อะไรคือโจทย์ปัญหาการศึกษาไทย

อะไรคือโจทย์ปัญหาการศึกษาไทย

อะไรคือโจทย์ปัญหาการศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นเรื่องการตกซ้ำชั้น และการสอบวัดผลด้วยข้อสอบกลางโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ทำให้เกิดความสงสัยว่าโจทย์ปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้เสียที เพราะเหตุผล 2 ประเด็นนี้? ที่เด็กตกแล้วไม่ได้ซ้ำชั้น กับการทดสอบวัดผลประเมินผลด้วยการใช้ข้อสอบในโรงเรียนเท่านั้น ถ้าให้เด็กที่สอบตกต้องซ้ำชั้น แทนที่จะให้สอบซ่อม เหมือนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คุณภาพของเด็กจะดีกว่าไม่ซ้ำชั้นแน่? และการใช้ข้อสอบกลางจะทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น จริง?

หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องมีแนวคิดที่จะ รื้อฟื้นการตกซ้ำซ้อน โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา เนื่องจาก การสำรวจข้อมูลพบว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.3 อ่านหนังสือไม่ได้ร้อยละ 8 หรือประมาณ 64,000 คน นักเรียนชั้น ป.6 อ่านหนังสือไม่ออกร้อยละ 4 หรือประมาณ 32,000 คน จากนักเรียนชั้นละประมาณ 800,000 คน

คำถามคือ ทำไมเด็กอ่านหนังสือไม่ออก แล้วถ้าเด็กตกซ้ำชั้นอีกปีหนึ่ง เด็กจะอ่านหนังสือออกอย่างนั้นหรือ ปัญหาจริงๆ ที่เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่เพราะมีเวลาเรียนน้อย แต่เพราะมีเหตุปัจจัยอื่นเว้นแต่การให้เด็กนักเรียนซ้ำชั้นเพื่อเป็นการตัก เตือนให้ครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนเอาใจใส่ต่อการเรียนการสอนมากกว่านี้

ทำไมไม่แก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก มีทั้งเรื่องของระดับสติปัญญาที่อาจเรียนช้ากว่าคนอื่น ถ้าเรียนรวมกับเพื่อนยังไงก็เรียนไม่ทัน เคยเห็นครูที่สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เอาใจใส่การสอนมาก ให้เด็กที่มีลักษณะเช่นนี้ มาเรียนกับครูตัวต่อตัวตอนเย็นหลังเลิกเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จนเด็กสามารถอ่านหนังสืออก และไปเรียนในชั้นต่อไปได้โดยไม่ต้องซ้ำชั้น

แล้วโรงเรียนส่งเสริม เห็นความสำคัญของครูที่เสียสละเวลาแบบนี้แค่ไหน?

โรงเรียนประถมศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในเมือง มีเด็กห้องหนึ่ง 10-20 กว่าคน เพราะเหตุใดจึงไม่สามารถบริหารจัดการให้เด็กอ่านหนังสือออก ต้องโทษใครบ้าง นอกจากครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียนทำอะไรอยู่ถึงไม่รู้ว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนของตนอ่าน หนังสือไม่ออกกี่คน ทำไมไม่รู้ว่าครูในโรงเรียนคนไหนสอนดีไม่ดี ครูคนไหนควรรับผิดชอบเรื่องการสอนอ่านเขียนระดับพื้นฐาน และทำไมไม่กำกับติดตามการเรียนการสอน

ครอบครัวมีส่วนที่ทำให้เด็ก อ่านหนังสือออก เด็กที่อ่านหนังสือได้คล่องแคล่วมีทักษะในการอ่านนอกจากเป็นผลมาจากการสอน ของครูที่โรงเรียนแล้ว หากพ่อแม่เอาใจใส่กวดขันให้ลูกอ่านหนังสือทุกวันจนเป็นนิสัย โดยพ่อแม่เอาใจใส่ดูแล เด็กจะมีความชำนาญในการอ่านมากยิ่งขึ้น

การให้เด็กตกซ้ำชั้น จะทำให้เด็กยิ่งเบื่อหน่ายการเรียน เพราะต้องเรียนเรื่องเดิม ครูคนเดิม ซ้ำๆ ที่อาจไม่ได้มีเทคนิคการสอนดึงดูดใจให้การเรียนเขียนอ่านน่าสนใจขณะเดียวกัน การให้เด็กตกซ้ำชั้นที่มีมากมายทั้งประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรต่อไป ครูผู้สอนที่ไม่เอาใจใส่ อาจลืมคิดที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนว่าสอนอย่างไรเด็กถึงจะอ่านออกเขียน ได้ ส่วนเด็กก็ไม่กลัวการตกซ้ำชั้น

ถ้าไม่ต้องมีการตกซ้ำชั้นเช่น เดิม แต่ใช้วิธีการส่งเสริมให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนหาวิธีการที่จะทำให้เด็ก อ่านออกเขียนได้ ถ้าในระดับโรงเรียนพยายามแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อาจต้องผนึกกำลังกันทั้งเขตพื้นที่ ช่วยกันจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมให้กับเด็กเหล่านี้

หากเห็นว่าการที่เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ได้เกิดจากการบกพร่องของครู แต่เกิดจากความบกพร่องของเด็กด้านสติปัญญา ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งการตกซ้ำชั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหานี้แน่ๆ

ส่วนแนวคิดที่จะใช้ข้อสอบส่วนกลางวัดผลการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3,4,5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 ด้วยข้อสอบปลายภาคปีละ 2 ครั้ง วิชาละ 60 ข้อโดยที่ สพฐ.กำลังจะจัดตั้งชุมนุมนักวัดผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่วัดผลการศึกษาด้วยการให้เด็กทำข้อสอบกลาง

การใช้ข้อสอบกลางหรือข้อสอบมาตรฐานจากส่วนกลางมาสอบวัดความรู้ของเด็กทั่วประเทศเกือบ ล้านคนในโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันทั้งความพร้อมของโรงเรียน ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนจำนวนครูผู้สอน สภาพแวดล้อมของชุมชน ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ความเอาใจใส่ของครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนมีความแตกต่างกันแล้ว

การใช้ข้อมูลกลางที่อาจไม่ได้ผ่านการตรวจสอบค่าความยากง่ายของข้อสอบตามวิธีการ ของการวัดผล หรือหากจะนำข้อสอบไปทดลองใช้ก็คงทดลองกับเด็กในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ๆ โรงเรียนดังๆ มากกว่าที่จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทที่ห่างไกล เพื่อวัดว่าข้อสอบนี้มีความยากง่ายมากน้อยเพียงใดเหมาะกับเด็กจำนวนเกือบ ล้านคนหรือไม่

อีกทั้งผู้ออกข้อสอบเป็นใคร เป็นคนที่ไม่เคยสอนเด็ก เป็นนักวิชาการ เป็นครูที่เคยสอนแต่เด็กเก่งๆ การมองว่าข้อสอบเช่นไรยากง่ายก็ต่างกับครูที่เคยสอนแต่เด็กอ่อนๆ

การใช้ข้อสอบมาตรฐานเพื่อชี้วัดอนาคตของเด็กจากระบบการศึกษาของประเทศที่ยังไม่ ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันนั้น เป็นธรรมแก่เด็กมากน้อยเพียงใด

อีกนัยหนึ่งของการใช้ข้อสอบกลาง เพื่อเป็นสัญญาณบอกไปยังครูผู้สอนว่าสอนไม่ดี เด็กจึงทำข้อสอบไม่ได้ ยิ่งไม่เป็นธรรมเข้าไปใหญ่ เพราะอย่างไรโรงเรียนเล็กๆ โรงเรียนในต่างจังหวัด โรงเรียนระดับอำเภอ ระดับตำบล ซึ่งมีโอกาสคัดเลือกเด็กเก่งๆ มาเรียนได้น้อย หรือแทบไม่มีโอกาสได้คัด ยังไงคะแนนสอบไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตาอยู่แล้ว เมื่อเป็นดังนี้การใช้ข้อสอบกลางวัดผลการสอบก็ไม่เกิดผลอะไรสักเท่าไร เพราะบางครั้งครูผู้สอนต้องยอมจำนนเหมือนกันว่าทำเต็มที่แล้ว เด็กก็ยังได้คะแนนแค่นี้

แต่สิ่งที่จะตามมาคือ ความเครียดในการจัดการเรียนการสอน ทำให้เกิดการเร่งรัดติวกันอย่างขนานใหญ่ในโรงเรียน ตัวอย่างเห็นได้จากปีการศึกษาที่ผ่านมาโรงเรียนจำนวนมาก จ่ายเงินจ้างครูมากวดวิชาในโรงเรียน แค่ระดับชั้น ม.3 กับ ม.6 ระดับชั้นละสัปดาห์ บางโรงเรียนหมดเงินเป็นแสน ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรนำมาใช้พัฒนาคุณภาพนักเรียนด้านอื่นๆ มากกว่าพัฒนาเทคนิคการทำข้อสอบ

บางโรงเรียนกวดวิชาแล้วโชคดีคะแนนโอ เน็ตสูงขึ้น กลายเป็นความดีความชอบของโรงเรียนกวดวิชาที่มาติวข้อสอบร้อยกว่าข้อต่อวิชา ใน 1 วัน ขณะที่ครูสอนมาทั้งปีหาความดีความชอบไม่ได้ ทั้งที่หากเด็กไม่มีความรู้พื้นฐานมาจากการเรียนในห้องเรียนก่อน ครูโรงเรียนกวดวิชาคงไม่สามารถสอนแบบเร่งรัดเจาะลึกได้

ที่สำคัญคือ การใช้ข้อสอบกลางจะยิ่งทำให้กระบวนการเรียนการสอนผิดเพี้ยน เพราะแต่ละโรงเรียนคงมุ่งเน้นไปที่การสอนเพื่อทำข้อสอบ มากกว่าสอนตามกระบวนการที่ควรจะเป็น

ปีการศึกษา 2557 หากเริ่มใช้ข้อสอบกลางวัดผลทั่วประเทศ สิ่งที่จะเติบโตตามมาคือ ความร่ำรวยของโรงเรียนกวดวิชา เพราะอย่างไรพ่อแม่ที่ไม่มั่นใจว่าลูกจะสามารถทำข้อสอบส่วนกลางได้ดีมากน้อย เพียงใด ก็คงต้องส่งลูกไปเรียนกวดวิชา

ขณะที่เด็กอีกจำนวนไม่น้อยไม่มีปัญญาที่จะไปเรียนกวดวิชา ก็คงมีความมั่นใจในการทำข้อสอบน้อยลง เพราะโดยปกติข้อสอบที่ออกโดยครูผู้สอนที่พยายามออกข้อสอบให้ยากง่ายปนกัน เด็กเหล่านี้ยังทำไม่ค่อยจะได้ แล้วข้อสอบกลางที่คนออกนั่งอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้ออกอาจใช้จินตนาการจากการตีความจากตัวชี้วัดของกลุ่มสาระวิชาว่า เด็กควรจะรู้อะไร แต่ไม่เคยรับรู้ว่าเด็กที่จะทำข้อสอบเป็นใคร มีความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างไร มีพื้นฐานความรู้เป็นอย่างไร แล้วเด็กจะทำข้อสอบได้มากน้อยเพียงใด

ข้อสอบกลางแบบนี้ควรจะใช้วัด กับการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน ตราบใดที่โรงเรียนในประเทศไทย คุณภาพการจัดการศึกษายังมีความแตกต่างกันเช่นนี้ การใช้ข้อสอบกลางมาชี้วัดคุณภาพการศึกษา มาประเมินการสอบผ่านหรือไม่นั้นยังเป็นปัญหา

อีกทั้งการวัดผลด้วยข้อสอบกลางต้องใช้งบประมาณในการออกข้อสอบ การจัดสอบเท่าไร เมื่อถึงขั้นตอนการสอบคงต้องวุ่นวายกันทั้งประเทศ ทั้งต้องจัดสอบพร้อมกัน ต้องสลับกันคุมสอบระหว่างโรงเรียนต่างๆ ด้วยเหตุที่ไม่ไว้ใจครู เกรงว่าครูจะบอกข้อสอบ ทุกอย่างในประเทศ แค่จะวัดว่าสิ่งที่ครูได้สอบไปโดยอิงมาตรฐาน ตัวชี้วัดรายวิชา เด็กพัฒนามากน้อยเพียงใด ก็วุ่นวายกันขนาดนี้

เหตุผลที่ต้องใช้ข้อสอบกลางคืออะไร เพื่อให้โรงเรียนมีมาตรฐาน เพื่อให้เด็กได้มาตรฐาน แต่ปัญหาคือ ข้อสอบกลางที่จะวัดนี้จะมีมาตรฐานหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ ขนาดข้อสอบโอเน็ตที่ใช้สอบมาแล้วไม่รู้กี่ปี ยังถูกตั้งคำถามถึงความมีมาตรฐานไม่เว้นแต่ละปี

คำถามที่สำคัญคือ เมื่อผลการทดสอบด้วยข้อสอบกลางออกมาแล้วปรากฏว่านักเรีรยนทั่วประเทศทำคะแนน ได้น้อยไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แล้วยังไงต่อ? แค่วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยแย่ ครูสอนไม่ดีแล้วก็จบ? เพราะอย่างไรผลก็ต้องออกมาทำนองนี้อยู่แล้ว ดูได้จากผลการสอบโอเน็ตในชั้น ป.6 ชั้น ม.3 และชั้น ม.6 ก็ได้

ควรที่จะคิดหาวิธีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่ามาเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดสอบ และส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการเร่งให้เกิดการเรียนกวดวิชามากยิ่งขึ้น แล้วคิดว่าการศึกษาจะพัฒนาได้จริง?

โจทย์ปัญหาการศึกษาไทยจริงๆ ที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องคิดเรื่องการตกซ้ำชั้น การใช้ข้อสอบกลางเพื่อวัดผลทางการศึกษาคืออะไรกันแน่ ใช่ความไม่มั่นใจในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือเปล่าที่ยังไม่ได้ มาตรฐาน

เมื่อมีการจัดอันดับทางการศึกษาครั้งใด ไม่ว่าหน่วยงานใดจะเป็นคนจัดอันดับก็ตาม อันดับการศึกษาของไทยอยู่ในลำดับรั้งท้ายอยู่เสมอ การแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กตกซ้ำชั้น จะทำให้เด็กส่วนหนึ่งหลุดออกจากวงจรการศึกษา

ส่วนการใช้ข้อสอบกลาง ผลคะแนนออกมาต่ำ ข้อสอบกลางก็แค่ส่งสัญญาณให้โรงเรียนรู้ หรือถ้าข้อสอบกลางไม่ได้มีความสามารถชี้วัดคุณภาพการศึกษาได้จริง เท่ากับว่าเสียเวลาไปกับการทดลองด้านการศึกษาไปอีก 1 เรื่อง ที่เสียทั้งเวลาและงบประมาณไปเปล่าๆ

โจทย์ปัญหาด้านการศึกษาที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้คือ ทำอย่างไรการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนในประเทศนี้จึงจะก้าวหน้าไปกว่านี้ ทำอย่างไรจะทำให้เด็กเห็นว่าการเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ซึ่งจะทำให้มุ่งมั่นในการเรียนมากขึ้น

สิ่งสำคัญยิ่งกว่านโยบายตกซ้ำ ชั้น และการวัดผลด้วยข้อสอบกลางคือ การพัฒนากระบวนการผลิตครู การปฏิรูปการเรียนปรับเปลี่ยนการสอน และการปฏิรูปครูให้มีคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้แล้ว ทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย แต่ปัญหาคือ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวนโยบายที่จะพัฒนาครู ทำให้ครูมุ่งมั่น ทุ่มเทพลังเพื่อจัดการเรียนการสอนให้เต็มที่อย่างมีความสุขได้อย่างไร?

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook