บอกพ่อแม่อย่างไรดีว่า อยากเรียนที่ชอบ
ช่วงนี้ผมมีโอกาสไปบรรยายพิเศษให้ผู้ปกครองหลายโรงเรียน ผมใช้หัวข้อเรื่อง "จะช่วยลูกอย่างไรในวันนี้" คิดว่าน่าจะนำบางส่วนที่เป็นสาระมาเล่าสู่กันฟังครับ
คงพอนึกออกนะครับ
ปีแรกที่ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะตื่นเต้น เวลาโรงเรียนเรียกประชุมหรือจัดกิจกรรมใด ๆ ผู้ปกครองก็จะไปอย่างพร้อมหน้าหร้อมตา บางคนเอากล้องไปถ่ายภาพ บางคนเอาจริงจังกว่านั้น อัดวีดีโอกันเลยครับ
พอลูกเรียนสูงๆขึ้นไป ผู้ปกครอง ที่มาร่วมกิจกรรมก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ บางทีเด็กต้องเอาพี่มาเป็นผู้ปกครองแทนบ้าง บางคนหาใครมาไม่ได้ พ่อก็ไม่ว่างแม่ก็ติดงาน พี่ก็ไม่มี เลยเอาน้องมาเป็นผู้ปกครอง
ทั้งที่ความจริงแล้วยิ่งเด็กเรียนสูงขึ้น ผู้ปกครองยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องคุยกับทางโรงเรียนมากขึ้นและยิ่งในความ เปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้ การสื่อสารและความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไป อีกครับ เพราะจากนี้ไปหน้าที่ของการจัดการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของสถานศึกษา เท่านั้นแต่การจัดการศึกษาจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองด้วยเช่นเดียวกัน ผู้ปกครองและชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ครับ
- บางคนอยากให้ลูกเข้าเรียนต่อในสถาบันดัง ๆ อยากให้ลูกเข้าจุฬาฯ เข้าธรรมศาสตร์
- หลายคนอยากให้ลูกประกอบอาชีพที่มั่นคง อยากให้ลูกเป็นนายแพทย์ เป็นทหาร รับราชการ เป็นเจ้าของกิจการ
ความเห็นเหล่านี้แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์และสภาพแวดล้อมในอดีตของผู้ ปกครอง
แต่ถ้า เรามาดูความต้องการที่แท้จริงของผู้ปกครอง ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทุกท่านต้องการก็จะคล้ายกัน
ท่านไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นหมอ แต่ท่านต้องการให้ลูกมีเกียรติ
ท่านไม่ได้ต้องการให้ลูกเรียนจุฬาฯ แต่ท่านต้องการให้ลูกได้รับการยอมรับมีหน้ามีตาในสังคม
ท่านอาจไม่ได้ต้องการให้ลูกรับราชการ แต่ท่านคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง
และที่สำคัญผมเชื่อว่าท่านอยากให้เขามีความสุขในการเรียนและในการทำงาน
แต่วันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย
เมื่อก่อนเราจะตั้งใจเรียนให้ดีเพื่อที่ว่าจบมาแล้วจะได้ทำงานที่มั่นคง และคงไม่มีอาชีพไหนจะมั่นคงไปกว่าการรับราชการ หรือ ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ
แต่ เดี๋ยวนี้เราคงพอมองเห็นกันแล้วในความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตลาดงาน
การรับราชการ หรือทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ก็ไม่อาจประกันความมั่นใจให้กับเราได้อีกต่อไป
หน่วยงานของรัฐ และ บริษัท องค์กรใหญ่ ๆทุกวันนี้เร่งปรับตัวให้เป็นหน่วยงานขนาดเล็กเพื่อความอยู่รอด ความคล่องตัว และความสามารถในการที่จะแข่งขันได้ในปัจจุบันและอนาคต
เห็นได้จากการลดจำนวน ข้าราชการ แทบทุกกระทรวง ตามโครงการที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ การลดจำนวนพนักงานในบริษัทใหญ่โตที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับโลกและระดับใน ประเทศ
ดังนั้นจุดมุ่งหมายในการเรียนต่อเพื่อไปเป็นข้าราชการ หรือ ทำงานในหน่วยงานใหญ่ ๆ โต จึงไม่น่าจะถูกต้องอีกต่อไป ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
เหตุผล ที่หนึ่ง โอกาสที่จะไปรับราชการนั้นยากขึ้นทุกวัน จะไปทำงานในองค์การใหญ่ๆก็ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน ที่ ใครจบมาด้วยเกรดดีๆก็ได้งานทันที และ
เหตุผลที่สอง ถึงแม้จะผ่านเข้าไปได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะความมั่นคงเพราะถ้าไม่มีความ สามารถที่แท้จริงแล้วก็อาจจะทำอยู่ได้ไม่นานเพราะถ้าเราทำงานไม่เป็น ปรับตัวช้า เขาก็ปรับเราออกแน่
ผู้ปกครองหลายท่านที่ยังอยากให้ลูกเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง เพราะคิดว่า การจบจากสถาบันต่าง ๆ เหล่านั้นจะทำให้มีโอกาสหางานได้ง่ายกว่า
เมื่อก่อนอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ในอนาคต หรือแม้กระทั่งทุกวันนี้การรับเข้าทำงานจะวัดเอาจากความสามารถของผู้สมัคร มากกว่าการที่จะพิจารณาว่าจบจากสถาบันไหน
จากแผนการอุดมศึกษาแห่งชาติ รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้คนในวัยอุดมศึกษา เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ประมาณปีละ 2 ล้านคน
ดังนั้น คนไทยซึ่งมีอายุประมาณ 24- 25 ปี จะจบปริญญาตรีกันเยอะมาก คือเกือบหนึ่งในสามของคนไทย วัยนี้จะจบปริญญาตรี จะจบสถาบันไหนก็คงไม่ต่างกันมากเหมือนก่อนแล้วล่ะครับ
มีผู้ปกครองบางคนสนับสนุนให้ลูกเรียนในมหาวิทยาลัยดัง ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถนัดของนักเรียน
บางคนยอมไปเรียนในสาขาที่ไม่ถนัดเพียงเพื่อมีชื่อว่าเรียนในมหาวิทยาลัยดัง
แนวคิดพวกนี้คงต้องเปลี่ยนเพราะตอนนี้ระบบการศึกษา บ้านเราเปิดมากครับ
มีมหาวิทยาลัยเอกชนมีคุณภาพมากมาย สถาบันการศึกษาอื่น ที่มีคุณภาพอีกเยอะเลย สาขาต่าง ๆ ก็มีให้เรียนหลากหลายและเพียงพอขอแค่อย่าไปยึดติดกับค่านิยมในสถาบันมากจน เกินไป
สิ่งที่จะเกิด ในอนาคตอันใกล้นี้
จะมีผู้จบปริญญาตรีมากมาย
การเข้ารับราชการจะยากขึ้น
บริษัทต่าง ๆ จะเล็กลง การรับคนเข้าทำงานจะเปลี่ยนจากการดูเกรดดูวุฒิ มาเป็นการสอบเข้าและดูความสามารถ
จะมีคนจำนวนมากเปิดกิจการเล็ก ๆ เป็นบริษัทที่มีพนักงาน 2 - 3 คน และรับงานต่อจากบริษัทใหญ่ ๆ
จะมีการจ้างงาน ข้ามชาติ เกิดมากขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้เราสามารถรับงานและทำงานให้กับบริษัทต่าง ประเทศได้ เช่น ที่รัฐบังกะลอร์ ในประเทศอินเดีย มีคนอินเดียจำนวนมาก ทำงานให้กับบริษัทในอเมริกา ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น พ่อแม่คงต้องส่งเสริม ให้ลูกเรียนในทิศทางที่สอดคล้องกับอนาคต และสภาพตลาดงานที่เปลี่ยนไป
ต้องเรียนเพื่อให้มีความรู้ ครับ ถ้านักศึกษา เรียนเพียงเพื่อขอให้จบการศึกษา เรียนเพื่อให้ได้ใบปริญญาอย่างทุกวันนี้ ปริญญานั้นคงช่วยเราหางานไม่ได้แน่ ถ้าเราขาดความรู้
ต้องเรียนเพื่อให้มีความคิด มีเหตุมีผล และสามารถทำงานได้ ลดความกังวลกับเรื่องเกรดหันมาเอาใจใส่กับความสามารถในการทำงานกันดีกว่า ครับ
การเรียนรู้ในยุคนี้เกรดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้ลูกทำกิจกรรมหรือแม้กระทั่งทำงาน Part time (คือทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย) จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เขาเ จบการศึกษามาเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
ผู้ปกครองในวันนี้จะช่วยลูกเลือกสาขาเรียนต่อได้อย่างไร
หนึ่ง เปลี่ยนการชี้นำลูกจากค่านิยมเดิมที่เราเชื่อ ให้กลายมาเป็นการเปิดโอกาสให้ลูก มีความรู้ มีวิสัยทัศน์
สร้างโอกาสให้เขารับรู้ในสาขาอาชีพที่หลากหลาย เมื่อเขาเห็น และมีข้อมูลเหล่านี้ เมื่อเขาเข้าใจในลักษณะของการงานในอาชีพต่าง ๆ เขาจะสามารถตัดสินเลือกทางได้ด้วยตนเอง ครับ
สอง เปลี่ยนการเลือกสาขาตามคะแนนสอบ มาเป็นดูความถนัด ความสนใจ ความใฝ่ฝันของเขา ผู้ปกครองน่าจะมีส่วนร่วมกับทางโรงเรียนในการค้นหาว่าตัวเด็กเอง เหมาะกับการเรียนต่อสาขาไหน เพราะคนที่ได้เรียนในสาขาที่ถนัดนอกจากจะมีความสุขในการเรียนแล้ว เขาน่าจะประสบความสำเร็จในการทำงานอีกด้วย
สาม แต่เดิมผู้ปกครองมักคาดหวังให้ลูกเป็นนั่นเป็นนี่เพราะคิดว่าดี เห็นว่าเหมาะ หลายท่านอยากเป็นแต่ไม่ได้เป็น เลยมาตั้งความหวังกับลูก
ความคาดหวังนี้คือตัวการสำคัญครับที่ทำให้เด็กเครียด เด็กหลายคนที่มาขอคำปรึกษาว่าจะคุยกับพ่อแม่อย่างไรดีเพราะเห็นไม่ตรงกัน
ผมคิดว่า แทนที่จะคาดหวังให้เด็กเรียนทางนั้น ต่อทางนี้
เราน่าจะเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจกับเขามากกว่า
ถ้าเด็กได้มีโอกาสเลือกอนาคต ด้วยตนเอง เราเป็นผู้ให้ข้อมูล ให้กำลังใจ เด็กจะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น
ก็หวังว่าแนวคิดตรงนี้คงจะเป็นประโยชน์ สำหรับท่านผู้ปกครองนะครับ
และน้องๆที่กำลังเผชิญปัญหาพ่อคิดอย่างแม่คิดอย่างเราคิดอีกอย่างลองเอาบท ความนี้ให้ท่านอ่านคงพอช่วยได้ครับ
บทความโดย อ.วิริยะ Eduzones
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก :eduzones.com