80 ปี จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ผ่านแว่นอธิการฯ สมคิด เลิศไพฑูรย์

80 ปี จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ผ่านแว่นอธิการฯ สมคิด เลิศไพฑูรย์

80 ปี จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ผ่านแว่นอธิการฯ สมคิด เลิศไพฑูรย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

เนื้อร้องจากบทเพลงประจำมหาวิทยาลัยริมฝั่งเจ้าพระยาเคล้าคลอทำนอง "มอญดูดาว" สะท้อนภาพ "คนธรรมศาสตร์" รุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านมรสุมทางการเมืองไทย นับตั้งแต่ผู้ประศาสน์การคนแรก "อาจารย์ปรีดี พนมยงค์"

ผู้ก่อตั้ง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" (มธก.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและเลือกยืนหยัดเคียงบ่าเคียงข้าง "ประชาชน" คัดค้านอำนาจเผด็จการในช่วงต้นทศวรรษ 2510

ล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2557 ในวัย 80 ปี "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" ที่เคยเข้มข้น และกระตือรือร้นทางการเมือง ดูจะค่อย ๆ ชราภาพ พร่าเลือนไปตามกาลเวลาและสภาพสังคมการเมืองที่แปรเปลี่ยนไป

ห้วงยามวิกฤตการเมืองไทยรอบล่าสุดที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ "จุดยืนธรรมศาสตร์" ที่ติดแบรนด์ยึดโยงกับการเมืองจะเดินต่อไปในทิศทางไหน

สโลแกนศักดิ์สิทธิ์ที่ติดตรึงไว้ว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ?" กลับเป็นมีเครื่องหมายคำถามต่อท้ายอย่างน่าคิด

ยามเย็นที่ลานปรีดี พนมยงค์ ท่าพระจันทร์ "ประชาชาติธุรกิจ-เซ็กชั่นดีไลฟ์" ได้พูดคุยขุดคุ้ยถามถึงวันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ ผ่านกรอบแว่นอธิการบดีธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน "สมคิด เลิศไพฑูรย์" ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่กำลังร้อนแรง

- รากเหง้าธรรมศาสตร์ กับ 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย ?

"80 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้แนวคิด 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย เราเลือกใช้คำที่อาจารย์ปรีดีเคยใช้ว่า "อภิวัฒน์" แปลว่า การพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่อยากใช้คำว่า "ปฏิรูป"

วิญญาณเรื่องการเมืองการปกครองอยู่ในธรรมศาสตร์มาโดยตลอด ย้อนรากเหง้าตั้งแต่ในปี 2477 ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อผลิตคนให้เข้าใจกฎหมายและการเมือง เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คนในสมัยนั้นไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร

บางคนตอบว่า รัฐธรรมนูญ คือชื่อลูกของอาจารย์ปรีดี เพียงเพราะได้ยินชื่อบ่อย ๆ ชื่อ รัฐธรรมนูญ พนมยงค์ โดยไม่ได้ตั้งใจผลิตบัณฑิตให้เป็นเจ้าคนนายคนอย่างจุฬาฯ แต่ต้องการสร้างบัณฑิตให้มารับใช้ประชาชนและรู้เรื่องประชาธิปไตย ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม

สมัยผมเข้ามาเป็นนักศึกษาในปี 2521 รหัสนักศึกษา 21 ผมเข้าเรียนรุ่นเดียวกับอภิชาติ ดำดี, นพดล ปัทมะ, สุรพล นิติไกรพจน์, วสันต์ ภัยหลีกลี้, วิฑูรย์ นามบุตร ถือเป็นช่วงที่การเมืองยังคุกรุ่นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 บรรยากาศในสมัยนั้นนักศึกษาสนใจการเมืองค่อนข้างมาก ตื่นเต้นและตื่นตัวในรั้วมหา"ลัย แต่หลังจากนั้นความตื่นตัวทางการเมืองก็เงียบหายไป จนกระทั่งเมื่อการแบ่งแยกเหลืองกับแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา" อธิการบดีธรรมศาสตร์สรุปให้ฟัง

- ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ?

อาจารย์สมคิดอธิบายว่า อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นคนแรกที่พูดว่า "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" คนธรรมศาสตร์จึงมีความหลากหลาย ในแง่การเรียนการสอนของธรรมศาสตร์ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นที่จะมีเค้าโครงการบรรยายในวิชาเดียวกันเหมือนกัน

แต่ธรรมศาสตร์ไม่มีเค้าโครงบรรยายเหมือนกัน เช่น ในวิชารัฐธรรมนูญของคณะนิติศาสตร์มีอาจารย์สอน 3 คน ห้องแรกก็เรียนกับผม คนชอบบอกว่าออกแนวเหลือง ๆ

อีกคนเป็นอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) ก็ออกโทนแดง ๆ และอาจารย์ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) เป็นโทนขาว ๆ นักศึกษาเลือกอาจารย์ได้เองตามใจ ตามรสนิยม

แต่สิทธิเสรีภาพในวันนี้ นักศึกษาตีความไม่ครบ อาจารย์สัญญาไม่ได้พูดว่านักศึกษามีเสรีภาพทุกตารางนิ้วเท่านั้น แต่ต้องมีความรับผิดชอบต้องเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ แต่ปัจจุบันคนมักเลือกไฮไลต์เฉพาะคำว่าแค่ "เสรีภาพ" เช่น นักศึกษาไม่แต่งชุดนักศึกษา แต่ทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ แล้วก็บอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

- เจตนารมณ์ของธรรมศาสตร์ในอนาคต ?

"...อาจารย์ปรีดีเคยกล่าวไว้ว่า "มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร" ถึงวันนี้เรายังคงยึดถือแนวทางนี้ต่อไป ทั้งให้ความรู้ประชาธิปไตย กฎหมาย และยังอยากให้ลูกหลานชาวบ้านได้เข้าเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัย มีทุนการศึกษา ไม่ขึ้นค่าหน่วยกิตสูง" อธิการฯสมคิดย้ำและอธิบายต่อว่า

"ธรรมศาสตร์จะอยู่กับประชาชนไม่เพียงพอแล้ววันนี้ ต้องก้าวไปข้างหน้า เราต้องแข่งขันกับโลก ก้าวไปเป็นมหา"ลัยชั้นนำของประเทศและของโลก"

สิ่งที่พยายามทำอยู่ คือ เน้นการทำวิจัย และการใช้ภาษาอังกฤษ เปิดภาคอินเตอร์ ขณะเดียวกันก็สอนให้รักประชาชนและรักประชาธิปไตย กล้าเสียสละ กล้าต่อสู้

ผมเข้ามาเป็นอธิการฯในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง มีทั้งวิกฤตและโอกาส ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองเหลืองกับแดง กระตุ้นให้เด็กธรรมศาสตร์กลับมาให้สนใจการเมืองมากขึ้น และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ศูนย์รังสิตได้กลายเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน ล่าสุดคือการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการต่อต้านคอร์รัปชั่น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ของธรรมศาสตร์ในยุคนี้

- โปรเจ็กต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นของอธิการสมคิดในสมัยที่ 2 ?

"ผมกำลังคิดทำโปรเจ็กต์ใหญ่ที่ธรรมศาสตร์-ท่าพระจันทร์ อย่างที่รู้กันว่าเรามีปัญหาเรื่องที่จอดรถ จึงเสนอไปยังรัฐบาล และ กทม.ในฐานะคนรับผิดชอบว่า

เราอยากจะขุดลงไปใต้ดินของธรรมศาสตร์ไปถึงสนามหลวงให้เป็นที่จอดรถ และยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องภูมิทัศน์ ด้วยการให้รถทัวร์ที่จอดเรียงรายรอบสนามหลวงลงมาจอดอยู่ข้างล่างให้หมด และเปิดเป็นตลาดขายโอท็อป ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น ข้างล่างธรรมศาสตร์เคยเป็นวังหน้า ถ้าขุดลงไปเชื่อว่าเราจะเจอปืนใหญ่ กำแพงประวัติศาสตร์ จึงเกิดไอเดียอยากทำเป็นพิพิธภัณฑ์วังหน้า เหมือนพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ของฝรั่งเศสที่มีชั้นใต้ดิน ถ้าทำได้จะเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์วังหน้าเชื่อมไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นั่นก็เป็นการขยายพื้นที่พิพิธภัณฑ์มากขึ้น คาดว่าเสร็จภายใน 3 ปีข้างหน้าแน่นอน" อาจารย์สมคิดอธิบายถึงโครงการขุดอุโมงค์ใต้ดิน

-จุดยืนอธิการฯ ธรรมศาสตร์ ในภาวะการเมืองแตกแยกเป็นสองฝ่าย ?

สมคิดชี้แจงว่า อธิการบดีโดยปกติต้องเป็นซีอีโอของมหาวิทยาลัย หมายถึงสั่งแล้วทุกคนต้องทำตามหมด แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นจริงเช่นนั้น เพราะอธิการฯธรรมศาสตร์ไม่ได้เป็นผู้บัญชาการให้อาจารย์ทุกคนทำตาม เช่น อธิการฯไม่สามารถสั่งกลุ่มนิติราษฎร์ หรืออาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) นั่นก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป เพราะลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัย คือ เสรีภาพทางวิชาการ

"ส่วนแนวทางของผมในฐานะอธิการฯ ธรรมศาสตร์ไม่ได้เป็นกลาง แต่เลือกอยู่ข้างความถูกต้อง ผมไม่มีทางไม่แสดงบทบาทได้ ถ้าวางตัวเป็นกลางเฉย ๆ คนจะมากดดันผมอยู่ดี เช่น นิติราษฎร์ว่าอย่างนี้ อั้ม-เนโก๊ะว่าเช่นนั้น อธิการฯจะว่าเช่นไร ที่จริงผมไม่อยากทำอะไรหรอก มีคนมาด่าผมเรื่อยเลย แต่คนเป็นอธิการฯ ต้องเป็นรับผิดชอบสูงสุด คนเลือกมาแล้วให้แก้ปัญหา ไม่ใช่ให้มางอมืองอเท้า

จุดยืนไม่มีความเป็นกลางในนามความดี ความชั่ว แต่ผมเลือกเดินสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยเตือนนิติราษฎร์เรื่องการจัดอภิปรายมาตรา 112 หลังจากพวกเขาจัดไป 5-6 ครั้งแล้ว จัดแต่เรื่องเดิม ๆ ผมก็ออกมาเตือน นิติราษฎร์มีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องพอสมควร และต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เคยเสนอแนะทางออกประเทศไทยไปแล้ว นั่นคือ นายกฯควรจะลาออกเพื่อให้สังคมไทยจะได้สงบสุข และควรมีนายกฯคนกลางที่น่าเชื่อถือมาเป็นรัฐบาลรักษาการแทน พร้อมเสนอให้ปฏิรูปประเทศ

แต่คนชอบคิดว่า ผมไปชี้นำคุณสุเทพทำตาม ผมไม่เคยโทร.คุยกับสุเทพเลยด้วยซ้ำ แต่วันนี้คุณสุเทพไม่ฟังใครหรอก ไม่ฟังคุณชวน ไม่ฟังคุณอภิสิทธิ์ แล้วจะฟังคนอย่างสมคิดเหรอ

ผมก็ไม่รู้ทางออกวิกฤตการเมืองไทยตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่ผมโชคดีไม่ใช่คุณสุเทพ !"

ในวันที่การเมืองไทยกำลังแหลมคมและแตกแยกเช่นนี้ การเลือกฝ่ายของอธิการฯ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" ที่บอกว่า "เลือกข้างความถูกต้อง" ยังเป็นเรื่องที่ต้องดีเบต ไม่ต่างกับคำถามในวัย 80 ปีของธรรมศาสตร์ ระหว่าง "จิตวิญญาณ" หรือ "คนธรรมศาสตร์" สิ่งใดกันที่เปลี่ยนไป ?

ทิ้งประโยคสุดท้ายเช่นเดียวกับเพลงประจำสถาบันมอญดูดาวสมัยอาจารย์ปรีดี ไว้ว่า... "โปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook