การเลิกหลักสูตรอาชีวะระดับ ปวช.
คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล
ตามหลักสูตรการศึกษามีความเชื่อว่าคนเราสามารถฝึกทักษะความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน จากการเริ่มต้นเรียนเหมือน ๆ กัน
ในชั้นอนุบาลให้รู้จักสิ่งของต่าง ๆ และให้เข้าใจในการสื่อสารมากขึ้น จนกระทั่งวัยประถมก็จะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับหลักสูตรพื้นฐานให้อ่านออกเขียนได้ และเข้าใจ
ในวิชาคณิตศาสตร์รวมทั้งวิชาสังคมรอบ ๆ ตัว จนมาถึงชั้นมัธยมศึกษาที่จะเริ่มเน้นเนื้อหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
จนประมาณกลางทาง (ราวมัธยมศึกษาปีที่ 3)เราก็บอกว่าหากจะเรียนต่อสายสามัญก็เลือกเรียนต่อได้ แต่หากคิดว่าสายสามัญไม่ใช่แนวทางที่เราถนัดและชอบจะลองเลือกเรียนสายอาชีวะก็ได้
สายอาชีวะจะสอนให้เป็น "นักปฏิบัติ" และทำงานที่เป็นภาคสนามมากกว่าภาคทฤษฎี และหมวดวิชาการแบบสายสามัญศึกษาจึงมีนักเรียนหลายคนที่ไม่ชอบเรียนแบบภาคทฤษฎี และหมวดวิชาพวกนี้สนใจที่จะเลือกสายอาชีวะมากกว่า เพราะเข้าใจว่าจะสามารถเรียนรู้จากภาคปฏิบัติได้มากกว่าและสามารถเข้าใจได้ดีกว่า
จึงมีหลักสูตรอาชีวะระดับ ปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) และ ปวส. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) ที่นักเรียนเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วสามารถเลือกเรียนต่อได้ และเมื่อจบก็สามารถหางานในตลาดแรงงานที่ผู้ว่าจ้างต้องการจ้างผู้ที่มีทักษะด้านภาคสนามไปทำงานด้วยวุฒิการศึกษาระดับ ปวช.
คราวนี้เรามาดูว่า หลักสูตรที่ตั้งไว้ในอดีตกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร
ผมไม่แน่ใจว่า ในอดีตอาจสามารถจ้างเด็กนักเรียนที่จบชั้น ปวช.ที่มีอายุ 16-17 ปี หรือต่ำกว่านั้นเข้าทำงานในสถานที่ประกอบกิจการได้ แต่สมัยนั้นดูเหมือนว่าธุรกิจที่จะจ้างเด็กอายุค่อนข้างน้อย ด้วยว่าหลาย ๆ คนมีฐานะทางเศรษฐกิจจำเป็นที่จะต้องเริ่มหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว แต่หลายสิ่งในกระบวนการคิดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
กิจการต้องตอบโจทย์อื่น ๆ ในฐานะของค่านิยมในยุคปัจจุบัน ว่า การละเมิดแรงงานเด็กหรือการใช้แรงงานผู้เยาว์ทำให้เราต้องหลีกการจ้างแรงงานที่ยังถือว่าควรอยู่ในวัยเรียน เช่น 14-16 ปี และหากรัฐบาลกำหนดว่าเยาวชนไทยต้องสามารถรับการศึกษาที่รัฐเป็นผู้จัดให้เป็นเวลา 12 ปี เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานกับเยาวชนไทย อีกทั้งเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น
ในขณะที่พิจารณาว่า 12 ปีจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่ เช่น หากนับตั้งแต่อายุ 2 ปี ก็เท่ากับรัฐต้องให้การศึกษาจนถึงอายุ 14 ปี
หรือหากมองว่าตั้งแต่ 4 ปี ก็จะถึงอายุประมาณ 16 ปี นั่นหมายความว่า หลักสูตรอาชีวะระดับ ปวช.ก็น่าเป็นหลักสูตรที่รัฐดูแลค่าการศึกษาให้เยาวชนไทย แต่คราวนี้คำว่า เยาวชนไทยนี่สิ เลยทำให้คิดต่อว่า เมื่อเยาวชนหรือเรียกอีกว่า "วัยรุ่น" ในวัย 16-17 ปีนั้น พร้อมออกมาทำงานเยี่ยงคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้อายุเพียง 1 ปี
หรือ 2 ปีมีความแตกต่าง
คำตอบอาจเกี่ยวกับการรับรองฐานะความเป็นผู้มีสภาวะเป็น "ผู้ใหญ่" ที่ดูเหมือนว่าอายุ 18 ปี สามารถทำอะไรได้มากกว่า (แต่ไม่ทั้งหมดเท่ากับผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป) เช่น สามารถสอบใบขับขี่รถยนต์ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สามารถซื้อบุหรี่และสิ่งเสพติดที่รัฐบาลขายได้
อีกเรื่องคือการจ้างงานของผู้ประกอบกิจการที่ถือว่าถูกกฎหมายมากที่สุด คือ การจ้างบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
บริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่านั้นค่อนข้างยุ่งยากและดูเหมือนสังคมประชาคมโลกไม่ยอมรับ การที่กิจการจ้างคนที่มีอายุน้อยกว่า 17 ปีทำงานแบบเต็มเวลาในกิจการหลาย ๆกิจการ คนที่มีอายุราว 15-17 ปี มักจะเข้าไปรับการฝึกงานหรือเป็นลูกจ้างชั่วคราว เช่น ช่วงปิดภาคเรียน เป็นต้น
ประเด็นของผมคือว่า หลักสูตร ปวช.ที่เราเคยมีมาจากในอดีตนั้น ในกาลเวลาก่อนนี้อาจเป็นเรื่องที่สังคมเคยยอมรับให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานแบบผู้ใหญ่ แต่มาถึงวันนี้อาจเป็นอีกมิติที่เราน่าจะส่งเสริมให้การศึกษาภาคปกติหรืออาจ
เรียกว่าภาคสามัญใหม่ให้ครบ 12 ปี และปรับหลักสูตรในสายสามัญของ 2-3 ปี (ช่วงอายุประมาณ 15-17 ปี) สุดท้ายให้มีวิชาเลือกสายอาชีวะรวมอยู่ด้วย
และเมื่อจบหลักสูตรสายสามัญใหม่ 12 ปีแล้ว ก็สามารถให้มีหลักสูตรอาชีวะสำหรับผู้ที่สนใจที่จะเรียนจะฝึกตามสายอาชีวะต่ออีก 2-3 ปี เพื่อให้พวกเขามีความชำนาญมากขึ้น และรับวุฒิ ปวส. (ใหม่) หรืออนุปริญญาบัตรสายอาชีวะ และหากเลือกศึกษาต่อในสายอุดมศึกษาอีก 4 ปี ก็สำเร็จด้วยปริญญาบัตรวุฒิปริญญาตรี เป็นต้น
ทั้งนี้ ระดับ ปวช.มีปัญหาทั้งอายุนักเรียนที่เรียนจบที่จะออกมาหางานเพราะอายุน้อย และความรู้ความสามารถระดับ ปวช.ก็ดูเหมือนไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งจะเปิดช่องว่างให้เกิดการใช้แรงงานผู้เยาว์อย่างไม่เป็นธรรมด้วย
ผมมีโอกาสไปร่วมทำงานในการวางแผน และเสนอนโยบายเกี่ยวกับหลักสูตรการสอนระดับอาชีวะ ก็ต้องถามเสมอว่าสมัยนี้จบ ปวช.เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงานและธุรกิจหรือครับ 50 ปีก่อนอาจจะพอ