ประวัติความเป็นมา โรงเรียนสตรีวิทยา 2

ประวัติความเป็นมา โรงเรียนสตรีวิทยา 2

ประวัติความเป็นมา โรงเรียนสตรีวิทยา 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนสตรีวิทยา ๒
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ เป็นนามพระราชทานอยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่เลขที่ ๒๙ ซอยสุคนธสวัสดิ์ ๓ ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ ฯ เป็นโรงเรียนมัธยมประเภทสหศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒

เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๖ นางสาวสุ่น พานิชเฮง มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๑๙ ไร่ ๓ งาน ๑๙ ตารางวา เพื่อสร้างเป็นโรงเรียนคุณหญิงบุญเจือ ไชยภัฏ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา ในขณะนั้นได้รับเรื่องจากกรมสามัญศึกษามาดำเนินการก่อตั้งเป็นโรงเรียน แห่งใหม่

ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คุณหญิงบุญเจือ ไชยภัฎ นางสาวสุ่น พานิชเฮง ดร.ก่อ สวัสดิพานิช (อธิบดีกรมสามัญศึกษา) กรรมการสตรีวิทยาสมาคมและนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อสนองพระราชดำริเรื่องการก่อตั้งโรงเรียนและมีพระเมตตาพระราชทานนามโรงเรียนว่า "สตรีวิทยา ๒" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นชาวสตรีวิทยา ๒ จึงถือว่าวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นวันที่สถาปนาโรงเรียนนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ต่อมานางหลง ไว้สาลี น้องสาวของนางสาวสุ่น พานิชเฮง ได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติมจำนวน ๒๔ ไร่ ๗๗ ตารางวา เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ คุณหญิงบุญเจือ ไชยภัฏ ได้นำนางหลง ไว้สาลี เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีน้อมเกล้า ฯ ถวายที่ดินดังกล่าว เพื่อขยายโรงเรียนให้กว้างขึ้นต่อมาคุณหญิงบุญเจือ ไชยภัฏ ได้ติดต่อขอเช่าที่ดินของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์เพิ่มเติมอีก ๓๖ ไร่ รวมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่จำนวน ๘๐ ไร่ ๔๕ ตารางวา ซึ่งขณะนั้นที่ดินเป็นทุ่งนา ทุรกันดาร ยังไม่มีไฟ้ฟ้าใช้ นางสมหมาย เอมสมบัติ ผู้บริหารโรงเรียนคนแรกเป็นผู้ติดต่อกับการไฟฟ้านครหลวงจนสามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนได้สำเร็จก่อนเปิดภาคเรียน

โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดสาครสุ่นประชาสรรค์ ซึ่งติดกับที่ตั้งโรงเรียนเป็นสถานที่ศึกษาชั่วคราว นางสมหมาย เอมสมบัติ เป็นผู้บริหารคนแรก มีนักเรียน ๒๗๗ คน ครู ๑๓ คน แบ่งเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ (มศ.๑) จำนวน ๕ ห้อง มัธยมศึกษาปีที่ ๔ (มศ.๔) จำนวน ๒ ห้อง สภาพของโรงเรียนในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ การคมนาคมสู่โรงเรียน
ยากลำบากถนนเป็นดิน ถ้ามีฝนตกรถจะไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนได้ ทั้งครู และนักเรียนต้องถอดรองเท้าเดินทางเข้าโรงเรียน จากสภาพดังกล่าว ทำให้การก่อสร้างโรงเรียนประสบความยากลำบากนานัปการแต่ก็สามารถสร้างอาคารกลุ่มแรก
จำนวน ๔ หลัง ได้สำเร็จลงในระยะเวลาเพียง ๑ ปี อาคารกลุ่มแรกตั้งอยู่ด้านหน้าโรงเรียนชื่อ "อาคารสมเด็จพระศรีนครินทร์"

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด "อาคารสมเด็จพระศรีนครินทร์" เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ และยังทรงพระเมตตาต่อชาวสตรีวิทยา ๒ ทรงปลูกต้นพิกุลที่เกาะหน้าอาคารสมเด็จพระศรีนครินทร์ ชาวสตรีวิทยา ๒ จึงน้อมนำดอกพิกุลไม้มหามงคลนี้เป็น ดอกไม้ประจำโรงเรียน การก่อสร้างโรงเรียนในกลุ่มที่ ๒ จำนวน ๔ หลัง แล้วเสร็จพ.ศ.๒๕๒๑ โรงเรียนได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนกลุ่มที่ ๒ นามว่า "อาคารวชิรา" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวสตรีวิทยา ๒ เป็นล้นพ้น

ในปีพ.ศ. ๒๕๒๔ โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขยายเต็มรูปแบบคือ รับนักเรียน ๖ ระดับ ๑๒ ห้องเรียน รวมเป็น ๗๒ ห้องเรียน จึงเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพมหานครทำให้มีงบประมาณแผ่นดิน และงบบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธามาสร้างอาคาร และสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย ได้แก่ อาคารนวราชชนนี อาคารหอสมุดนพ บุณยุปการ อาคารไขศรี ปราโมช อาคารคุณหญิงบุญเจือ ไชยภัฏ อาคารพลศึกษา อาคาร ๗ ชั้น ๒ หลัง อาคารฝึกงาน อาคารเฉลิมกระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา อาคารโอษธีศ สนามเทนนิส "จึงพานิช" นอกจากนี้ยังได้งบประมาณสร้างสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานให้นักเรียนว่ายน้ำออกกำลังกายเพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีและเป็นสถานที่แข่งขันว่ายน้ำนักเรียนระดับประเทศพิกุลแชมเปี้ยนชิพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๑ จนปัจจุบัน

ด้วยคุณภาพความรู้ และคุณธรรม โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงเป็นโรงเรียนผู้ปกครองปรารถนาจะส่งบุตรหลานเข้าเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๓๖ โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายรวม ๘๐ ห้องเรียน จำนวนนักเรียน ๓,๖๑๐ คน แต่ก็ยังมีผู้ประสงค์จะเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ของโรงเรียนมีถึง ๘๔ ไร่เศษ กรมสามัญศึกษาต้องการใช้ปัจจัยทั้งหมดให้คุ้มค่าโดยจะให้มีการเปิดสอนระดับละ ๒๐ ห้องเรียนรวมเป็น ๑๒๐ ห้องเรียน จึงให้แยกโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ เป็น ๒ โรงเรียน โรงเรียนที่ตั้งเพิ่มขึ้นใช้ชื่อ โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มัธยมศึกษาตอนต้น เปิดสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และส่งนักเรียนเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยา ๒

ปีพ.ศ.๒๕๔๔ กรมสามัญศึกษาพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มัธยมศึกษาตอนต้น ได้ดำเนินการสำเร็จเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่สมบูรณ์แบบ พร้อมด้วยครูอาจารย์ อาคารสถานที่ และคุณภาพของผู้เรียนประสบผลสัมฤทธิ์ในระดับสูงแสดงถึงการวางระบบงานที่มีประสิทธิภาพ จึงให้รวมโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสตรีวิทยา ๒ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้การส่งต่อผู้เรียน และการพัฒนาด้านต่างๆเป็นไปอย่างสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่สุด มีคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทยสืบไป จึงประกาศรวมโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

ผู้บริหารโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ มัธยมศึกษาตอนต้น
(ปีการศึกษา ๒๕๓๗ - ๒๕๔๔)

๑. นางสาวสมภาพ คมสัน พ.ศ. ๒๕๓๗

๒. นายอุดร บุญถาวร พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๔๑

๓. นายสุรินทร์ ต่อเนื่อง พ.ศ. ๒๕๔๑ - ๒๕๔๒

๔. นายณรงค์ ตามรักษา พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๕

เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าสตรีวิทยา ๒ สมาคมผู้ปกครอง และครูสตรีวิทยา ๒ และคณะกรรมการสถานศึกษาจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยประดิษฐานบริเวณเกาะกาญจนาภิเษกด้านหน้าอาคารสมเด็จพระศรีนครินทร์ อันเป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร "สมเด็จพระศรีนครินทร์" เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ให้การศึกษา แก่เยาวชนสืบไปโรงเรียนได้ดำเนินการจัดสร้างโดยกราบทูลเชิญสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จเป็นประธานประกอบพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ครบวาระ ๓๐ ปี แห่งการก่อตั้งโรงเรียนสตรีวิทยา ๒ ในพระราชูปถัมภ์ ฯ คณะกรรมการสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่าสตรีวิทยา ๒ เครือข่ายผู้ปกครอง และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค เงินสมทบก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น เป็นอาคารเชื่อมระหว่างอาคาร ๑๒ และอาคารกาญจนาภิเษก ทำให้มีห้องเรียนเพิ่มขึ้นจำนวน ๙ ห้องเรียนจึงไม่ต้องใช้อาคารชั่วคราวเป็นอาคารเรียนอีกต่อไป เมื่อก่อสร้างเสร็จโรงเรียนได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานทรงเปิดอาคารเรียนนามว่า " อาคาร ๓๐ ปี สตรีวิทยา ๒ เฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ " เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ยังความปราบปลื้มปิติสู่ชาวสตรีวิทยา ๒

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โรงเรียนสตรีวิทยา ๒
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีผู้บริหาร ดังนี้

๑. นางสมหมาย เอมสมบัติ พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๙
๒. นางศิริลักษณ์ นันทพิศาล พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๓
๓. นางสาวสมภาพ คมสัน พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๗
๔. นายลือชา สร้อยพาน พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๓๕๔๐
๕. นายณรงค์ ตามรักษา พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๕
๖. นายเชิดชัย พลานิวัติ พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๕๑
๗. นายเกษม สดงาม พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.sw2.ac.th/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook