โอกาสตายเพราะเครื่องบินตก...มีน้อยนิด เพราะอะไร?
การหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยของเครื่องบินสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม จนถึงวันนี้ ยังไม่มีคำตอบ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับคนทั่วทั้งโลกที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน
แม้จากสถิติ การเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นพาหนะที่ปลอดภัยเป็นอันดับสองของโลก เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยพาหนะอื่นๆ ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยาน เพราะโอกาสที่เครื่องบินพาณิชย์ตกนั้นมีเพียง 1 ใน 11 ล้านเที่ยวบิน แล้วพาหนะอะไรที่ปลอดภัยเป็นอันดับ 1 ของโลก?
คำตอบคือลิฟต์
จากสถิติพบว่า โอกาสที่คนจะตายเพราะลิฟต์ร่วงมีแค่ 1 ใน 12 ล้านของการขึ้นลงลิฟต์
แม้การเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์จะมีความปลอดภัยสูงมาก แต่การเดินทางโดยเครื่องบินกลับเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่กลัวมากที่สุด
จาก การทำโพลสำรวจของ Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย พบว่า คน 30 เปอร์เซ็นต์ ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ มีความรู้สึกวิตกกังวลเวลาขึ้นเครื่องบิน
โรคกลัวการขึ้นเครื่องบินมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Aerophobia สาเหตุประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ชีวิตอยู่เหนือการควบคุมของตัวเอง ต้องฝากชีวิตไว้กับกัปตันขับเครื่องบิน บ้างก็กลัวความสูง, กลัวความแออัดคับแคบ หรือกลัวการก่อการร้าย
นับตั้งแต่ปี 2012 มีเหตุการณ์เครื่องบินพาณิชย์ที่สร้างโดยประเทศตะวันตกประสบอุบัติเหตุตกและมีผู้เสียชีวิตเพียง 3 ครั้ง
โดยสายการบินที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกทั้ง 3 ครั้ง ทางสายการบินไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (International Air Transport Association-IATA) ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยการขนส่งทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีสายการบิน 240 สายการบินจาก 115 ประเทศเป็นสมาชิก ในจำนวนนี้มีสายการบินไทย และบางกอก แอร์เวย์ส รวมอยู่ด้วย
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เวลาเครื่องบินตก ผู้โดยสารบนเครื่องทั้งหมดจะเสียชีวิต!
แต่จากการเก็บสถิติของ National Transportation Safety Board ซึ่งเป็นหน่วยงานสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ มีสำนักงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาอุบัติเหตุทางเครื่องบินระหว่างปี 1983 ถึงปี 2000 พบว่าผู้โดยสารที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางเครื่องบิน 53,487 คน มีจำนวนถึง 51,207 คน รอดชีวิต เสียชีวิต 2,280 คน อัตราผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินสูงถึง 95.7 เปอร์เซ็นต์
ในเมื่อผู้โดยสารเครื่องบินจำนวนไม่น้อยคิดว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบินเมื่อไหร่ ผู้โดยสารตายสถานเดียว ดังนั้น เวลาแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วร์ตสอนวิธีใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน เช่น การใส่เสื้อชูชีพ หรือหน้ากากออกซิเจน ชี้ทางออกฉุกเฉิน ผู้โดยสารส่วนมากไม่ค่อยจะใส่ใจฟัง มัวแต่เตรียมถอดถุงเท้า รองเท้า หาหน้ากากปิดตาเตรียมนอนหลับ หรือถ่ายรูปโพสต์ลงอินสตาแกรม
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การตั้งใจฟังคำแนะนำเรื่องความปลอดภัย หรือศึกษาแผ่นพับที่กระเป๋าหน้าที่นั่งซึ่งอธิบายเรื่องความปลอดภัยในการ ปฏิบัติตัวยามเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน รวมแล้วกินเวลาไม่เกิน 10 นาที อาจช่วยให้เอาชีวิตรอดจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินได้
สายการบินส่วนใหญ่มักจะบอกกับผู้โดยสารอยู่เสมอว่าดูที่ตั้งของประตูฉุกเฉิน เผื่อเอาไว้ว่าประตูไหนใกล้ที่นั่งเราที่สุด ซึ่งอาจจะอยู่ติดด้านหลังที่นั่งของเรา เพราะโดยสัญชาตญาณ คนเรามักจะวิ่งไปข้างหน้าเพื่อหาประตูทางออกฉุกเฉิน
ติดตามข่าวสายการบินมาเลเซียแล้วอาจทำให้กลัวการเดินทางโดยเครื่องบิน ขอปลอบใจว่าโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิตจากการขับรถไปสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่องบินเกิดง่ายกว่าตายเพราะเครื่องบินตกมากมายนัก
คอลัมน์ คลุกวงใน
พิศณุ นิลกลัด
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์