เยาวชนไทยรู้จักอาเซียนน้อย "กำแพงภาษา" อุปสรรคสำคัญ

เยาวชนไทยรู้จักอาเซียนน้อย "กำแพงภาษา" อุปสรรคสำคัญ

เยาวชนไทยรู้จักอาเซียนน้อย "กำแพงภาษา" อุปสรรคสำคัญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการเผยผลสำรวจการรับรู้อาเซียนของเยาวชนไทย สิงคโปร์ และเมียนมาร์น้อยที่สุดในอาเซียน และการสร้างความรับรู้อาเซียนผ่านโลกอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่นิยม สาเหตุจากกำแพงทางภาษา


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากงานเสวนาเรื่อง "การรับรู้เรื่องอาเซียนของเยาวชนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ เปิดมีการเผยผลงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันของ รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.เอริก ทอมป์สัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างจากนักศึกษามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี ในประเทศสมาชิกอาเซียน 2,170 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเฉลี่ยประเทศละ 200-220 คน อายุโดยเฉลี่ย 20 ปีระบุว่าในงานวิจัยดังกล่าวเป็นแบบสอบถามเชิงทัศนคติ และความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นชุดคำถามแบบปลายปิดต่อกลุ่มตัวอย่าง เช่น ความรู้สึกการเป็นประชากรของอาเซียน ทัศนคติถึงความเหมือนและความแตกต่างในภูมิภาค

ด้านความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียนผู้วิจัย เปิดเผยว่า เยาวชนจากลาวและเวียดนามเป็นชาติที่มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนมากที่สุด เยาวชนส่วนใหญ่สามารถตอบชื่อชาติสมาชิกในอาเซียนได้ 9 จาก 10 ประเทศ หรือชี้และบอกชื่อประเทศในแผนที่ได้ 7 จาก 10 ประเทศ ซึ่งถือว่ามีความรู้ค่อนข้างดี แต่คำถามในเชิงลึกอย่างเช่นว่า อาเซียนก่อตั้งขึ้นในปีอะไร มีกลุ่มตัวอย่างราวครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้อง จากตัวเลือก 6 ข้อ โดยประเทศที่จัดเป็นกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนน้อยที่สุด คือ "ไทย สิงคโปร์ และเมียนมาร์"

ในส่วนของความเข้าใจถึงสถานะและความสำคัญของ ชาติสมาชิกในอาเซียน กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าประเทศที่มีบทบาทสำคัญโดดเด่นในภูมิภาค ได้แก่ ไทย และมาเลเซีย

ส่วนเรื่องการรับรู้ข้อมูล เยาวชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า รับรู้ข้อมูลจากสื่อประเภทโทรทัศน์ โรงเรียน หนังสือพิมพ์ และหนังสือเรียนมากที่สุด ขณะที่สื่อลำดับรองลงมา ได้แก่ อินเทอร์เน็ต และวิทยุ ขณะที่สื่อทางอ้อมประเภทกีฬา เกม และความรู้ที่ได้จากคนรู้จัก ผู้ปกครอง การท่องเที่ยว ภาพยนตร์ และการเดินทางสู่ประเทศสมาชิก ถือเป็นที่มาของความรู้ที่น้อยที่สุด

นักวิจัยทั้งสองเผยตรงกันว่า แต่ละประเทศมีความนิยมเรื่องสื่อที่แตกต่างกัน เช่น กัมพูชา เวียดนาม และลาว สื่อวิทยุมีความสำคัญมาก ขณะเดียวกัน อาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่สำคัญ ที่จะช่วยเรื่องการเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนมากที่สุด โดยให้สาเหตุว่าการรับรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่เป็นที่นิยม เพราะเรื่องกำแพงภาษาไม่ใช่เรื่องความร่ำรวย หรือความพร้อมด้านโทรคมนาคมของประเทศสมาชิก เนื่องจากหลายประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษไม่มีแหล่งข้อมูลในภาษาประจำชาติของ ตนมากเพียงพอ

ในส่วนของความร่วมมือและการแก้ไขปัญหา เยาวชนในอาเซียนเชื่อว่า การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างประเทศ การศึกษา ความร่วมมือด้านทางทหาร มีความสำคัญ ขณะที่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการเมืองยังเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และไม่ต้องเร่งร่วมมือกัน โดยปัญหาเรื่องความยากจนควรที่จะได้รับการแก้ไขมากที่สุด

ในภาพรวมแล้วสิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียนมีความกระตือรือร้นอยากเป็นส่วนหนึ่งของ อาเซียนมากกว่าชาติที่เป็นสมาชิกมานานแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจน เนื่องจากมองว่าความร่วมมือจะนำมาซึ่งการพัฒนา ขณะที่ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและมีการพัฒนาครบทุกด้านแล้ว มองว่าการสถาปนาความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียนเป็นเรื่องไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม อาเซียนได้พัฒนาไปมากกว่าการหารือ แต่เริ่มมีความร่วมมือในด้านอื่นๆ ร่วมกัน นอกเหนือจากความร่วมมือทางการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุแรกเริ่มในการก่อตั้งอาเซียนในช่วงสงครามเย็น ซึ่งการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น และการเปิดประเทศของชาติในภูมิภาค ตลอดจนการเข้ามามีความร่วมมืออย่างค่อยเป็นค่อยไปในกรอบของอาเซียน ทำให้ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการรวมตัวในระดับ ภูมิภาค

ทั้งนี้ ในผลสำรวจชี้ด้วยว่า เยาวชนทุกชาติอาเซียนมีความรู้สึกในเชิงบวกเกี่ยวกับความร่วมมือในภูมิภาค โดย 90% เห็นว่าการที่ประเทศของตนเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกอาเซียนนั้น จะก่อให้เกิดผลประโยชน์เชิงบวก ขณะที่ 70% เชื่อว่าการเป็นสมาชิกอาเซียนจะก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองโดยตรง ซึ่งประเทศที่มีความกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนมากที่สุด คือ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

ขณะที่ประเทศที่ลังเลกับความร่วมมือมากที่สุด ได้แก่ พม่า บรูไน และสิงคโปร์ ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 75% มีความรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของอาเซียน และมองเห็นความคล้ายคลึงกันในเรื่องวัฒนธรรม ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคมีความแตกต่างกันมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook