ฟังเสียงสะท้อนครู 3 รุ่น วิธีสอนเด็กในสังคมที่มีความเห็นต่าง
เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยไม่เคยสงบนิ่ง อันมีผลสืบเนื่องมาจากด้านการเมืองที่เป็นเหมือนเชื้อไฟปะทุ แน่นอนว่าหนึ่งในหลายสาเหตุของปัญหามาจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยนี้สามารถลุกลามไปสู่ความขัดแย้งได้
ในโอกาสวันครู ประชาชาติธุรกิจจึงได้สัมภาษณ์ครู 3 รุ่นถึงการแนะแนว หรือสอนการปฏิบัติตนในสถานการณ์ที่มีความเห็นต่างให้กับนักเรียน ซึ่งกล่าวได้ว่าครูเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญต่อความคิดของนักเรียน นอกเหนือจากผู้ปกครอง เพื่อน หรือสื่อต่าง ๆ และแนวความคิดที่เด็กได้รับจากครูจะติดตัวพวกเขาไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม
เริ่มด้วยคนที่เพิ่งเข้าสู่วงการแม่พิมพ์ของชาติ "ปัฐมาวดี มูลวัน" ครูโรงเรียนบ้านหนองบัว จ.ตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย-พม่า บอกว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีความเห็นต่าง เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ในฐานะที่ตนเป็นครูผู้ให้ความรู้ได้สอนให้นักเรียนตระหนักรู้ในเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ โดยรับฟังข่าวสารและสถานการณ์อย่างเป็นกลาง โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
"แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องช่องทางการรับรู้ข่าวสาร เพราะโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ชนบท ห่างไกลความเจริญ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่เราได้อธิบายให้นักเรียนฟังถึงปัจจัยและเหตุผล พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับพวกเขาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นการสอนให้เด็ก ๆ อยู่ร่วมกันภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งว่าต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง เคารพในกติกามารยาทของสังคมและระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งต้องไม่ปฏิบัติตนให้กระทบหน้าที่ของคนอื่น"
ขณะที่ครูซึ่งมีประสบการณ์การสอน 10 ปีอย่าง "ปริณดา แป้นแก้ว" ครูโรงเรียนสาธิตพัฒนา กรุงเทพมหานคร มองว่าสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งย่อมมีความคิดเห็นที่ต่างกันได้ แต่ปัญหาคือคนไทยไม่เคารพความคิดต่างของคนอื่น
"โดยส่วนตัวสอนวิชาสังคมศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พบว่านักเรียนชั้น ม.ต้นมีการตื่นตัวเล็กน้อย พูดคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ส่วนเด็กชั้น ม.ปลายจะพูดคุยกันมากกว่า แสดงความคิดเห็นชัดเจน และเมื่อเราสอนหนังสือในเนื้อหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และพลเมือง ก็ได้พูดคุยกับเด็กถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมถามต่อว่าพวกเขามองหรือคิดอย่างไร ซึ่งเด็กบางคนก็ซักถามถึงสิ่งที่ตนเองสงสัย แสดงว่านักเรียนสนใจเรื่องราวบ้านเมือง"
ทั้งนี้ จากระยะเวลาการสอนที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองมาหลายครั้ง "ปริณดา" มองว่านักเรียนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งมาจากการที่เด็กได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริงด้วยตัวเอง และได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี สำหรับบทบาทของครูที่สอนนักเรียน เธอบอกว่า ไม่ว่าครูจะอยู่ฝ่ายไหน ต้องไม่นำความคิดเห็นของตนไปปลูกฝังให้นักเรียน และต้องสอนเด็กว่าต้องคิดตามหลักการและเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของหลายแง่มุม แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์
"บางครั้งเรานำเหตุการณ์มายกตัวอย่างให้นักเรียนได้พูดคุยกัน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของเด็ก ขณะเดียวกันก็สอดแทรกให้เด็กมีเหตุผลมารองรับความคิดของเขา และถึงแม้การเมืองเป็นเรื่องระดับชาติ แต่คิดว่าต้องเริ่มจากในห้องเรียนก่อน ซึ่งมีกติการ่วมกัน ให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน"
"เพราะเด็กเป็นเหมือนต้นกล้า เมื่อโตไปเป็นผู้ใหญ่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย สิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ในความคิดเห็นที่แตกต่าง คือต้องมีสติ มีเหตุผล มีใจที่ปราศจากอคติ ให้มองว่าทั้งสองฝ่ายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งเราบอกให้เด็กยึดระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ มิฉะนั้นแล้วประเทศจะเสียหาย ในทางเดียวกัน เรายังปลูกฝังให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ 3 สถาบันหลักของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
ปิดท้ายด้วย "วันเพ็ญ เขียนเอี่ยม" ครูวัยใกล้เกษียณจากโรงเรียนธัญบุรี จ.ปทุมธานี กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองในปัจจุบันค่อนข้างเสี่ยงต่อการทำลายมิตรภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน และครูกับลูกศิษย์ ครูจึงควรสอนให้นักเรียนเคารพความคิดเห็นของบุคคลอื่น ไม่ดูถูกผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากตนเอง เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกคิด แต่ต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูกและไม่ผิดกฎหมาย
"ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวกับการเมืองไม่มีผลกระทบต่อการเรียนการสอนมากนัก กระนั้น ครูเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความรู้แก่นักเรียนเพิ่มมากขึ้นในเรื่องประชาธิปไตย, กฎหมายพื้นฐานการดำรงชีวิต, การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"
นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันนักเรียนสามารถรับรู้ข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็วกว่าในอดีต ทำให้เมื่อมีข่าวสารใหม่ ๆ เกี่ยวกับการเมืองเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่นักเรียนนำมาพูดคุยกันในห้องเรียน จนบางครั้งให้ความสนใจมากกว่าวิชาที่กำลังเรียนอยู่ และมักถามอาจารย์ผู้สอนว่ามีมุมมองทางการเมืองอย่างไร
"ครูมองว่าผู้เป็นครูไม่ควรพูดโน้มน้าวให้นักเรียนเชื่อในสิ่งที่ตนเองคิดแต่ควรสอนให้พวกเขามีความคิดในแบบของตนเองอย่างมีเหตุมีผล รวมไปถึงการแสดงออกด้วยวาจาที่สุภาพ และควรแนะนำให้นักเรียนเข้าใจว่า ถึงแม้เหตุการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ แต่ควรให้ความสนใจกับวิชาที่เรียนด้วย เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติ"
ทั้งหมดเป็นบทบาทของครู 3 รุ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการสอนนักเรียนที่อยู่ในบริบทของสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างในปัจจุบัน