้วิธีการรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถสังเกตอาการง่ายๆ คือ หากรู้สึกว่า มีการกะพริบตาอยู่ตลอดเวลาก็ให้สงสัยว่าอาจเข้าข่ายอาการนี้แล้ว" นพ.ฐาปนวงศ์กล่าว
ด้าน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเตือนกลุ่ม 6 โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวทุกปี ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อีสุกอีใส มือเท้าปาก และอุจจาระร่วง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ มีโอกาสป่วยง่ายสุด "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัด สธ. บอกว่า ช่วงฤดูหนาวแทบทุกปีจะพบปัญหากลุ่ม 6 โรคอยู่เสมอ โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555-กุมภาพันธ์ 2556 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วย 6 โรคฤดูหนาวรวม 471,172 ราย เสียชีวิต 355 ราย โรคที่มีความรุนแรงมากที่สุด คือปอดบวม เสียชีวิต 350 ราย จากที่ป่วยทั้งหมด 64,155 ราย รองลงมาคือไข้หวัดใหญ่ป่วย 23,255 ราย เสียชีวิต 1 ราย อุจจาระร่วง 351,611 ราย เสียชีวิต 4 ราย โรคมือเท้าปาก 13,823 ราย โรคอีสุกอีใส 17,251 ราย และโรคหัด 1,077 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงติดเชื้อง่าย และอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป
สิ่งสำคัญในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยง่าย จะต้องไม่คลุกคลีใกล้ชิดและไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด ไอ จาม เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมทั้งมีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลเช่นผู้ป่วยอัมพาต ผู้สูงอายุที่ป่วยและช่วยตัวเองไม่ได้ ขอให้เพิ่มการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ จุดที่ต้องเพิ่มความอบอุ่นเป็นพิเศษคือ ศีรษะ คอ และหน้าอก ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคใน 6 กลุ่มได้
ง่ายๆ ไม่ยาก...