เร่งเครื่องคุณภาพการศึกษาไทย (จบ)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ปัญหาเด็กไทยยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปัญหาเด็กไทยยังขาดโอกาสทางการศึกษาและหลุดออกนอกระบบก่อนวัยอันควร และปัญหาการพัฒนาครูที่มีคุณภาพขึ้นมาทดแทนครูที่จะเกษียณหลายแสนตำแหน่ง และครูที่ยังขาดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากอีกหลายแสนอัตรา เป็น 3 ปัญหาสำคัญที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องหาทางออกที่เป็นรูปธรรมให้ได้ ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติอย่างประเมินค่ามิได้เมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
ดังนั้นหากหันกลับมามองดูทิศทางและแนวโน้มทางการศึกษาปี 2557 ในประเทศไทย ภายใต้กระแสการปฏิรูประบบการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้นนั้น จะพบว่าหลายประเด็นข้างต้นได้มีการพูดถึงและพอจะมีต้นทุนในการดำเนินนโยบายอยู่บ้างแล้ว และสามารถทำได้ในเวลาไม่กี่ปี เพื่อให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในโค้งสุดท้ายก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้ ได้แก่
มุ่งแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของเด็กประถมศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยจากข้อมูลการสำรวจนักเรียนชั้น ป.3 และชั้น ป.6 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2556 ทั่วประเทศ จำนวน 1.6 ล้านคน พบว่ามีเด็กนักเรียนที่ยังต้องการการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้อีกกว่า 411,346 คน คิดเป็นกว่าร้อยละ 25 ของเด็กที่สำรวจทั้งหมด
จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ระบบการศึกษาไทยทราบแล้วว่ามีเด็กกี่คน เรียนอยู่ที่ใด ที่ต้องการการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้มากที่สุด ดังนั้นระบบย่อมสามารถทุ่มเททรัพยากรและประสบการณ์ในการพัฒนาทักษะดังกล่าวสู่เด็กกลุ่มนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดก่อนที่จะสามารถยกระดับทักษะการเรียนรู้ขั้นที่สูงขึ้นอย่างทักษะการคิดวิเคราะห์ให้แก่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้ในอนาคตต่อไป
มุ่งวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการพัฒนาครูที่มีคุณภาพขึ้นมาทดแทนครูที่จะเกษียณหลายแสนตำแหน่งและครูที่ยังขาดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากอีกหลายแสนอัตรา จากการสำรวจของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พบว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2556-2561 จะมีครูจำนวนกว่า 104,108 คนที่จะเกษียณอายุราชการ และยังไม่รวมครูอีกจำนวนมากที่จะเกษียณก่อนกำหนด
ด้วยเหตุนี้ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาครูที่มีคุณภาพมารองรับการเกษียณอายุของครูกว่า20-25% เหล่านี้ และเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนครูในระบบอีกจำนวนมากทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ เช่น ยังมีโรงเรียนจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลขาดครูครบชั้นและครบสาระวิชาที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพราะประสบการณ์จากทุกระบบการศึกษาในโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคุณภาพการศึกษาย่อมไม่มากไปกว่าคุณภาพครู
มุ่งสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกันจากการสำรวจของสถาบันรามจิตติในปี 2555 พบว่าปัจจุบันยังมีเด็กไทยวัยเรียนจำนวนกว่า 2-3 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รวมทั้งเด็กจำนวนกว่า 1-2 ล้านคนที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษาที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร
หากเด็กและเยาวชนกว่า5 ล้านคนเหล่านี้จะสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานของประชาคมอาเซียนได้ ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนวัยเรียนนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชากรวัยแรงงานของไทยทุกคนสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยทักษะอาชีพและทักษะชีวิตที่จำเป็นในการอยู่รอดและสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยั่งยืนสืบไป