เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทิปพนักงานเสิร์ฟ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทิปพนักงานเสิร์ฟ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทิปพนักงานเสิร์ฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนไทยเพิ่งได้รับการยกย่องเรื่องของความมีน้ำใจเป็นที่หนึ่งของเอเชียแปซิฟิกในเรื่องของการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา บัตรเครดิต MasterCard ได้รายงานผลสำรวจในหัวข้อเรื่อง Top Tippers in Asia Pacific ที่ได้ทำการสำรวจระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ถึงพฤติกรรมการให้ทิปของคนเอเชีย

โดยทำการศึกษาคนจำนวน 7,932 คน อายุระหว่าง 18-64 ปี ใน 16 ประเทศคือ ไทย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, บังกลาเทศ, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ผลการสำรวจออกมาเป็นที่น่าภูมิใจว่า สัดส่วนของคนไทยที่ให้ทิปพนักงานเวลาไปทานอาหารที่ร้านสูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

คนไทยจำนวน 84 เปอร์เซ็นต์ จะให้ทิปพนักงาน อันดับ 2 คือ บังกลาเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสองอันดับสุดท้ายจากล่างสุดคือ เกาหลีใต้ที่ให้ทิปพนักงานเสิร์ฟ 10 เปอร์เซ็นต์ และท้ายสุดคือญี่ปุ่นที่มีคนให้ทิปแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ (เพราะวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศเขาไม่รับทิปในทุกกรณี)

สำหรับค่าเฉลี่ยของจำนวนการให้ทิปของคนในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ คณะผู้ศึกษายังได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจว่า สัดส่วนของผู้ชายที่ทิปนั้นสูงกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายจำนวน 43 เปอร์เซ็นต์ จะให้ทิป ส่วนผู้หญิงให้ทิป 36 เปอร์เซ็นต์

เรื่องของอายุกับการให้ทิปก็มีส่วนเช่นกัน คนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนการให้ทิปสูงกว่าคนที่อายุระหว่าง 18-29 ปี

คนอายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 42 เปอร์เซ็นต์จะให้ทิป ส่วนคนอายุ 18-29 ปี จำนวน 37 เปอร์เซ็นต์ ให้ทิปพนักงาน

มารยาทของการให้ทิปในแต่ละประเทศเป็นเรื่องที่สับสนพอสมควร บางประเทศการให้ทิปถือเป็นการดูถูก อย่างประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่นถือว่าการให้บริการที่ดีเป็นหน้าที่ของพนักงานเสิร์ฟอยู่แล้ว ดังนั้น การให้ทิปจึงเหมือนเป็นดูถูกว่าพนักงานเสิร์ฟเป็นอาชีพรายได้น้อย ต่ำต้อย ไม่มีเกียรติ

ในขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา การไม่ให้ทิปพนักงานเสิร์ฟถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย พนักงานเสิร์ฟอาจโมโหฉุนเฉียว ถามอย่างเอาเรื่องกับลูกค้าว่าตนบริการแย่นักหรือไงถึงไม่ให้ทิป หรือหากให้ทิปน้อยเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์กับราคาค่าอาหาร พนักงานเสิร์ฟก็อาจเดินเข้ามาถามลูกค้าทันทีว่าบริการไม่ถูกใจตรงไหนถึงให้ทิปน้อยขนาดนี้!

เรื่องทำนองนี้เพื่อนผมเคยเจอมาแล้วในร้านสเต๊กชื่อดังที่นิวยอร์ก รับประทานกัน 4 หมื่นกว่าบาท ทิปไป 15 เปอร์เซ็นต์ก็ 6,000 บาท ถูกพนักงานเสิร์ฟตามเข้าไปในห้องน้ำถามว่า "เราบริการไม่ดีหรืออย่างไร" เลยต้องเพิ่มอีก 50 เหรียญ

การให้ทิปในร้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพนักงานเสิร์ฟในสหรัฐอเมริกา สมัยก่อนเวลาคนไทยไปสหรัฐอเมริกา มักจะได้รับการบอกต่อๆ มาว่าเวลาเข้าร้านอาหารอย่าลืมให้ทิปพนักงานเสิร์ฟ 10 เปอร์เซ็นต์ ของราคาค่าอาหาร

แต่สมัยนี้การให้ทิป 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าต่ำมากตามมาตรฐานของร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา แม้พนักงานเสิร์ฟจะบริการไม่ประทับใจ คนอเมริกันก็มักจะกัดฟันให้ทิป 15 เปอร์เซ็นต์ หากบริการดีก็มักจะให้เพิ่มเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น พนักงานเสิร์ฟในสหรัฐอเมริกาจะคาดหวังเงินทิปจากลูกค้าว่าจะต้องได้รับประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์

หลายคนสงสัยว่าทำไมในสหรัฐอเมริกา ต้องให้ทิปกันมากมายขนาดนั้น

คำตอบก็คือในสหรัฐอเมริกาอาชีพที่ทำงานได้ทิป เช่น พนักงานเสิร์ฟ, บาร์เทนเดอร์ หรือพนักงานเข็นกระเป๋าในโรงแรม เป็นอาชีพที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำต่ำมาก

ในหลายรัฐพนักงานเหล่านี้จะได้รับค่าแรง 2.13 ดอลลาร์ หรือเพียง 70 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในอเมริกา ถ้าหากไม่ได้ทิปจากลูกค้า ก็จะมีรายได้ไม่พอกินพอใช้ ดังนั้น รายได้ของพนักงานกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับการให้ทิปของลูกค้าเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ในร้านอาหารที่จัดการอย่างเป็นระบบคือทำงานเป็นทีม ซึ่งประกอบด้วย พนักงานเสิร์ฟมีหน้าที่รับออเดอร์อาหาร พนักงานทำหน้าที่ทำความสะอาดโต๊ะหรือที่เรียกว่า Busser และพนักงานที่ถืออาหารมาเสิร์ฟจากในครัว ซึ่งเรียกว่า Runner เงินทิปที่ลูกค้าให้กับพนักงานเสิร์ฟนั้น ตัวพนักงานเสิร์ฟไม่ได้รับไปคนเดียวเต็มๆ แต่ต้องนำทิปไปแบ่งให้กับ Busser และ Runner ด้วย

ว่าไปแล้วพนักงานเสิร์ฟต้องทำหน้าที่บริการอย่างดีเพื่อหาเงินแบ่งกับลูกทีมอีก 2 คน

เรื่องการไม่ให้ทิปหรือให้ทิปน้อยจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากในสหรัฐอเมริกา หากเป็นคนดังหรือคนรวยที่มีชื่อเสียง พนักงานเสิร์ฟก็คาดหวังว่าควรให้ทิปมากตามฐานะ

ดังนั้น จึงมีข่าวซุบซิบดาราฮอลลีวู้ดอยู่เรื่อยๆ ว่าดาราคนไหนเป็นเศรษฐีใจดี คนไหนเป็นเศรษฐีขี้เหนียว ถึงกับมีการตั้งเว็บไซต์โดยบรรดาพนักงานเสิร์ฟ เพื่อชื่นชมคนดังที่ทิปหนัก และประจานคนดังที่ทิปน้อย

คนดังที่เป็นข่าวเรื่องความใจดีในการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟอยู่เป็นประจำคือ เบ็น แอฟเฟล็ก ดาราหนุ่มเจ้าของรางวัลออสการ์ ที่มีพนักงานเสิร์ฟออกมาให้ข่าวถึงความใจดีว่าให้เงินค่าทิปมากกว่าค่าอาหารอยู่เรื่อยๆ

ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีพนักงานร้านกาแฟในเมืองซานตา โมนิก้า เล่าว่า เธอได้ทิปเป็นเงินกว่า 90 ดอลลาร์ จาก เบ็น แอฟเฟล็ก ที่มาซื้อกาแฟแก้วละไม่ถึง 10 ดอลลาร์!

ในวันนั้น เบ็นมาซื้อกาแฟที่ร้านแต่เช้าตรู่ และยื่นธนบัตรใบละ 100 ดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่ากาแฟ แต่แคชเชียร์ทางร้านมีเงินทอนไม่พอเพราะร้านเพิ่งเปิด พนักงานสาวเลยบอกให้เบ็นรอสักครู่เพื่อไปเอาเงินทอนในตู้เซฟหลังร้าน

เบ็นซึ่งมีธนบัตร 100 ดอลลาร์ ติดตัวอยู่ฉบับเดียว บอกว่าไม่ต้องห่วง ให้เก็บเงินทอนไว้ เรื่องความใจดีของเบ็นสร้างความประทับใจให้กับพนักงานสาวเป็นอย่างมากและนำมาบอกต่อให้นักข่าวทราบ

ด้วยความที่เรื่องการให้ทิปรวมถึงการปฏิบัติต่อพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากในวัฒนธรรมของคนอเมริกัน จึงมีการกล่าวกันว่าจะดูนิสัยใจคอว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไรให้ดูการปฏิบัติต่อพนักงานเสิร์ฟอาหาร หากใครที่นั่งทานอาหารร่วมโต๊ะเดียวกับเรา พูดจาสุภาพกับเรา แต่หยาบกระด้าง ไม่มีหางเสียงกับพนักงานเสิร์ฟ คนคนนั้นไม่ใช่คนที่น่าคบ

นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำกันอีกว่า เวลาจีบกันใหม่ๆ หากผู้หญิงลังเลใจว่าจะคบกับผู้ชายคนนี้ต่อไปดีหรือไม่ ขอให้ดูที่การทิปพนักงานเสิร์ฟ ก็จะรู้เลยว่าผู้ชายคนนี้มีน้ำใจหรือเปล่า

แม้หนุ่มจะพาสาวไปทานอาหารร้านหรู ราคาแพง แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน กลับทิปพนักงานเสิร์ฟเพียงน้อยนิด ก็เป็นเครื่องชี้บอกได้เลยว่าผู้ชายคนนี้ไม่มีน้ำใจและขาดมารยาททางสังคม!

คอลัมน์ คลุกวงใน
พิศณุ นิลกลัด
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook