บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา แนะ สทศ. ฟังเสียงนิสิตฯ กรณี U-NET
จากกรณีที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ยืนยันเดินหน้าการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) ในปีการศึกษา 2557 โดยจะเริ่มนำร่องทดสอบนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย โดยระบุเพราะทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ให้ความเห็นว่า สทศ. กำลังดำเนินพันธกิจตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 9 ที่ระบุให้จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับและประเภทการศึกษา และมาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ แต่ไม่ได้หมายถึงให้ สทศ. ต้องดำเนินการจัดสอบไปซะทุกเรื่อง เผลอๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยอาจต้องมีสอบอะไรสักอย่างเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา เปิดช่องให้ผู้บริหารไล่อาจารย์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ออกจากงานหรือไม่ เป็นต้น
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวว่า วิธีการสอบที่ สทศ. ดำเนินการมาในทุกระดับ แม้จะสร้างความสำเร็จในการวัดผลแต่ก็มีข้ออุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ เช่นปัญหาข้อสอบ O-NET ที่ผิดพลาดเคยเป็นข่าวในสื่อต่างๆ เมื่อจะนำการสอบ U-NET มาใช้กับนิสิตนักศึกษาอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงสุด จึงเกิดกระแสการคัดค้านทั่วประเทศ จึงอยากให้รับฟังเสียงเหล่านี้
"การที่ สทศ.ใช้การสอบทุกอย่างเพื่อนำไปสู่การวัดคุณภาพการศึกษาแต่ละสถาบัน คิดว่ามีวิธีการอื่นๆอีกมากในการวัด อาจเปลี่ยนวิธีการสอบ ไปใช้การสำรวจข้อมูลโดยใช้หลักวิชาทางสถิติแทน ได้ ยิ่งหากจะจัดสอบนิสิตฯ ป.โท และ ป. เอก ในอนาคตก็จะมีปัญหาการต่อต้านเช่นนี้ตามมาแน่นอน" รศ. ดร. วีรชัย กล่าว