ตั้งเป้า! ปี 57 นี้ เด็กไทย "ไอคิว" ต้องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า100
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกต์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายและแนวทางการดำเนินงานเด็กปฐมวัย" จัดโดย สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยของกรมสุขภาพจิต ปี 2555 พบว่า มีพัฒนาการล่าช้าสูงถึง 30% แต่ 20% เป็นกลุ่มที่หากได้รับการกระตุ้นอย่างทันท่วงที จะพัฒนาให้กลับมามีพัฒนาการที่สมวัยได้ และอีก 10% อยู่ในภาวะโรคที่ต้องได้รับการรักษา
ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทย อายุ 6-15 ปี ทั่วประเทศ ในปี 2554 พบเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยของระดับเชาว์ปัญญา (IQ) เพียง 98.59 ซึ่งค่อนไปทางต่ำกว่าค่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน (IQ = 100) แต่หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ พบถึงร้อยละ 48.5% และกลุ่มเด็กที่อยู่ในระดับสติปัญญาบกพร่อง สูงถึง 6.5% ซึ่งตามมาตรฐานสากล ไม่ควรจะเกิน 2% ดังนั้น การที่เด็กไทยกว่า 50% มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง ดังนั้น สธ.เตรียมดำเนินการดังนี้ 1.ระดับประเทศ เด็กไทยต้องมีความฉลาดทางสติปัญญาเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100 2.ระดับกระทรวง เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) มีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 3.ระดับกรม เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ที่มีพัฒนาการไม่สมวัย และเด็กปฐมวัย (3-5 ปี) ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาอีคิวได้รับการส่งต่อเพื่อดูแลต่อเนื่องตามเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ 80 และ 4.ระดับเขตบริการสุขภาพ คลินิกฝากครรภ์ (ANC) คลินิกสุขภาพ (WCC) ร้อยละของการให้บริการต้องมีคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (DCC) ต้องมีคุณภาพระดับดี และดีมากไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ดังนั้น ปี 2557 กรมจะขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อตัวชี้วัดระดับกรมและระดับกระทรวงเพื่อเด็ก