เรียนฟรี 15 ปีกระทบ "เอกชน" ลดเฉพาะค่าใช้จ่ายพ่อแม่
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ศึกษาประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ที่ สช.ได้ดำเนินการระหว่างปีการศึกษา 2552-2553 ซึ่งเป็นผลการศึกษาล่าสุด พบว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองนักเรียนได้อาทินักเรียนชั้นอนุบาล 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายคนละ 8,112 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียม 6,982 บาท หนังสือเรียน 200 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 200 บาท ค่าเครื่องแบบ 300 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 430 บาท นักเรียนชั้น ป.1-6 ลดภาระค่าใช้จ่าย 2,633.20-3,109 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,056 บาท ค่าหนังสือเรียน 347.20-823 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 390 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 360 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 480 บาท นักเรียนชั้น ม.1-3 ลดภาระค่าใช้จ่าย 3,575-3,939 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,265 บาท ค่าหนังสือเรียน 560-924 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 420 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 450 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 880 บาท ชั้น ม.4-6 ลดภาระค่าใช้จ่าย 3,968.20-4,656 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,295 บาท ค่าหนังสือเรียน 763.20-1,451 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 460 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 500 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 950 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองและนักเรียนมีความเห็นว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับมาก
แหล่งข่าวจาก ศธ.กล่าวว่า ส่วนประเด็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ พบว่า ร้อยละของโรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าเรียนใหม่เพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2552 มีโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 61.93 มีจำนวนนักเรียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น และปีการศึกษา 2553 มีโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 60.40 มีจำนวนนักเรียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการประเมินประสิทธิภาพคุณภาพผู้เรียนนั้น พบว่า ร้อยละของโรงเรียนที่มีผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบสองระดับดีขึ้นไป มีโรงเรียนประเภทสามัญระดับก่อนประถมศึกษา ร้อยละ 95.51 และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 94.96 ส่วนโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษา ร้อยละ 86.36
"ผลการประเมินพบปัญหาอุปสรรคในส่วนของการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนล่าช้า เงินอุดหนุนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้ปกครองเข้าใจว่าเมื่อรัฐให้การอุดหนุนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีแล้ว ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทำให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจากผู้ปกครองได้ยาก ฉะนั้น ควรเข้าแก้ไขปัญหา เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุน การเพิ่มความรวดเร็วในการเบิกจ่าย" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
ที่มา : นสพ.มติชน