Gen Y ไหว้เจ้า ตรุษจีน ประยุกต์ตามสมัย ทำได้ ?

Gen Y ไหว้เจ้า ตรุษจีน ประยุกต์ตามสมัย ทำได้ ?

Gen Y ไหว้เจ้า ตรุษจีน ประยุกต์ตามสมัย ทำได้ ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ที่บ้านเราก็ยังไหว้แบบเดิมอยู่ คือมีหมู เป็ด ไก่ ครบ แต่เดี๋ยวนี้สะดวกขึ้น เพราะในช่วงเทศกาลเขาจะมีจัดเซตแบบครบชุดมาขายเลย เราไม่ต้องไปหาซื้อทีละร้านแล้ว"

"... บ้านผมจะเพิ่มอาหารยุคใหม่อย่าง พิซซ่า โดนัท ในของไหว้ เพราะคิดว่าถ้าไหว้แบบเดิม ๆ บ่อย ๆ บรรพบุรุษอาจจะเบื่อ อันนี้คิดเองนะครับ ขนาดพวกเครื่องกระดาษยังมีไอแพด โทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีต่าง ๆ เลยครับ"

"... ที่บ้านจะทำอาหารไหว้เองค่ะ อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารเจ แต่ก็ยังคงความเชื่อแบบเก่าอยู่นะคะ คือต้องมีหมู มีเป็ด มีไก่ แต่อะไรที่เราเลี่ยงได้ก็เลี่ยง"

"... บ้านเราจะเน้นว่าคนในครอบครัวชอบทานอะไร ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ ก็จะนำสิ่งนั้นมาไหว้ ไม่ได้ยึดว่าต้องมีเป็ด ไก่ หรือหมูครบทั้งสามอย่าง"

"... เมื่อก่อนครอบครัวใหญ่ ๆ ก็ไหว้ครบถ้วนแบบดั้งเดิม แต่พอแยกบ้านออกมามีครอบครัวของตัวเอง ก็จะเน้นไหว้พวกขนม เพราะถือว่าเราไม่อยากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต"

นานาทรรศนะของบรรดาชาวจีน ลูกครึ่งไทยจีน ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งของไหว้เจ้าตามประเพณีโบราณที่มีการประยุกต์ตามความสะดวก และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รับเทศกาล เฮง...เฮง...เฮง ต้อนรับปีใหม่จีน

นอกเหนือจากการเลือกของไหว้เจ้าแล้ว ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน ในช่วงตรุษจีนที่ใกล้มาถึง ครอบครัวชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนต่างทำความสะอาดบ้าน ตระเตรียมเครื่องของสักการะเพื่อขอบคุณ-ขอพรจากเทพเจ้าและบรรพบุรุษ

ดังนั้นผู้ที่มีเชื้อสายจีนทั้งหลายจึงจะนำอาหารหวานคาว ผลไม้ รวมถึงสิ่งที่เป็นมงคลมาไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ รวมไปถึงดวงวิญญาณไร้ญาติ

ชาวจีนแต่ละกลุ่มแต่ละภาษาจะมีธรรมเนียมการไหว้ที่ต่างกันออกไป แต่สำหรับการไหว้ตรุษจีนแบบที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นชินนั้น คือธรรมเนียมการไหว้ตรุษจีนแบบจีนแต้จิ๋ว แรกเริ่มเดิมทีข้าวของหลักที่นำมาไหว้ตรุษจีนนั้นจะประกอบไปด้วย

- เนื้อสัตว์สามอย่าง ไก่ เป็ด หมู หรือที่ชาวจีนจะเรียกว่า "ซาแซ" หากครอบครัวใดที่มีฐานะดีจะเพิ่มเป็น "โหงวแซ" หรือห้าอย่างก็ได้เช่นกัน ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนโบราณที่ตกทอดต่อกันมาแล้วเนื้อสัตว์อย่างเป็ด ไก่ หรือปลานั้น จะต้องมีหัว เท้า และครีบอยู่ครบถ้วนทุกส่วน

- ผลไม้สามอย่าง, ห้าอย่าง หรือ "ซาก้วย", "โหงวก้วย" ที่นิยมกันก็จะมีส้ม กล้วย สาลี่ องุ่น แอปเปิล

- ขนมต่าง ๆ อย่างขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา

- เครื่องกระดาษ ที่แต่ละชนิดความหมายและการใช้งานก็จะต่างกันออกไป

นอกเหนือจากนี้อาจจะมีอาหารประจำถิ่นตามแต่ละครอบครัวจะคัดสรรมาซึ่งหากเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบจีนโบราณแล้ว การไหว้นั้นถือเป็นพิธีสำคัญ ของที่นำมาไหว้จึงมีจำนวนมากตามไปด้วย

เมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีดั้งเดิมให้เจือจางลง แต่ไม่ขาดหายไปเสียทีเดียว แต่ก็ทำให้การไหว้ตรุษจีนนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ความเคร่งครัดในการสรรหาสิ่งของที่จะนำมาไหว้ตรุษจีนก็ดูจะน้อยลง ปริมาณลดลงตามขนาดของครอบครัว

ปัจจุบันคนมักอยู่กันแบบครอบครัวย่อยมากกว่าครอบครัวใหญ่อย่างเมื่อก่อนเน้นไปที่ความสะดวกสบายในการเลือกซื้อ มีการประยุกต์อาหารให้หลากหลายและรับประทานง่าย เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

สำหรับคนที่เคร่งครัดในธรรมเนียมปฏิบัติ อาจจะให้ความสำคัญในสิ่งของไหว้ตามแบบโบราณ ขาดไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว มิเช่นนั้นแล้วก็เท่ากับว่าการประกอบพิธีกรรมไม่เสร็จสมบูรณ์ ตามคำสั่งเสียและคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่หลายคนกังวลในเรื่องนี้

เพื่อเป็นการไขข้อกังวลสงสัยของลูกหลานคนจีนสมัยใหม่ที่อยากไหว้เจ้า แต่ติดปัญหาที่ไม่สามารถนำสิ่งของเครื่องไหว้อย่างหมู 3 ชั้น เป็ดและไก่ต้มไปปรุงอาหารต่อได้ หรืออาจจะมากมายจนรับประทานไม่หมด จึงลดคอร์สมาเป็นไก่ทอด ไก่ย่าง แบบครึ่งตัว หรือเฉพาะเนื้ออกเท่านั้น รวมไปถึงขนมของไหว้ที่ไม่ได้เป็นไปตามอย่างความเชื่อเรื่องชื่ออาหารที่ช่วยเสริมมงคลให้กับชีวิต

สามารถทำได้หรือไม่

"ธันฐกรณ์ สังขพิพัฒธนกุล" อาจารย์ประจำคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่า ธรรมเนียมการไหว้ตรุษจีน หรือธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ตกทอดต่อกันมานั้นคือสิ่งที่ดีงาม และถือเป็นเรื่องปกติของธรรมเนียม-วัฒนธรรมที่จะมีการขยับอยู่ตลอดเวลา

ถ้าจะถามว่าขัดต่อหลักความเชื่อหรือไม่

"ผมว่าไม่หรอกครับ คนโบราณเขาก็บอกว่าสามารถปรับได้ ผมยกตัวอย่างที่เมืองไทยนิยมไหว้ขนมเทียน ซึ่งเชื่อกันว่าจะนำความสว่างรุ่งเรืองมาให้ แต่หากลองไปหาขนมเทียนที่เมืองจีน เราก็จะรู้ว่าที่นั่นไม่มีขนมเทียน เพราะความเชื่อเรื่องความเป็นมงคลของขนมเทียน เกิดจากการที่ชื่อของขนมไปพ้องกับเทียนที่ให้แสงสว่างนั่นเอง ขณะที่เมืองจีนเองก็เหมือนกันครับ อย่างตับเนี่ยเขาก็นิยมนำมาไหว้นะครับ เพราะชาวจีนเรียกตับว่า "กัว" ซึ่งมันไปพ้องเสียงกับคำว่า "กัว" ที่มีความหมายถึงข้าราชการ เมื่อนำตับมาไหว้ก็เหมือนกับเป็นการอวยพรให้ลูกหลานมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ปัจจุบันนี้ที่ผมเห็นบางบ้านปรับเปลี่ยนอาหารไปหลายอย่างหมูก็ไหว้หมูแผ่น ปลาหมึกก็เป็นปลาหมึกเส้น บางพื้นที่เนื้อสัตว์บางอย่างหาไม่ได้ ก็ใช้อย่างอื่นมาทดแทนได้ กระทั่งบางครอบครัวเปลี่ยนเป็นอาหารเจก็มี เพราะเขาอาจได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องค่านิยมของแต่ละครอบครัว และถ้าหากสังเกตกันจริง ๆ ครอบครัวเหล่านี้มักจะเป็นครอบครัวของคนยุคใหม่ที่ในบ้านอาจจะไม่มีผู้อาวุโสที่ยังยึดค่านิยมดั้งเดิมอาศัยอยู่ด้วยจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละเจเนอเรชั่น อย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่าคนยุคใหม่ยังมีความตั้งใจยึดถือธรรมเนียมการไหว้ตรุษจีน เคารพเทพเจ้า-บรรพบุรุษอยู่ เคารพความกตัญญูอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้หายไป"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook