เปิดใจผอ.สมศ. คนวงในแจงเรื่องคาใจการศึกษาไทย U-NET จำเป็นหรือไม่ จุดอ่อนการศึกษาไทยอยู่ที่ไหน ?
ประเด็นการศึกษาในประเทศไทยถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าวงการการศึกษาไทยจะยังเผชิญกับปัญหาต่างๆมากมายรวมไปถึงเรื่องการทดสอบวัดคุณภาพมาตรฐานต่างๆรวมไปถึงกรณีล่าสุดเรื่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือ U-NET ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องรายละเอียดของการสอบไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ การใช้ผลการสอบ และรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังไม่มีความชัดเจนจนสร้างความสับสนให้กับฝ่ายนักศึกษากลายเป็นกระแสต่อต้านในที่สุด
แม้ว่าทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่ประสงค์จะนำผลการศึกษาไปใช้ประเมินคุณภาพสถาบันการศึกษาอีกต่อไป แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องมีการพิจารณาให้ได้ข้อสรุปในเดือนมิถุนายนนี้ว่าจะมีการใช้ตัวชี้วัดใดในการประเมินคุณภาพการศึกษารอบที่4
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า สมศ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะนำผลการทดสอบมาตรฐานการศึกษามาใช้ โดยใช้ 2 ส่วน คือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ TQF 5 ด้าน และความพึงพอใจของนายจ้างซึ่งเป็นผู้ใช้งานบัณฑิต
ในปัจจุบันสมศ.ใช้ผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาซึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าต่างคนต่างประเมินคณะ และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งประเมินแตกต่างกันออกไปทำให้มีคำถามเรื่องมาตรฐานกลาง ที่ผ่านมามีการเสนอให้หน่วยงานกลางเข้ามาประเมินแต่ยังอยู่ระหว่างการเสนอพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เคยรับอาสาทำและพัฒนามาเรื่อยๆจนคลอดออกมาเป็น U-NET
ดร.ชาญณรงค์ ระบุว่า U-NET ส่วนหนึ่งมีปัญหาที่การสื่อสาร คนที่รับสารและคนที่ส่งสารเข้าใจไม่ตรงกันจนกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ในมุมมองดร.ชาญณรงค์ เชื่อว่า การทดสอบกลางนั้นโดยหลักการแล้วเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น ไล่มาตั้งแต่ O-NET, V-NET มาจนถึง U-NET
"ที่มาที่ไปคือ สถานศึกษา และครูต่างสอนเองและสอบเอง ต่างจากสมัยก่อนที่มีข้อสอบกลาง เมื่อเกิดกระจายอำนาจไปก็เริ่มมีการสอนและสอบเองเลยต้องมีการทดสอบแห่งชาติขึ้นมาตามช่วงชั้นเพื่อเทียบคะแนนของโรงเรียนกับคะแนนกลางต่างกันอย่างไรถ้านักเรียนได้ GPAX หรือผลการเรียน (เกรด) ต่ำ แต่สอบ O-NET สูงแสดงว่าโรงเรียนกดเกรด หลักการดีแต่ระบบไม่ใช่ เพราะ ตรงนี้ไม่ใช่เป็นการสอบเพื่อจบชั้นการศึกษา ใครสอบหรือไม่สอบก็ได้ คนที่สอบตั้งใจหรือไม่ก็ได้ คะแนนออกมาก็ถูกตั้งคำถามว่าสะท้อนคุณภาพจริงหรือไม่ และมีการหยิบคะแนนนี้ไปเป็นองค์ประกอบในการเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะ O-NET ไม่ใช่ข้อสอบที่จำแนกคนเก่งหรือไม่เก่งและก็มีการตั้ง GAT/PAT มาอีก" ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ กล่าว
สำหรับเหตุผลที่บอร์ดระงับการสอบนำร่องของ U-NET นั้น ดร.ชาญณรงค์ อธิบายว่า บอร์ดพิจารณาจากที่สทศ.ประกาศสอบ 4 ชุดวิชา โดยเห็นว่าเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งระหว่างเรียนก็มีการสอบเยอะอยู่แล้ว แต่จริงๆแล้วต้องการวัดคุณลักษณะในภาพรวม ในความเป็นจริงเราต้องการเห็นคุณลักษณะ 5 ด้าน และความพึงพอใจในการใช้บัณฑิต ตามที่ชี้แจงไปข้างต้น พอสทศ. ไม่ได้ทำครอบคลุมในประเด็นนั้นเมื่อทำแล้วไม่ครบก็ต้องรอให้สทศ. พัฒนาให้สมบูรณ์จึงจะหยิบมาใช้
ขณะที่ประเด็นเกณฑ์การวัดมาตรฐานคุณภาพซึ่งถูกนักศึกษาตั้งคำถามนั้นดร.ชาญณรงค์ เปิดเผยว่า ในทางแนวคิดแล้วต้องคิดว่าทุกอย่างวัดได้ ทำได้ก่อน จึงจะเกิดการปฏิบัติการขึ้น ถ้าคิดว่าวัดไม่ได้ก็จะไม่มีใครลุกมาสร้างเครื่องมือ คิดว่าการทดสอบวัดคุณภาพตรงจุดนี้จะเป็นการวัดมาตรฐานร่วม สำหรับสมศ.แล้วอาจวัดที่ output (ผลลัพธ์) หรือวัดที่ process (กระบวนการ)
"เรื่องคุณธรรม จริยธรรมวัดยาก แต่เราก็พยายามสร้างแบบทดสอบ สร้างแบบวัด มันก็อยู่ที่แบบวัดว่าจะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่ อีกประเด็นคือแบบวัดจำเป็นต้องใช้เฉพาะกระดาษกับดินสอหรือเปล่า หรือมันเชยไปแล้ว อาจเอาสถานการณ์จำลองมาใช้ไหม หรืออาจแปลงแบบวัดให้มีมิติอื่นไหม ยกตัวอย่างเช่น สมศ. ทำเรื่อง ′ผู้เรียนเป็นคนดี′ ตรงนี้ก็เกี่ยวกับ TQF แต่เราประเมินทั่วประเทศ สรุปได้ว่า เราอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับเยาวชน แทนที่จะกู้ยืมมาเรียน ทำอย่างไรที่จะลุกขึ้นมาสร้างวัฒนธรรมการทำงาน"
อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญณรงค์ ให้ความเห็นว่า นักเรียนไทยตกอยู่ท่ามกลางแนวคิดการศึกษาใหม่กับเก่า ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ซึ่งทั้ง 2 วิถีมีเสน่ห์ต่างกัน
"สงสารนักเรียนไทย บังเอิญตอนนี้วัฒนธรรมการศึกษามันผสมสานกัน และสื่อต่างๆก็มีความเร็วทำให้เกิดสับสน ฝรั่งให้เรียนแบบเถียง เสน่ห์การเถียงก็ดี อีกจุดหนึ่งที่ดีคือเด็กทุกคนทำงานช่วยเหลือตัวเอง แต่สำหรับเราเอาระบบเถียงมาแต่ไม่ทำงาน ฐานคิดของเราก็อยากสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้กับเยาวชน ถามว่า ความเป็นคนดี ดูตรงไหน รับผิดชอบ มีวินัย ซื่อสัตย์ ขยัน กตัญญู มันขึ้นอยู่กับคำนิยามแต่ละที่ว่านิยามคนดีอย่างไร ถ้านักเรียนคนหนึ่งไปทำงานเกิดอะไรบ้าง ทำงานก็ต้องรับผิดชอบ อดทน ต้องมีวินัย ทำงานก็มีรายได้เห็นคุณค่าของเงินก็ประหยัด สิ่งเหล่านี้จะเกิดผ่านการทำงาน
ถามว่า บางคนไม่ทำงานได้ไหม ก็ตอบได้ ก็ทำกิจกรรม อย่างคนที่เรียนอย่างเดียวไม่ทำกิจกรรม สู้คนที่เรียนแล้วทำกิจกรรมไปด้วยไม่ได้แน่ๆ ถ้าไม่ทำกิจกรรมได้ไหม ก็ไปบำเพ็ญประโยชน์ เราเลยบอกว่า ผู้เรียนที่เป็นคนดี เป็นผู้เรียนที่พัฒนาด้านต่างๆผ่านการทำงาน ทำกิจกรรม และบำเพ็ญประโยชน์" ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
สำหรับนักศึกษาแล้วคงตั้งคำถามเรื่องการวัดสิ่งเหล่านี้ ผอ.สมศ. ชี้แจงแนวทางนี้ว่า คงต้องวัดที่ Process หรือ กระบวนการ ให้เด็กได้สัมผัสงานหรือกิจกรรมอย่างน้อยกี่ครั้ง ต่อคน/ต่อปี ก็หวังว่ามันอาจนำไปสู่แนวทางอีกทางหนึ่ง ส่วนการประเมินสถาบันก็ต้องเชื่อมั่นคะแนนของสถาบันที่นำเสนอมาว่านักเรียนกี่คนเข้าสู่งานตามที่เรากำหนด
อย่างไรก็ตามผอ.สมศ. แสดงความคิดเห็นว่า การทดสอบกลางทั้งหลายนั้นควรแก้ปัญหาที่ระบบในด้านรูปแบบการสอบให้เป็นการสอบ Exit Exam หรือการสอบจบการศึกษาอย่างจริงจังแต่ถือเป็นวิธีสุดโต่งที่เป็นไปไม่ได้ในยุคนี้ การบังคับให้ทุกคนสอบก็อาจไม่สะท้อนภาพรวมจริงๆ การสอบที่ประหยัดงบอาจให้สถานศึกษาคัดคนจำนวนหนึ่งที่สามารถเป็นตัวแทนได้ตามหลักการสถิติแต่ท้ายที่สุดก็จะเกิดแคมป์ติวขึ้นอีกที่สุดแล้วเมื่อมีข้อดีก็จะเกิดข้อเสียเสมอ
เมื่อถามว่าแนวทางการสอบแบบไหนที่จะให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งนักเรียน สถานศึกษา และระบบด้วย ผอ.สมศ. ยอมรับว่า ตรงนี้น่าเห็นใจสทศ. เพราะการวัดมาตรฐานของสถานศึกษาก็ต้องดูที่ตัวเด็กซึ่งต้องวัดที่ผลผลิต กลายเป็นการซ้ำเติมเด็ก สถาบันจำนวนหนึ่งก็ไม่รับผิดชอบ สถาบันจำนวนหนึ่งก็เปิดหลักสูตรที่ไม่ผ่านการรับรองจนผลิตบัณฑิตมามาก เด็กนักเรียนมีหนี้สิน ตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ที่สกอ.
ดูเหมือนว่าการสอบวัดมาตรฐานตรงนี้เกิดปัญหามากมายคำถามที่หลายฝ่ายถามคือ จริงๆแล้วจำเป็นต้องมีการสอบวัดมาตรฐานในสถานศึกษาอีกหรือไม่ในอนาคต ผอ.สมศ. แสดงความคิดเห็นว่า มีได้ก็ดี เพราะจะสะท้อนภาพรวม โดยจะไปดูแลนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสถานศึกษาที่ด้อยคุณภาพ แต่ถามว่าจำเป็นไหม ถ้าหน่วยงานกลางมีกำกับดูแลอย่างดี สิ่งเหล่านี้ก็ลดความจำเป็นลงไปอีกเยอะหรืออาจไม่จำเป็นเลยก็ได้
"การศึกษายุคใหม่รูปแบบการทดสอบต้องเปลี่ยนจะวัดความจำก็ยังจำเป็นแค่ขั้นพื้นฐานเพราะมนุษย์เริ่มจากความจำ ฉะนั้น จากความจำก็ต้องยกระดับมาเรื่องคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์ ตัววิธีการต้องเปลี่ยน จะมานั่งใช้กระดาษ ดินสอ และกาตัวเลือก ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว อาจใช้ได้ในบางประเด็นแต่ตอนนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ถามว่า คุณภาพเยาวชนด้อยลงจริงไหม ถ้าใช้ข้อสอบเดิมมาวัด เยาวชนก็จะด้อยลงทุกวัน คุณภาพเปลี่ยนไปตามเวลา ตอนนี้เราดูถูกเด็กไม่ได้ เด็กไม่มีเวทีว่าผู้ใหญ่ ถ้าเด็กมีเวทีว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ยิ่งด้อยใหญ่เลย" ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ผอ.สมศ. เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษายุคที่ 1 ทำให้เกิดสมศ.ทำเรื่องสะท้อนคุณภาพของสถาบัน ถ้าทศวรรษที่ 2 ถามว่า หายไปไหน ก็ต้องบอกว่า พอเปลี่ยนรัฐบาลมันก็หายไป และเชื่อว่า ต้องเริ่มจากรัฐบาลดีที่สุด
"การจะเริ่มจากรัฐบาล บางทีระดับล่างก็จำเป็น ลุกขึ้นมาเสนอ ทุกรัฐบาลอยากได้แนวคิดดีดีไปขับเคลื่อน กลุ่มนักวิชาการที่เรียนการวัดผลต้องลุกขึ้นมาคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ" ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
ดร.ชาญณรงค์ กล่าวเสริมว่า จุดอ่อนอย่างหนึ่งในระบบคือเรื่องผู้ใหญ่ซึ่งมักติดกรอบ ติดทฤษฎี และหลักการแบบเดิมๆ โดยอาจไม่ได้มองว่า วันหนึ่งกรอบทฤษฎีเหล่านี้ก็ล้าสมัย ตอนนี้ถ้าใครไม่เปลี่ยนอะไร แม้แต่ธุรกิจต่างๆก็ตายหมด
การศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คงต้องดูภาพรวมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร และฟังเสียงของเด็กซึ่งเป็นผู้ได้รับผลโดยตรง