ท่องเที่ยวกับคนรุ่นใหม่ ไทยติดอันดับท็อป!
เอ็กซ์พีเดีย และอีเจนเซีย เว็บไซต์ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เผยแพร่ผลสำรวจที่น่าสนใจออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวเมื่อปีที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ต้นจนจบ และแตกต่างออกไปอย่างมากกับผู้คนรุ่นก่อนหน้านี้
การสำรวจดังกล่าวมอบหมายให้ "แฮริส อินเตอร์แอคทีฟ" ดำเนินการสำรวจออนไลน์ครอบคลุม 24 ประเทศในทุกภูมิภาคของโลกทั้ง 5 ทวีป รวม 8,535 คน ซึ่งรวมทั้งกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งในไทยที่ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของ "เจนวาย" หรือคนรุ่น "มิลเลนเนียล" คือคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-30 ปีที่ตลอดชีวิตคุ้นเคยอยู่กับสารพัดเทคโนโลยีใหม่ๆ รอบตัว การเก็บข้อมูลทำขึ้นระหว่าง 20 สิงหาคมถึง 12 กันยายน ปีที่เพิ่งผ่านมา เพื่อไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลด้านเดียวกันที่เป็นบุคคลทั่วไป และกลุ่มอายุสูงกว่า
ผลสำรวจที่น่าสนใจประการแรกก็คือ ความถี่ในการเดินทาง ทั้งเพื่อธุรกิจและท่องเที่ยว ไม่เพียงคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเดินทางมากกว่า คือ 4.7 ครั้งต่อปีเพื่องาน 4.2 ครั้งเพื่อท่องเที่ยวซึ่งสูงกว่าคนอายุ 45 ปีขึ้นไปอยู่มากแล้ว คนไทยยังเป็นคนที่เดินทางบ่อยที่สุดในโลก คือ 10.8 ครั้งเพื่องาน มากกว่านักเดินทางทั่วโลก (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8) ถึงเกือบ 3 เท่าตัว
การเดินทางท่องเที่ยวนั้นไม่ต้องพูดถึง คนไทยเดินทางถี่ที่สุดเช่นเดียวกัน คือ 6.2 ครั้งต่อปี เกือบเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนไทยส่วนใหญ่ (97 เปอร์เซ็นต์) เดินทางเพื่อพักผ่อนในวันหยุดอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อปี
โดยภาพรวมของการสำรวจทั่วโลก เห็นได้ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่น "เจเนอเรชั่น วาย" นี้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโทรศัพท์มือถือ เพราะคนรุ่นใหม่ใช้มันจองการเดินทางมากที่สุด 32 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ผ่านแท็บเล็ต เปรียบเทียบกับคนที่อายุ 45 ปีขึ้นไปที่จองผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเพียง 12 เปอร์เซ็นต์และ 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของ "โปรแกรมลูกค้าสัมพันธ์" เพื่อการจองการเดินทางผ่านอุปกรณ์เหล่านี้
หากจำกัดวงลงมาเฉพาะคนไทย ผลสำรวจพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของนักเดินทางไทย ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อวางแผนการเดินทาง เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย (66 เปอร์เซ็นต์) แต่ถ้ามองเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ จองตั๋วเครื่องบิน, จองที่พัก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นยอดการใช้งานสมาร์ทโฟนที่สูงที่สุดในโลก คือมากถึง 96 เปอร์เซ็นต์
เมื่อสำรวจถึงอุปกรณ์พกพาที่นักเดินทางไทยนิยมใช้ในการจองการเดินทางวันหยุดมากที่สุด กลับเป็นพีซี หรือโน้ตบุ๊ก มีสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาก็คือ คนไทยให้ความสำคัญกับการรีวิวการท่องเที่ยวและนิยมการโพสต์รีวิวของตนไว้เผยแพร่มากกว่าคนจากพื้นที่อื่นๆ
โดย 84 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเพื่อการพักผ่อนจัดอันดับให้รีวิวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวว่า "สำคัญมาก" และ "สำคัญ" สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของผู้เดินทางทั่วโลกที่คิดเป็น 79 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่มักโพสต์รีวิวเกี่ยวกับประสบการณ์การเดินทางของพวกเขาในแง่บวก (70 เปอร์เซ็นต์) มากกว่าในแง่ลบ (45 เปอร์เซ็นต์) จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่โพสต์รีวิวในแง่บวกนั้นนับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
หลังจากเสร็จสิ้นการจองเดินทาง หรือบางครั้งเสร็จสิ้นการเดินทางแล้ว คนไทยยังนิยมทิ้งข้อมูลส่วนตัวเอาไว้ ด้วยคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินทางครั้งต่อไปของตนอีกด้วย
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะบันทึกข้อมูลส่วนตัวไว้ในระบบมากกว่านักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ 88 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยบันทึกข้อมูลส่วนตัวไว้ในระบบออนไลน์เพื่อลดขั้นตอนการจองในอนาคต ซึ่งนับเป็นยอดที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รองจากอินเดีย (92 เปอร์เซ็นต์) ข้อมูลที่นักท่องเที่ยวบันทึกไว้ทางออนไลน์เพื่อลดขั้นตอนการจองมากที่สุดคือ อีเมล์ (69 เปอร์เซ็นต์)
เห็นหรือยังว่าเทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินทางและท่องเที่ยวในยุคใหม่และคนรุ่นใหม่มากมายเพียงใด
ที่มา : นสพ.มติชน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th