ลอก ขนาดนี้ ส่ง URL ให้ครูเถอะ !!!
โดย วรรณโชค ไชยสะอาด
"ข้อสอบวิชา ป.230 ทั้งหมด 80 ชุด (80 คน) ผมสามารถจับคู่ว่าใครลอกใคร ใครเป็นต้นทาง และข้อไหนลอกมาจากเว็บไหน ลอกทั้งกะบิหนังสือเล่มไหน ได้ทั้งหมดแล้วนะครับ ข้อไหนที่ได้ศูนย์คะแนนกันเกือบยก sec ก็อย่าแปลกใจ หรือคุณสงสัยว่าทำไมได้คะแนนสอบน้อยมาก คุณนึกไว้เลยนะครับว่าอย่างน้อยยังดีที่มีคะแนนให้บ้าง น่าเสียดายในความสามารถที่พวกคุณมี แต่ไม่ใช้มันให้เกิดประโยชน์"
ข้อความแสนเจ็บปวดนี้ปรากฏใน Pipad Krajaejun หน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเด็กในโอวาทลอกข้อสอบ ลอกรายงานแบบโจ่งแจ้ง ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
ระดับที่ผู้สอนถึงกับเครียด
อ.พิพัฒน์เล่าว่า สอนนักศึกษาหลายคณะ พบการทุจริตทุกคณะ โดยระยะกว่า 4 ปีที่สอน พบการทุจริตเรื่อยมา ซึ่งปีนี้ชัดเจนมาก จนไม่เเน่ใจว่าสาเหตุเพราะอะไร อย่างพื้นฐานการทำรายงาน การค้นคว้าข้อมูลมาใช้ จำเป็นต้องอ้างอิงแหล่งที่มา ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนก็ตาม เเละเเน่นอนว่าการทำรายงานเล่มหนึ่งควรมีข้อมูลที่มาจากหลายแหล่ง ทั้งหนังสือ เว็บไซต์ หรืออื่นๆ สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีข้อมูลแล้วจะวิเคราะห์หรือใส่ความคิดอย่างไร ซึ่งตรงนี้เห็นจากนักศึกษาน้อยรายมาก
"รายงานส่วนใหญ่ก๊อบปี้มาจากอินเตอร์เน็ตทั้งหมดแล้วไม่ได้ให้เครดิต ประหนึ่งว่าเป็นงานของตัวเอง บางชิ้นเป็นสำนวนเก่าของนักเขียนเมื่อ 50 ปีก่อน นักศึกษาเกิดไม่ทันเเน่นอน ไม่มีทางใช้ภาษาเเบบเก่า เราอ่านเจอมาเยอะ รู้อยู่เเล้วเวลาตรวจ ว่า 1.ไม่ใช่สำนวนคุณ 2.ลอกมาจากอินเตอร์เน็ต 3.ข้อมูลเก่ามากจนไม่อัพเดต" อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์บอกอย่างอารมณ์ดีปนรู้สึกผิดหวัง
และว่า มี 3 ประเด็นที่มองเห็นจากเรื่องดังกล่าว
1.ในฐานะผู้สอน คาดหวังให้นักศึกษานำเสนอประเด็นใหม่ๆ ไม่ใช่การลอก ซึ่งในมุมของผู้สอนการทุจริตเเบบนี้ถือเป็นการโจรกรรมงานคนอื่น เป็นความผิดร้ายเเรง ปกติคือต้องให้เกรด F ไม่ว่าลอกเเค่บางส่วนหรือทั้งหมด
2.ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษา ซึ่งมี 2 มุม คือ 1.รู้ว่าผิด ก็ยังทำ 2.ไม่รู้ว่าผิด โดยเฉพาะการทำรายงาน ซึ่งเขาไม่เข้าใจในการแยกว่า อันไหนคือการลอกกับการไม่ลอก
3.การศึกษาระดับประถมหรือมัธยมศึกษามีปัญหา ไม่ได้สอนการทำรายงานหรืออาจสอนเเต่อาจารย์ไม่ใส่ใจในการตรวจ
"ทั้ง 3 อย่างนี้มองเเล้ว เราโทษตัวบุคคล คือ นักศึกษาว่าไม่ดี เเต่สิ่งสำคัญ คือ โครงสร้างการศึกษาไทยที่มีปัญหา ไม่ได้สอนให้คนคิด ทำรายงาน หรืองานวิจัยให้เป็นระบบ ไม่เข้าใจเส้นเเบ่งระหว่างการลอกและไม่ลอก"
"มองจากจุดเล็กเเล้วนำไปสู่การตั้งคำถามใหญ่ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทยที่สอนให้คนกากบาทเเต่ไม่สอนให้คนคิด" อาจารย์จากรั้วเหลืองแดงบอกอย่างคมคาย
อดคิดไม่ได้ว่าสถาบันอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเดียวกัน
ทั้งนี้ การโพสต์เฟซบุ๊กถึงการกระทำดังกล่าวของนักศึกษา ทำให้ความคับข้องใจของเด็กที่มีต่อคะเเนนอันน้อยนิดที่พวกเขาได้นั้นหมดไป เพราะปฏิเสธไม่ลงว่าไม่ได้ลอก
"ในอดีต ช่องทางการสื่อสารกับนักศึกษามีน้อย โพสต์ในเฟซบุ๊กคือกระบวนการอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเห็นชัดว่าอย่างไหนคือการลอก เเละทำให้ไม่มีปัญหามาโวยวายหลังจากเกรดออกไป อีกอย่างในเฟซบุ๊กจะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ช่วยยืนยันว่า สิ่งนี้มันลอกนะ คุณทำไม่ถูก" อาจารย์หนุ่มหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเเละว่า ไม่ค่อยมีความสุขกับการให้เอฟแก่ศิษย์ผู้เป็นที่รัก
"เรามี 2 ด้าน 1.หน้าที่การงาน 2.ความรู้สึกความเป็นมนุษย์เเละความสัมพันธ์ พอให้เอฟก็จะมีความรู้สึกว่า เเล้วเด็กจะตกไหม? จะเสียกำลังใจไหม? โดนรีไทร์ไหม? มันมีอารมณ์เเบบนั้นซึ่งก็ไม่อยากให้ เเต่จะช่วยเขาดีไหม ช่วยเเล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป? เมื่อทุกอย่างต้องดำเนินไปตามข้อเท็จ" อาจารย์พิพัฒน์บอก
และทิ้งท้ายว่า บางคนได้บทเรียน บางคนก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นความหลากหลายในความคิด แต่สิ่งสำคัญ คือ มีแกนของความถูกต้องอยู่ ถ้าจับได้ตรงนั้นย่อมตระหนักว่า "คุณลอกนะ" เขาจะปรับปรุงตัวเอง
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ปัญหาการลอกข้อมูล เริ่มจากครูบาอาจารย์ไม่เข้มงวดกับเด็กๆ เมื่อเด็กส่งงานแล้วไม่ตรวจสอบอย่างเข้มงวด จนเด็กติดนิสัยว่า "ลอกแล้วรอด"
"ประเด็นคือสั่งงานแล้วไม่เข้มงวด ไม่ตรวจสอบอย่างจริงจัง ในที่สุดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเรียนรู้ของเด็ก ทำจนเป็นนิสัย รู้สึกเป็นเรื่องปกติ เป็นความผิดที่ทุกคนทำเหมือนกัน จนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับ ปัญหานี้ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากอาจารย์" ศ.ดร.สมพงษ์บอก
และว่า เด็กมีความเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตเป็นของสาธารณะ สามารถนำมาใช้ได้อย่างเปิดเผย ซึ่งโดยมารยาทแล้วควรระบุในรายงานว่าข้อมูลจากไหน ซึ่งจำเป็นต้องอ้างอิงแล้วนักศึกษาค่อยนำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์ ประกอบในผลงานตัวเอง
อาจารย์จากรั้วจามจุรีบอกอีกว่า เรื่องมารยาทจริยธรรมเป็นปัญหาวิชาการตั้งแต่ระดับประถมถึงอุดมศึกษา ส่วนตัวอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า แม้กระทั่งระดับอาจารย์เองก็ยังมีปัญหา ยังลอกกันให้เห็น
ในสายตาของอาจารย์หนุ่มใหญ่ มองว่า ทุจริตทางวิชาการ หรือการลักลอบนำงานวิชาการของคนอื่นเอามาเป็นของตัวเอง ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ถูกจับได้แล้วน่าละอาย เราจะต้องเอาจริงเอาจังในแวดวงวิชาการ คือ ต้องสอนเเละย้ำถึงความผิดกันอย่างเข้มงวด อาจารย์ต้องตรวจงานอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญถึงแหล่งที่มา หากจับได้ว่าลอกต้องให้เกรดเอฟ รวมถึงหาวิธีพูดคุยกับนักศึกษา หาข้อสรุปที่เขาต้องเรียนรู้ และยอมรับผิดในที่สุด รวมทั้งจะไม่ทำมันอีก
ศ.ดร.สมพงษ์ยังเเสดงทรรศนะถึงวิธีป้องกันการลอกข้อมูลอย่างน่าสนใจ ว่า ต้องแก้ไขและป้องกันที่วิธีการตั้งคำถาม ซึ่งผู้เรียนต้องลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูล เขียนจากสิ่งที่พบเจอ เพราะลอกคนอื่นไม่ได้ ส่วนการสืบค้นจากเอกสารให้เป็นส่วนหนึ่ง แบบนี้เด็กจะเกิดพัฒนาการทั้งการเขียนและคิดวิเคราะห์
เรื่องนี้ตอกย้ำว่า การอ่านมากไม่ช่วยให้เกิดทักษะการวิเคราะห์มากขึ้นเลย
-----------------------------------------------------------------------
ผักบุ้งเเสนซน นัฐทิชา เรืองโรจน์น.ศ.ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยเอกชน
"เเน่นอนว่าเคยก๊อบปี้ข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ตมาประกอบงานของตัวเอง เเม้จะรู้สึกว่าผิด เเต่คิดว่าเด็กคนอื่นๆ ในสมัยนี้ก็ทำกัน น่าจะเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ จะโทษใครก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้อินเตอร์เน็ตมีแทบทุกอย่าง อยากรู้อะไรก็หา สะดวกกว่าเข้าห้องสมุดเยอะเเยะ ก็เลยติดนิสัยมักง่ายบ้าง
เเต่ถามว่าละอายใจไหมก็มีนะ แต่เราไม่ได้ก๊อบมาทั้งอย่างนั้น อาจจะเอามาปรับแต่งเปลี่ยนคำพูดเปลี่ยนภาษาบ้าง ให้มันไม่น่าเกลียดเกินไป เเต่อาจารย์น่าจะรู้แหละว่าก๊อบมา เขาคงปล่อยผ่านๆ ไป"
เฟิส ชิตตินัย แสงทน น.ศ.ปริญาโท มหาวิทยาลัยรัฐ
"เคยทำสมัยเรียนมัธยม อาจารย์สั่งงานอะไรมา ก็มาหาเอาในเน็ต แล้วก๊อบๆ ลง ไม่ได้วิเคราะห์หรือสังเคราะห์อะไรเอง อาจจะมีปรับข้อมูล เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย เพราะอาจารย์คงไม่เอาของเราไปเผยแพร่ต่อหรอก ส่งอาจารย์ละก็จบๆ ไป"
กิ๊ก กนกพร ทองไทย น.ศ.ปริญาตรี มหาวิทยาลัยรัฐ
"เคยลอกข้อมูลจากเน็ตมาบางส่วน แล้วนำมาสังเคราะห์กับข้อมูลที่ได้จากหนังสือ รู้สึกละอายใจนะ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็เอามาใช้ไม่ได้อยู่ดี หากไม่มีการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ปกติเวลาใส่ข้อมูลก็อ้างอิงด้วย เวลาอ้างข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
เเต่ก็คิดเหมือนกันว่าจริงๆ อาจารย์ไม่ตรวจ แต่อาจารย์ก็ขู่ไว้ เราก็จะลงอ้างอิงกันเหนียวไว้ เเละเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 1 พฤษภาคม 2557