อาหารต้านแดด
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อากาศร้อนอย่างนี้ แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อผิวหนังของเราโดยตรง ไม่ว่าจะปัญหาผิวแห้งกร้าน ผิวแดงหรือไหม้ ไปจนถึงปัญหามะเร็งผิวหนัง หลายคนจึงมักเลือกใช้ครีมกันแดดที่ช่วยบำรุงผิวและป้องกันแดดได้ แต่นอกจากครีมกันแดดแล้ว ใครจะรู้ว่าอาหารก็ช่วยต้านแดดได้เช่นกัน
ศูนย์สมุนไพรพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่าที่ผ่านมา มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันได้ว่า การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยต่อต้านแสงแดดได้ดี และป้องกันผิวไหม้ได้ด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนที่พบในผักใบเขียว แครอท พริก พริกหยวก และผลไม้สีเหลืองอย่างมะม่วง แตงโม แต่ต้องทานอย่างน้อย 10 สัปดาห์ขึ้นไป
นอกจากนี้ อาหารที่มีสารไลโคปีน สารอีกตัวหนึ่งในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ก็มีส่วนช่วยป้องกันผิวไหม้จากแสงแดดเช่นกัน แต่ต้องรับประทานต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไป พบในมะเขือเทศและฟักข้าว แถมยังช่วยป้องกันมะเร็งได้ด้วย โดยเฉพาะในฟักข้าวยังมีไลโคปีนชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า ไลโปแคโรทีน (Lipocarotene) ซึ่งเป็นกรดไขมันสายยาวที่ช่วยดักจับและดูดซึมแคโรทีน ฟักข้าวจึงจัดเป็นแหล่งของไลโคปีนที่ดีที่สุด
ไม่เพียงแต่มะเขือเทศและฟักข้าวเท่านั้น ในผักผลไม้ชนิดอื่นก็ยังอุดมไปด้วยไลโคปีนด้วย เช่น แตงโม 1 ชิ้น (286 กรัม) มีไลโคปีน 12,962 ไมโครกรัม, มะละกอ 1 ผล (304 กรัม) มีไลโคปีน 5,557 ไมโครกรัม, มะม่วง 1 ผล (207 กรัม) มีไลโคปีน 6 ไมโครกรัม และในแครอท 1 ผล (72 กรัม) มีปริมาณไลโคปีน 1 ไมโครกรัม ขณะที่ในชาเขียว จะมีสารต้านอนุมูลอิสระชื่อ โพลีฟีนอล (Pholyphenols) ก็สามารถช่วยปกป้องผิวหนังไม่ให้ถูกทำลายจากรังสียูวีได้ โดยร่างกายสามารถรับได้ทั้งจากการดื่ม และการทาครีมที่มีส่วนผสมของชาเขียว และยังมีงานวิจัยพบว่าสามารถป้องกันมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย
แต่การรับประทานอาหารก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกทำลายของผิวจากแสงแดดการทาครีมกันแดดก็ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด และควรควบคู่กับการหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะช่วง 10.00-16.00 น.
ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรง หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด หากมีความจำเป็นต้องออกแดด
ที่มา : นสพ.มติชน