แก้อ่านไม่ออก! ฟื้น"หนังสือก.กา"ประถม1-3ใช้เทอมนี้ ฝึกเด็กสะกดคำแทนท่องจำ ยังไม่เลิกมานี-มานะ
เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมนำแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น กลาง และปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำและได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2499 โดยแบบเรียนดังกล่าวเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำแจกลูกประโยคไว้ชัดเจน เช่น ก า กา กา ม า มา มา กามา และตามด้วยรูปงู กาตีงู ปูขาเก ตาโม จูงโค โคขาเกไถนา ตาคำ แกทำนา กะเมียแก แกมีวัว 5 ตัว เมียแก ไปพาวัว มาไถนา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กอ่าน ออก เขียนได้ และจดจำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแบบเรียนนี้ตนมีความสนใจ และเคยเรียนมาก่อน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน โรงเรียนจะไม่เน้นการสอนแบบแจกคำแล้ว แต่เน้นสอนแบบให้เด็กท่องจำเป็นคำๆ ทำให้เมื่อเด็กเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถอ่านประโยคนั้นได้ ดังนั้น จึงเชื่อว่าหากนำแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ จะช่วยแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ได้อย่างแน่นอน
จุดประสงค์ของการรื้อฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ขึ้นมานั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาเด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยจะให้โรงเรียนแจ้งความประสงค์มา และ สพฐ.จะจัดลงไปเสริมให้ เพราะจากการหารือกับครูภาษาไทย พบว่าแบบเรียนเร็วใหม่มีความน่าสนใจ ซึ่งมีบางโรงเรียนนำร่องใช้แบบเรียนนี้มาแล้ว จนทำให้เด็กมีพัฒนาการในการเรียนภาษาไทยดีขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าภายใน 1-2 ปี จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้ สพฐ.ได้เริ่มพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่แล้ว 600,000 เล่ม ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะให้เริ่มใช้เรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ทันที นายอภิชาติกล่าว
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า ส่วนการเสียชีวิตของนางรัชนี ศรีไพรวรรณ ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา (ป.1-ป.6 ชุดมานี มานะ ปิติ ชูใจ) ที่ใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศระหว่าง พ.ศ.2521-2537 นั้น ได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานของ สพฐ.ไปรวบรวมผลงานวิชาการของนางรัชนีว่ามีผลงานใดบ้าง และมีผลงานใดโดดเด่น เพื่อยกย่องให้เป็นผลงานชั้นเยี่ยม เนื่องจากในอดีต นางรัชนีถือเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเป็นอดีตศึกษานิเทศก์ของ สพฐ.โดยผลิตผลงานระดับคุณภาพออกมาอย่างแพร่หลาย ส่วนจะรื้อฟื้นแบบเรียนภาษาไทยของนางรัชนีขึ้นมาใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าหนังสือเรียนภาษาไทยมานี มานะ ปิติ ชูใจ เป็นแบบเรียนแห่งความทรงจำ และ สพฐ.ไม่ได้ยกเลิก โดยจัดให้ไปอยู่ในหมวดหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนประถมศึกษาอยู่แล้ว
สาเหตุที่ไม่แพร่หลาย อาจเป็นเพราะมีผู้พิมพ์แบบเรียนออกจำหน่ายน้อย ขณะเดียวกัน ครู และเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักหนังสือเรียนดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร จึงไม่ได้ส่งเสริมให้ใช้เท่าที่ควร ซึ่งความประทับใจขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคนมากกว่า เพราะครูบางคนเห็นคุณค่า แต่ก็มีครูอีกหลายคนก็กลับไม่เห็นคุณค่า และแบบเรียนดังกล่าวก็ใช้อยู่ไม่กี่ปีเท่านั้น นายอภิชาติกล่าว