เจาะลึกการสอนในเอเชีย (1)
คอลัมน์ Education Ideas โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท
ผลการทดสอบ PISA 2012 ที่เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อน ๆ พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นใน 2 วิชา คือการอ่าน และวิทยาศาสตร์ ส่วนคณิตศาสตร์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีคะแนนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ
การวัดความสามารถของนักเรียน หรือที่เรียกว่า PISA : Programme for International Student Assessment ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ได้ประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 3 ด้าน คือการอ่าน, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อวัดระดับความสามารถของเยาวชนประมาณ 510,000 คน ใน 65 ประเทศด้วยกัน
PISA จึงถือเป็นเครื่องมือสะท้อนถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศ
สำหรับคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยหากดูจากการวัดผลของPISA ในปี 2012 เทียบกับปี 2009 แม้จะมีคะแนนที่สูงขึ้นในทุกวิชา แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ โดยคะแนนการอ่านอยู่ในอันดับที่ 48 ได้ 441 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 496 คะแนน) สูงขึ้นกว่าปี 2009 ซึ่งได้ 421 คะแนน, ด้านวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่อันดับที่ 47 ได้ 444 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 501 คะแนน) สูงขึ้นจากปี 2009 อยู่ที่ 425 คะแนน และด้านคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 50 ได้ 427 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 494 คะแนน) ส่วนในปี 2009 อยู่ที่ 419 คะแนน
สิ่งที่น่าสนใจในการวัดคุณภาพการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศครั้งนี้คือ 1-5 อันดับแรกของโลกล้วนอยู่ในเอเชียทั้งหมด โดยอันดับ 1 คือนครเซี่ยงไฮ้-จีน มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 613 คะแนน รองลงมา สิงคโปร์ 573 คะแนน ฮ่องกง 561 คะแนน จีนไทเป 560 คะแนน และเกาหลีใต้ 554 คะแนน
รวมถึงม้ามืดอย่างเวียดนาม ซึ่งเข้าประเมินเป็นปีแรก สามารถทำคะแนนได้ถึง 511 คะแนน เป็นอันดับที่ 17 ของโลก จึงทำให้สื่อหลายประเทศต่างตั้งข้อสังเกตว่าถึงเวลาหรือยังที่ระบบการศึกษาในโลกตะวันตกควรจะเรียนรู้จากระบบการศึกษาในเอเชีย
จากการศึกษาการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากการคัดกรองโดย OECD ในปี 2011 ที่ฉายภาพสะท้อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศในกลุ่มเอเชียที่น่าสนใจ โดยเฉพาะนครเซี่ยงไฮ้ ที่มีคะแนนการสอบ PISA เป็นอันดับ 1 ในวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งในปี 2012 และปี 2009 รวมถึงสิงคโปร์, ไทเป และญี่ปุ่นที่มีความคืบหน้า และยังเห็นผลการปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน
ความสำเร็จของเซี่ยงไฮ้ แม้บางคนจะมองว่าเป็นเพียงการสะท้อนถึงการเรียนแบบท่องจำ และเรียนเพื่อสอบ แต่กลับพบว่ามีการพัฒนาการเรียนการสอนจนติดอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีเพียง 2% ของนักเรียนชาวอเมริกันที่สามารถสร้างกรอบความคิดและใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูง ซึ่งเป็นระดับคะแนนที่สูงในการสอบ PISA แต่ในเซี่ยงไฮ้กลับมีมากกว่า 30% ที่เข้าใจเรื่องระบบเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยการปฏิรูปการศึกษาที่สำเร็จในนครเซี่ยงไฮ้พบว่า ในยุคเริ่มแรกของการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 30 ปีผ่านมาได้เน้นให้การศึกษาแก่ประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมของจีนเป็นช่วงที่มีการเปิดโรงเรียนรัฐขึ้นมาใหม่หลายแห่ง และส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกล จึงเกิดปัญหาคุณภาพการศึกษาตามมา
เพราะโรงเรียนที่เปิดใหม่มีปัญหาครูลาออก และรับสมัครใหม่ จึงขาดครูที่มีประสบการณ์ และนักเรียนมีปัญหาเรื่องขาดความเชื่อมั่นในตนเอง โดยไม่เชื่อว่าจะสามารถประสบความสำเร็จขั้นสูงได้
มาตรการปฏิรูปการศึกษาของนครเซี่ยงไฮ้ในระลอกที่ 2 จึงมีการกระจายอำนาจทางการศึกษาในระดับท้องถิ่น เพื่อเพิ่มอำนาจในการบริหารจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น การใช้ระบบให้คำปรึกษาแก่ครูอย่างเข้มข้น และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนให้เกิดความมั่นใจในความสำเร็จของตัวเอง
เพราะฉะนั้นลองมาติดตามต่อในฉบับหน้าว่าแต่ละประเทศเขาจะมีวิธีจัดการทางด้านศึกษาอย่างไร?