อาชีวะ "เก่งเว่อร์" จ่อเกียรตินิยม เตือน 19 สถาบันทบทวนให้เกรด
ห่วง 38 วิทยาลัยอาชีวะให้เกรด น.ศ.ปริญญาตรีได้เกรดเอเพียบ เลขาฯสอศ.แนะทบทวนให้ได้มาตรฐาน ชี้ปล่อยไว้มีแนวโน้มได้เกียรตินิยมถึง 90% หวั่นเป็นเหตุให้ไม่ผ่านประเมิน
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั่วประเทศ มีผู้บริหารสถานศึกษาประมาณ 800 คน ทั่วประเทศเข้าร่วม ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จ.ขอนแก่น ว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาเข้าสู่คุณภาพ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศของสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยี ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาในปัจจุบัน จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอศ.ได้วางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อาทิ เร่งผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เร่งผลักดันให้เกิดระบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น โดยอยากให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาไปศึกษารูปแบบการจัดการเรียนสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่างประเทศที่ สอศ.มีความร่วมมือกันอยู่ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยอยากให้ผู้บริหารทุกคนขับเคลื่อนงานในการพัฒนาอาชีวศึกษาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป
"นโยบายหรือประกาศจาก ศธ.ขอให้ผู้บริหารทุกคนได้นำไปปรับใช้ พร้อมกำหนดเป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ต้องมุ่งเน้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ขอฝากให้ผู้บริหารทุกคนคิดโครงการหรือวางแผนการพัฒนาสถานศึกษาตั้งแต่ปิดภาคเรียน ไม่อยากให้วางแผนการทำงานช่วงเปิดภาคเรียน เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการบริหารงาน เชื่อมั่นว่าหากผู้บริหารทุกคนทำให้อาชีวศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลง จะพัฒนาศักยภาพผู้เรียนและเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพ" นายจาตุรนต์กล่าว
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่านักศึกษาที่เรียนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการกับสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง จาก 38 วิทยาลัย มีผลการเรียนออกมาดีมากๆ ส่วนใหญ่ได้เกรดเอกันเป็นจำนวนมาก ไม่มีใครได้ต่ำกว่าเกรดบี และหากเป็นแบบนี้จะมีนักศึกษาประมาณ 90% ได้เกียรตินิยมแน่นอน ซึ่งหากตัดเกรดออกมาเช่นนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะจริงๆ แล้วการที่นักศึกษาจะได้เกียรตินิยมค่อนข้างยาก ดังนั้น อยากให้ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาและสภาสถาบันการอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง ไปดูเรื่องการให้เกรดด้วย แม้จะระบุว่าผลการเรียนที่ออกมาเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่เป็นผลดีต่อสถาบันการอาชีวศึกษาอย่างแน่นอน และหากมีการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกในปี 2559 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เชื่อว่าอนาคตค่อนข้างจะเหนื่อย และอาจไม่ผ่านการประเมินได้ ซึ่งการให้เกรดถือว่าสำคัญมากๆ ต้องให้ความสำคัญและมีมาตรฐาน
"สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สอศ.จะไปดูหลักเกณฑ์การให้เกียรตินิยมเพื่อให้มีมาตรฐาน โดยอาจต้องยึดแนวทางของมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยทั่วไป เช่น ผู้ที่ได้ผลการเรียนรายวิชาไม่ผ่าน หรือได้ผลการเรียนระดับซีลงมา จะไม่ได้เกียรตินิยม รวมทั้งผู้ที่ลงเรียนในภาคฤดูร้อนด้วย" นายชัยพฤกษ์กล่าว
นายพฒศ์ศิวพิศ โนรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคใต้ กล่าวว่า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้เปิดสอนระดับปริญญาตรีมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 มีนักศึกษา 69 คน ในสาขาเทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีไฟฟ้า เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ จากการตรวจสอบผลการเรียนของนักศึกษามีความหลากหลาย มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 2.5 ไปจนถึง 3 กว่าๆ และการตัดเกรดของอาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา ไม่ได้ให้เกรดเอและบี แต่มีทุกเกรด ซึ่งการวัดและประเมินผลของสถาบันจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสถานศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะแต่ละปีการศึกษาจะรับนักศึกษาเข้าเรียนอย่างจำกัด ไม่ได้เน้นปริมาณ เพราะไม่ได้ทำเป็นธุรกิจการศึกษา
"เป็นไปได้ว่ารายวิชาที่นักศึกษาได้เกรดเอและบีเยอะ น่าจะเป็นวิชาฝึกปฏิบัติงาน เนื่องจากเด็กที่มาเรียนจบ ปวส.มาก่อน และจะมีความเชี่ยวชาญในการฝึกปฏิบัติงาน" นายพฒศ์ศิวพิศกล่าว
นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.) นครราชสีมา ในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานผู้ประสานงานสถาบันการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วอศ.นครราชสีมา อยู่ในกลุ่มสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จะเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 หากดูการวัดผลประเมินจะมีเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คะแนนจะแยกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มาตัดเกรด อาจเป็นไปได้ว่านักศึกษาที่เรียนจะได้เกรดเอกันมาก แต่จะได้เกรดเอทุกคนคงไม่ได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าต้องมีคณะกรรมการควบคุมประจำหลักสูตรที่ควบคุมดูแลการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลด้วย ส่วนการให้เกียรตินิยมนักศึกษาจะมีระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ พ.ศ.2556
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาที่เข้าเรียนในสถาบันการอาชีวศึกษาในระดับปริญญาตรี 684 คน จาก 38 วิทยาลัย และในปีการศึกษา 2557 สอศ.ตั้งเป้ารับนักศึกษาเพิ่มประมาณ 2,600 คน
ที่มา : นสพ.มติชน