ควันหลง... "2 ล้านล้าน" วัยรุ่น ถาม-รมต.แข็งแกร่ง ตอบ !!!

ควันหลง... "2 ล้านล้าน" วัยรุ่น ถาม-รมต.แข็งแกร่ง ตอบ !!!

ควันหลง... "2 ล้านล้าน" วัยรุ่น ถาม-รมต.แข็งแกร่ง ตอบ !!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เห็นเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ตลอดจนได้มีโอกาสนำเสนอไปแล้วในพื้นที่นี้

กับเรื่องราวที่บรรดานิสิต-นักศึกษา ในนามกลุ่ม "สภาหน้าโดม" ภายใต้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนจากกลุ่ม "นิวคัลเจอร์" (บรรดานักกิจกรรมที่จบไปพอมีเงินทองช่วยเหลือเจือจุน) จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีชื่อกิจกรรมว่า "Train with ชัชชาติ" หรือชื่อแปลเป็นภาษาไทยได้ง่ายๆ ว่า "รถไฟกับชัชชาติ"

คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยประกาศรับสมัครผู้สนใจ ก่อนจะชวนนั่ง "รถไฟ" จากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปลงที่สถานีรถไฟ อ.หนองแซง จ.สระบุรี แล้วทัศนศึกษาร่วมกันเรียนรู้วิถีชีวิต วิถีชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

หากแต่ช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นการเปิดเวทีเพื่อให้นักศึกษาได้ระดม "ถาม" ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ "โครงการ 2 ล้านล้าน" น่าสนใจและควรนำมาเผยแพร่ให้ได้รับทราบเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะหลังจากที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีคำวินิจฉัยว่า โครงการนี้ขัดรัฐธรรมนูญ จนทำให้ความฝันของผู้คนมากมายที่จะได้นั่งรถไฟความเร็วสูง ล่มสลายหายไปตามระเบียบองค์กรอิสระ

หรือต้องรอวันที่ "ถนนลูกรัง" หมดไปจากประเทศไทยจริงๆ

และนี่คือ คำถามจาก "วัยรุ่น" อนาคตของชาติ

และนี่คือ คำตอบจาก "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"

ฟังกันอีกครั้ง...เวทีนี้ เกิดก่อนการ "แท้ง" ของกฎหมาย "2 ล้านล้าน" ไม่กี่วัน

ความเปลี่ยนแปลงเมืองเติบโต

เริ่มต้นการเสวนา นิสิต-นักศึกษาหยิบยกสิ่งใกล้ตัวมาเป็นหัวข้อพูดคุย ยิงคำถามทันทีว่า "สมมุติรถไฟความเร็วสูงถึง อ.หนองแซง ที่เราอยู่วันนี้ จะเปลี่ยนไปอย่างไร?"

ชัชชาติ อธิบายให้ฟังว่า ระบบที่ผ่าน อ.หนองแซง จะมีอยู่ 2 ระบบคือ 1.รถไฟความเร็วสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่จอดอำเภอแห่งนี้ เพราะจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อย่างมากก็ไม่เกิน 12 สถานี แต่อย่างน้อยก็จะช่วยขนคนมาสู่ระบบที่ 2.คือรถไฟรางคู่ ใช้รถไฟธรรมดาเป็นตัวกระจายคน

"รถไฟเป็นเครื่องมือ เราจะต้องวางแผน ต้องทำให้ชุมชนรู้ มีการเตรียมล่วงหน้า มีการวางผังเมืองรองรับ อนาคตจะเปลี่ยนไปถ้ารถไฟความเร็วสูงสำเร็จจริง แต่ก่อนคนหันหลังให้รถไฟ เห็นเป็นสิ่งน่ารังเกียจ แต่ในอนาคต เมืองจะต้องไปโอบกอดสถานีรถไฟไว้ เพราะรอบๆ สถานีรถไฟจะเป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งการค้า มหาวิทยาลัย สาธารณะ ผังเมืองจะต้องต่างไป"

ก่อนจะได้รับคำถามติดตลกเข้าสถานการณ์ว่า "ถ้าเกิดสถานีรถไฟถูกม็อบปิด จะทำอย่างไร?"

ชัชชาติขีดเส้นใต้ตัวหนาทันที "นี่คือความสำคัญของการกระจายความเจริญ"

ก่อนจะอธิบายว่า ปัจจุบันความเจริญรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ ฉะนั้น พอกรุงเทพฯมีปัญหา ก็เหมือนกับเส้นเลือดตีบไปทั้งประเทศ แต่ถ้าสามารถกระจายความเจริญตามเมืองใหญ่ต่างๆ ได้ มีม็อบปิด ก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องสนใจ ก็เพียงแค่ย้ายที่ไปอยู่ที่อื่น

พูดถึงความเร็วในการเดินทาง ทำให้มีผู้ถามว่า "นั่งเครื่องบินราคาต่ำ (low cost) จะดีกว่าไหม ไม่ต้องตามใช้หนี้ต่อไปด้วย?"

ชัชชาติ ชวนคิดกลับว่า ถ้าบินไป จ.เชียงใหม่ แล้วเราแวะพิษณุโลกได้ไหม นครสวรรค์ได้ไหม? ก่อนที่จะอธิบายว่า เครื่องบินนั้นบินข้ามไปหมด ไม่สร้างความเจริญให้ระหว่างทางที่ผ่านไป และอีกเรื่องหนึ่งคือ คำว่า "โลว์คอสต์" อยู่ได้ด้วยน้ำมันไม่แพง แต่ถ้าอนาคตน้ำมันแพง จะเป็นอย่างไร เพราะเครื่องบินแบกน้ำมันไว้กับตัว แต่รถไฟความเร็วสูงใช้วิธีแตะสายไฟไป

จึงช่วยประหยัดทั้งพลังงานและมลพิษต่ำกว่ามาก


"2 ล้านล้าน" วาทกรรม "โกง"

ย้อนกลับไปเมื่อเริ่มมีการคิดโครงการนี้ จนในที่สุดก็มีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว

สิ่งหนึ่งที่ฝ่าย "คัดค้าน" ชี้นิ้วพุ่งเข้าหาก็คือเรื่อง "ความโปร่งใส" ของโครงการ โดยเฉพาะกับคำว่า "โกง" ที่เหมือนจะเป็นตราประทับที่ถูกตอกตรึงในทันที

คำถามของบรรดานักศึกษาหนุ่มสาว ก็พุ่งเป้าให้ ชัชชาติเคลียร์เรื่องนี้ "ระบบการตรวจสอบการใช้เงิน คำว่าโกงที่คนเป็นห่วง?"

ชัชชาติ ยิ้มก่อนเริ่มอธิบาย โดยพูดถึงโครงการใหญ่ระดับที่เรียกว่า "เมกะโปรเจ็กต์" ที่ดูแลอยู่ที่ผ่านมาก็ใช้เงินกู้เหมือนกัน แต่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ซึ่งการกู้ด้วยวิธีนี้ไม่ต้องเข้าสภา รัฐบาลเพียงอนุมัติก็ใช้เงินได้เลย อย่างรถไฟสายสีแดงมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

"ถามว่า โครงการ 2 ล้านล้าน เราเอามาแบให้ดูทุกโครงการเลย มีการถกเถียง มีการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบ เข้มข้นยิ่งกว่าที่ทำอยู่อีก ดังนั้น ที่บอกว่า 2 ล้านล้าน จะมีการโกง จึงเป็น ?วาทกรรม? เพราะการตรวจสอบนี้เข้มข้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ อีกทั้ง ยังมีองค์กรตรวจสอบต่างๆ อยู่อีกเพียบ

"เราพยายามอธิบาย พยายามสื่อสารเรื่องนี้ ผมพูดทั้งในและต่างประเทศกว่า 84 ครั้ง เพื่ออธิบายให้คนเข้าใจ ไม่เบื่อ ต้องชี้แจง เป็นหน้าที่คนฟังคือคนกลุ่มใหม่ เสียเวลามาฟังเราพูด ก็ยินดีที่จะพูด แต่ที่เจอคือเรื่องของอคติ เขาจะตั้งกำแพงล้อมก่อน ยังไม่ทันอ้าปากเลยก็บอกว่าโกง" ชัชชาติกล่าว และบอกว่า อยากให้ผู้คนใช้สติและเหตุผลพิจารณากันเป็นเรื่องๆ ไม่อยากให้เหมารวม รักกลุ่มนี้ก็เชื่อทุกอย่าง ไม่รักกลุ่มนี้ก็ไม่ชอบทุกอย่าง

คำถามถัดมาคือ "ความคุ้มค่าของโครงการ?"

ชัชชาติ อธิบายว่า ภายใต้วงเงิน 2 ล้านล้าน ระยะเวลา 7 ปี ทั้ง 53 โครงการ มีการคำนวณผลตอบแทนทั้งหมด โดยสรุปคือทุก 100 บาทที่ลงทุนไปต้องคืนมา 112 บาท ในแง่ของเศรษฐกิจแล้วถือว่ามีค่าตอบแทน เทียบง่ายๆ 53 โครงการที่ลงไป แค่ค่าน้ำมันอย่างเดียวจะประหยัดปีละ 1 แสนล้าน ซึ่ง 20 ปีก็ได้ 2 ล้านล้าน

แล้วยังไม่รวมค่าชีวิตที่เราเสียปีละ 1 หมื่นคน ค่ามลพิษต่างๆ เรื่องเวลาที่เร็วขึ้น เรื่องการพัฒนาเมือง การกระจายรายได้ การสร้างเมืองใหม่ ผลตอบแทนทางภาษีทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล

"มันคือเครื่องมือที่จะใช้พัฒนา อย่างที่บอก คือเราไม่ได้มั่ว เรามีตัวเลข มีหลักการคำนวณ ทั้ง 53 โครงการ มีผลตอบแทนชัดเจน"

ทศวรรษที่สูญหายของ "ประเทศไทย"

ถึงวันนี้ชะตากรรม ร่างกฎหมาย "2 ล้านล้าน" ก็อย่างที่ทุกคนทราบ คือถูก "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ การหาเงินมาดำเนินโครงการด้วยวิธีนี้จึงตกไป

ซึ่งนิสิต-นักศึกษา ถามไว้ก่อนหน้านั้น เหมือนจะพอคาดเดาไว้ก่อนแล้ว

คนหนึ่งถามว่า "ถ้าพระราชบัญญัติไม่ผ่าน เราจะเสียอะไรไปบ้าง?"

ชัชชาติ เริ่มอธิบายด้วยเรื่อง "ชื่อ" ว่า พ.ร.บ. นี้ตั้งชื่อผิดพลาด น่าจะเป็นชื่ออื่น ไม่ควรจะไปเรียกว่า 2 ล้านล้าน เพราะทำให้คนเกิดความตกใจ เห็นเป็นเงินมหาศาล น่าจะเป็นชื่อ พ.ร.บ.อนาคตประเทศ เป็นต้น ทั้งที่จำนวนเงินนี้ไม่เยอะ เพราะเป็นงบประมาณที่ต้องดำเนินการ 7 ปี และนี่คือหัวใจสำคัญ...

ต้องทำ 53 โครงการ ใน พ.ร.บ.นี้ต้องเสร็จภายใน 7 ปี

"2 ล้านล้าน ถามว่าเกินตัวมั้ย? นี่ ไม่ได้มาจากการคิดเอาเอง แต่มาจากกรอบหนี้จาก GDP คำนวณแล้วว่า มีความสามารถในการใช้เงิน หนี้ดัชนีไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องปกติ แล้วข้อสำคัญ คือ เป็นกฎหมายที่เราไฟแนนซ์โครงการ ถ้าเราไฟแนนซ์ด้วยเงินกู้ภายในประเทศไม่มีรายการเรื่องการเเลกเปลี่ยน แล้วเงินดอกเบี้ยที่จ่ายไปก็คือดอกเบี้ยที่จะเอาไปใช้จ่ายภายในประเทศ

"ต่างจากกรณี IMF ตอนสมัยก่อนเราจะใช้เงินกู้จำนวนมากจากต่างประเทศ พอมีปัญหาเขาเรียกเงินคืนเสร็จ อัตราแลกเปลี่ยนตก หนี้ก็เพิ่มเป็น 4 เท่า แต่การกู้ในประเทศจะไม่มีความเสี่ยงมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้น 2 ล้านล้าน จึงอยู่ในกรอบที่เราสามารถบริหารได้" ชัชชาติกล่าว

คำถามต่อมาคือ "เงินกู้มหาศาลนี้จะทำให้เป็นหนี้ยันลูกหลาน?"

ชัชชาติ บอกว่า หนี้นั้นเป็นทุกโครงการอยู่แล้ว แต่โครงการอื่นไม่บอกว่าใช้กี่ปี ต่างจากโครงการนี้ที่บอกก่อนชัดเจน อย่างโครงการไทยเข้มแข็ง หนี้ 4 แสนล้าน ก็ต้องจ่ายคืนเหมือนกัน การเป็นหนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดา

หัวใจสำคัญคือ เงิน 2 ล้านล้านถ้าไม่เป็นหนี้ ไม่กู้มาทำโครงการ คิดว่าใน 7 ปีนี้ก็ใช้เงินจำนวนนี้หมดเหมือนกันในโครงการอีกมากมาย สุดท้ายไม่มีอะไรเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน

"แต่ว่าพอเราจองเงินตรงนี้ หัวใจตรงนี้ จะเปรียบเทียบว่าคือบ้านที่ต้องผ่อน ฉะนั้น การจะไปเที่ยวเตร่ กินอาหารฟุ่มเฟือยก็จะลดลง เพราะเรามีภาระสำคัญ คือโครงสร้างพื้นฐาน... แต่ถ้าเราไม่ซื้อบ้าน เช่าแฟลตอยู่ เราก็จะเอาเงินนั้นไปเที่ยว เตร็ดเตร่ สุดท้ายใน 7 ปีก็ไม่มีเงินเหลือ แล้วก็ไม่มีบ้านอยู่ด้วย"

เป็นการเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพของรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

"ผมพูดเสมอว่านี่ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลแต่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติอย่างรถไฟความเร็วสูง ไม่มีทางทำเสร็จในรัฐบาลเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลหน้าด้วย พ.ร.บ.นี้เป็นแค่วิธีไฟแนนซ์โครงการ โดยการกู้ แต่ไม่ได้หมายความว่า โครงการนี้จะไม่ทำ ต้องหาช่องทางอื่น วิธีอื่นต่อไป"

ถึงนาทีนี้ ให้คิดถึงที่ ชัชชาติ เคยโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว คำว่า "ทศวรรษที่สูญหาย"

ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

นํากลับมาให้อ่านอีกครั้งสำหรับคำคม"ทศวรรษที่สูญหาย" ของชัชชาติ

ตอนหนึ่งว่า...

"ตั้งแต่ประมาณปี 2548 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การประท้วงรัฐบาล การปฏิวัติ การชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง การเกิดมหาอุทกภัย โดยอาจสรุปได้สั้นๆ ดังนี้ รัฐประหาร 1 ครั้ง 7 รัฐบาล+1 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ 7 พรรคการเมืองถูกยุบ 1 มหาอุทกภัย ผู้เสียชีวิต 933 ราย (น้ำท่วมและความไม่สงบทางการเมือง) ผู้บาดเจ็บ 2,200 ราย และความเสียหายมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

"จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้สูญเสียเวลาที่มีค่าไปเกือบสิบปี จึงขอเรียกว่าเป็น ทศวรรษที่หายไป (The Lost Decade) ซึ่งในช่วงนี้ประเทศแทบไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหลังจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเลย

"ส่วนตัวคงไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครผิด ใครถูก คงต้องให้คนรุ่นต่อไปมองย้อนกลับมาวิเคราะห์กันอีกที

คงต้องดูกันต่อไปในระยะยาว...คนรุ่นใหม่ทราบแล้วเปลี่ยน


โดย เชตวัน เตือประโคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook