ผลสำรวจทุจริตในสังคมไทย
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาการทุจริตในสังคมไทย
โดย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักวิจัย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในสังคมไทย จำนวน 1,270 คน กลุ่มตัวอย่างเป็นชายร้อยละ 57.1 และหญิงร้อยละ 42.9 ร้อยละ 32.2 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี และมีอายุ 31-40 ปี ร้อยละ 25.1 สถานภาพสมรสร้อยละ 56.6 และสถานภาพโสดร้อยละ 30.2 ร้อยละ 83.7 นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด และร้อยละ 11.7 นับถือศาสนาคริสต์ ระดับการศึกษาปวช. มากที่สุด ร้อยละ 25.1 และรองลงมาเป็นระดับปวส. ร้อยละ 23.9 ร้อยละ 34.5เป็นเจ้าของกิจการ/ค้าขาย/มีธุรกิจส่วนตัว และร้อยละ 20.4 เป็นพนักงานบริษัท
กลุ่มตัวอย่างของประชาชนใน 4 จังหวัด ร้อยละ 94.2 เห็นว่าสถานการณ์ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยยังมีความรุนแรงมากถึงมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.8 เห็นว่า ปัญหาการทุจริตในสังคมไทยเกิดขึ้นในหน่วยงานราชการมีการทุจริตมากที่สุด ร้อยละ 50.3 เห็นว่ามีการทุจริตในองค์กรการเมืองระดับประเทศ และร้อยละ 33.6 เห็นว่ามีการทุจริต เกิดขึ้นในองค์กรการเมืองระดับท้องถิ่น
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 69.6 เห็นว่าพฤติกรรมการทุจริต ได้แก่ การยักยอกเงิน โกงเงินหรือสิ่งของ เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ร้อยละ 44.7 มีความเห็นว่า การเอื้อประโยชน์ต่อญาติและเพื่อนพ้อง และร้อยละ 40.9 เห็นว่า การให้เงิน ติดสินบน เป็นพฤติกรรมทุจริต
กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 67.4 รับทราบข่าวการทุจริตจากสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ และร้อยละ 42.0 พบปัญหาการทุจริตในชุมชนที่อยู่อาศัย
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.1 เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ทุจริต เนื่องจากความโลภ ร้อยละ 52.0 เห็นว่า การทุจริต เกิดจากช่องว่างของกฎหมายหรือระเบียบเปิดโอกาสให้ทุจริต ส่วนร้อยละ 33.9 เห็นว่าการทุจริตเกิดจากความไม่เข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมาย/กฎระเบียบ
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.5 เห็นว่าการเปิดเผยการกระทำทุจริตมีผลดี เนื่องจากผู้ทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย ร้อยละ 43.1 เห็นว่าการเปิดเผยการทุจริตจะช่วยให้สามารถหาทางแก้ปัญหาการทุจริตให้ดีขึ้น
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.8 เห็นว่า การทุจริตทำให้เกิดภาพพจน์ด้านลบของประเทศ รองลงมาร้อยละ 42.2 เห็นว่าผลกระทบของการทุจริตคือสูญเสียเงิน/ทรัพย์สิน
กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 74.3 เห็นว่าการทุจริตในสังคมไทยสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมากถึงมากที่สุดร้อยละ 28.8 เห็นว่านโยบายการแก้ปัญาการกระทำทุจริตในสังคมไทยของภาครัฐ มีความจริงจังพอใช้ ร้อยละ 22.7 เห็นว่าประสิทธิภาพการแก้ปัญหาการกระทำทุจริตในสังคมไทยของภาครัฐอยู่ในระดับพอใช้
เพื่อลดปัญหาการทุจริต กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.4 เห็นว่า ควรปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 48.7 เห็นว่าควรยกย่อง/ให้รางวัลส่งเสริมผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีมีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม
ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันยังพบเห็นอยู่ในสังคมไทย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม โดยเน้นการส่งเสริมให้ผู้บริหารองค์กรใช้อำนาจและหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนตามหลักธรรมาภิบาล ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้ปฏิบัติงานในองค์กรก็จะต้อง ปฏิบัติงานตามหลักธรรมมาภิบาลด้วยเช่นกัน ในส่วนของเยาวชนควรได้รับการปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการดำรงตนตามหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และผู้กําหนดนโยบายการดําเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผู้ที่จะนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติ จะต้องทำการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนที่จะให้คนอื่นปฏิบัติ คอรัปชั่นจึงจะหมดไปจากสังคมไทยของเรา