"นาวิน ต้าร์" มนุษย์พันธุ์แกร่ง
ก่อนจะมาเป็น "ดร.นาวิน เยาวพลกุล" ในวันนี้ เรื่องราวชีวิตของเขาโลดโผนพอตัว ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเลือดร้อนมีเรื่องชกต่อยจนถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึง 2 ครั้ง คือ สาธิตปทุมวัน และสาธิตประสานมิตร
กระนั้นเขาได้ฮึดกลับมาตั้งใจเรียน สอบเข้าเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เทียบวุฒิ ม.6 แล้วเอ็นทรานซ์เข้าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง
แถมยัง โด่งดังเป็นนักร้องขวัญใจวัยรุ่นในนาม "นาวิน ต้าร์"
เรื่องราวของเขาเงียบหายไปพักใหญ่เมื่อคราวที่ได้ทุนอานันทมหิดลศึกษาต่อปริญญาโท-เอกที่สหรัฐอเมริกา
กระทั่งกลับมาฮอตอีกรอบเมื่อปรากฏข่าวคราวการคบหากับสาวเปรี้ยวแห่งยุค พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ และแม้จะเลิกรากันไปในที่สุด นาวิน ต้าร์ ก็ยังได้รับความสนใจจากสื่ออยู่สม่ำเสมอ ในหลายบทบาท ตั้งแต่การเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ยังคงรับงานแสดงควบคู่ไปด้วย
และบทบาทล่าสุด นักไตรกีฬา ที่ต้องอาศัยความฟิตทั้งร่างกาย และจิตใจอย่างหนัก!
ทั้งหมดนี้มาจากความเชื่อของเขาว่า มนุษย์เรามีศักยภาพด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่ที่ว่า ทำ หรือ ไม่ทำ
ชมคลิป
"เวลาเราเห็นคนเก่ง ไม่ใช่แค่ว่าคนนี้เก่ง แต่ประเด็นคือ เพราะว่านั่นไม่ใช่เรา เราก็เลยมองว่าคนนั้นสุดยอด แต่ถ้าเราเป็นเขา สิ่งที่เขาทำอยู่ก็เป็นเพียงแค่เขาทำได้ดีกว่าตัวเขาเองในเมื่อวานเท่านั้นเอง เพราะเขามีเวลากับมันมากกว่าเรา เขาเริ่มที่จะทำ และเอาใจไปใส่กับมัน ถ้ามองได้อย่างนี้จะรู้ว่าทุกคนมีเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าใครทำหรือไม่ทำ มันคือการสร้างกำลังใจ คือ ถ้าคุณอยากจะเป็นอะไรคุณก็เริ่มทำมันซะ ถ้ามันจะอยู่ไกล อย่างน้อยมันก็เป็นเป้าหมาย มันไม่ใช่แค่ความคาดหวัง"
"สำหรับผมทำทั้งทีก็ต้องเต็มที่ ถ้าครึ่งๆ กลางๆ ไม่ทำดีกว่า" นาวิน ต้าร์ เริ่มต้นบทสนทนาที่สะท้อนความเป็นตัวเองอย่างแจ่มชัด ไม่ว่าจะเป็นการเรียน เล่น หรือทำงาน กับ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
บทบาทนักไตรกีฬานี้ เขาเอาจริงเอาจังถึงขั้นประกาศว่า จะไปแข่งขันไอรอนแมน ที่ฮาวาย ก่อนอายุ 40 ปีให้ได้
ซึ่งการแข่งขันโปรแกรมนี้คือการประลองกำลังของยอดมนุษย์เหล็กของแท้ การแข่งขันประกอบด้วย 3 กีฬา คือ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ด้วยระยะทาง 3.8/180/42 กิโลเมตร ตามลำดับ
"ปีนี้ก็คิดว่าอยากจะได้ครึ่งหนึ่งของไอรอนแมน ปีหน้าจะวิ่ง 100 กิโลให้ได้ ตอนนี้อายุ 35 ปีแล้ว ก็อีกประมาณ 5 ปี คงจะไปไอรอนแมน" บอกอย่างแน่วแน่
ก่อนที่จะมาเล่นกีฬาถึงจุดนี้ ต้าร์เล่าว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากอาการเจ็บป่วยสมัยเรียนที่เมืองนอก
"ตอนนั้นป่วย เพราะว่าความเครียด เป็นไส้ติ่งอักเสบ ครั้งที่ 2 ซึ่งในเคสแบบนี้แทบจะหาไม่ได้เลย มันประหลาดมาก" ต้าร์หัวเราะชอบใจ ก่อนจะบอกว่าช่วงเวลานั้นเครียดมาก เพราะตอนเช็กร่างกายหมอบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็ง ซึ่งทำให้เขาใจแป้ว แต่โชคดีที่เป็นเพียงไส้ติ่งอักเสบ จากนั้นก็คิดมาตลอดว่าจะต้องออกกำลังกาย
แต่ด้วยความที่เป็นคนทำอะไรต้องทำให้สุด การออกกำลังกายจึงไม่ธรรมดา!
"พอวิ่งได้ก็เริ่มอยากจะวิ่งมาราธอน พอไปวิ่งจริง ก็เข้าเส้นชัยแต่แทบตาย จะมีศัพท์นักวิ่งเรียกว่าชนกำแพง หรือในหนังรัก 7 ปีฯ เขาบอกว่าเจอปีศาจ คือกำแพงที่ว่ามันคือความล้มเหลวของร่างกายที่มันไม่ไปตามที่ใจคิด ใจเราคิดอยากขยับ แต่มันขยับไม่ได้ สุดท้ายก็เป๋ๆ ไปถึงเส้นชัย ตอนเห็นเส้นชัยก็วิ่งออก คือ ทำเป็นวิ่งเท่ แต่ก็ทุเรศมาก น่าเกลียด เลยปฏิญาณว่าจะซ้อมให้ดีกว่านี้"
ต้าร์เล่าว่า คนถามว่าทำไมต้องวิ่ง ก็ตอบยาก ซึ่งนักวิ่งทุกคนก็มีคำถามนี้เหมือนกันเวลาที่เหนื่อย ท้อ แต่วิธีเดียวที่จะตอบคำถามนี้ได้ คือ เหมือนปรัชญาชีวิต เรามาเพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าเท่านั้น เรามาอยู่ที่นี่เพื่อที่จะทำให้ดีที่สุดในทุกก้าว ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ละสายตาจากเป้าหมาย อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น เมื่อคิดแบบนี้เราก็จะไปต่อได้เรื่อยๆ จะติด และรักกีฬาแบบนี้ คือมันสอนให้เราคิดให้ดีที่สุด สอนให้เราคิดบวก
แม้ว่าจะลำบาก ถึงจะก้าวขาไม่ออกแต่อย่างน้อยก็เข้าใกล้เส้นชัยสักนิดหนึ่ง
จากวิ่งเริ่มมาเล่นไตรกีฬาแบบไม่ตั้งใจ
"วันหนึ่งไปงานที่จังหวัดเลย เราไม่เคยขึ้นภูกระดึง ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก คนบอกว่าสวยมาก เพื่อนก็บอกว่าสนุกมาก พอเราได้มาก็ลุยเดี่ยว แต่เวลามีไม่พอ ก็เลยพยายามวิ่งขึ้นให้เร็วที่สุด แล้ววิ่งลงให้เร็วที่สุด เพราะเรารู้ว่าเราทำได้ ซึ่งก็ทำได้จริงๆ แต่ว่าบาดเจ็บ แล้วกลับมายังต้องแข่งกรุงเทพฯ มาราธอนด้วย ทำให้บาดเจ็บจากการวิ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้มาเริ่มปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ แทน เราก็เอ้ย...นี่มันไตรกีฬานี่ ก็เลยมาลองไตรกีฬา"
นอกจากวิ่ง จักรยาน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ นาวิน ต้าร์ หลงใหล
"ขี่จักรยานมันสนุกตรงที่เวลาทุกคนกลับมาอยู่บนจักรยานอีกครั้งหนึ่งจะรู้สึกว่าเหมือนเป็นเด็กเป็นความอิสระที่ออกไปได้ไกลกว่าหน้าบ้านเหมือนกันกับคนที่ขี่ในกรุงเทพได้ ก็อยากออกต่างจังหวัด นอกจากเรื่องนั้นก็จะเป็นเรื่องของความที่คนมันบ้าแกดเจ็ต บ้าอุปกรณ์ (หัวเราะ)"
"จักรยานสำหรับต้าร์เป็นทั้งกีฬา และชีวิต อย่างในกรุงเทพฯ รถติดมาก เชื่อไหมถ้าเราเปลี่ยนมาใช้จักรยานในกรุงเทพฯ ถ้าไม่นับอากาศร้อน ตากแดดนะ ต้าร์พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถไปได้เร็วกว่ารถทุกคัน ไปถึงที่หมายได้เกือบทุกที่ก่อนเพื่อนทุกคน สมมติจากสุขุมวิทมา ม.เกษตรฯ ประมาณ 10 กิโลฯ ก็ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ต้าร์จะปั่นเส้นรัชดาฯ ก็โทร.ไปบอกที่บ้านว่าจะนัดกินข้าวทุ่มนึง เราก็ออก 6 โมงครึ่ง เราก็ถึงภายในครึ่งชั่วโมงจริงๆ รักษาเวลาได้พอดีเป๊ะ แล้วได้ออกกำลังกายด้วย ไม่ต้องกลัวว่ารถจะติดแค่ไหน เพราะเราอยู่หน้าสุด แล้วอยู่บนอานเราเห็นทิวทัศน์ที่สูงกว่าชาวบ้าน นึกออกไหม มันโอ้โห มันดีกว่ามาก (เน้น) รู้สึกว่ามัน แชมป์อ่ะ รู้สึกเป็นหัวหน้า เพราะสองข้างทางติดกันหมด แต่เรานี่ ฟิ้ว...ไปข้างหน้า" เจ้าตัวบอกอย่างภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม นาวิน ต้าร์ ยอมรับว่าความปลอดภัยในกรุงเทพฯ ยังไม่ดีนัก ไม่เหมือนเมืองจักรยานอื่นๆ อย่าง อัมสเตอร์ดัม หรือโตเกียว
"แต่เราก็ถูไถ ทำให้ดีที่สุดกับสถานการณ์ที่เรามีอยู่ แต่ทุกคนต้องเข้าใจว่า การที่คนหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น นี่คืออนาคตนะครับ เมืองอนาคตเป็นเมืองที่คนรวยจะเริ่มมาใช้ระบบสาธารณะควบคู่ไปกับพาหนะที่มันเป็นพาหนะในระยะสั้น เช่น จักรยาน ซึ่งต้าร์ก็มีความหวังว่าซักวันหนึ่งมันจะดีขึ้น ซักวันหนึ่งคนไทยก็คงเลิกที่จะชอบผิวขาว อาจจะชอบที่จะเป็นตัวดำๆ กัน เราก็ขี่จักรยานแบบตัวดำกันมากขึ้น"
ต้าร์บอกพร้อมเผยยิ้มบางๆ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าชอบกิจกรรมขนาดนี้ แล้วงานอาจารย์ นาวิน ต้าร์ มองอย่างไร
"สำหรับต้าร์ เวลาที่ไปมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่คิดคือ พยายามที่จะไปมอบให้กับสังคม คือ งานอาจารย์เป็นงานที่ต้องเสียสละ ต้องมีความรักให้กับลูกศิษย์ ทุกคนต้องเป็นไปเอง จะถูกบังคับด้วยหน้าที่ด้วยงานที่ทำอยู่"
เมื่อถามว่าภาพพจน์อาจารย์ต้าร์ในสายตานิสิต
"ก็โหดเหมือนกันนะเราก็จริงจังก็โหดอ่ะ ไม่ง่ายครับไม่ง่าย"
"นิสิตเขาบอกว่าต้าร์ดุ แต่ต้าร์พยายามลดความดุลงนิดนึง คือ คนไม่เป็นครูจะไม่รู้ว่าที่ดุเพราะว่าไม่อยากจะปล่อยให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น คือ ยิ่งใส่ใจมาก มันก็จะยิ่งแสดงออกเรื่องของการดุมาก ถ้าไม่ดุเขาจะงงในบทบาทของเรา คือ ต้าร์เอาจริงเอาจัง ทำอะไรก็เอาจริง (หัวเราะ)"
นาวิน ต้าร์ อธิบายว่า อาชีพครูคืออาชีพของการที่เอาตัวเข้าไปช่วยให้การศึกษามีความหมาย ไม่อย่างนั้นเด็กก็ผ่านระบบมาแล้วก็ผ่านไป ปั๊มๆ ออกไป แล้วออกมาก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ
"ต้าร์มองว่าอาชีพของครูที่เราทำ เราให้ความรักกับอาชีพนี้ ซึ่งตัวต้าร์ลงทุนกับงานวิชาการตั้งเป็น 10 ปีนะ ตั้งแต่เรียนมากระทั่งเป็นอาจารย์ได้ต้องอาศัยความพยายาม และความที่เรารักในอาชีพครูเพื่อที่จะสอนให้เด็กเขาไปคนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต"
และความรักในอาชีพนั่นเองคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทำให้นาวิน ต้าร์ ได้ทำงานต่อ แต่หลายครั้งเขาต้องเจอกับคำถามเสียดสี ว่าทำไมต้องทำอะไรมากมาย เป็นอาจารย์แล้วทำไมต้องเป็นดารา หรือเป็นดาราแล้วยังจะสอน จะเอาทุกอย่างเลยหรือ
"คือคนจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ต้าร์ต้องการคืออะไร อย่างที่บอกคือ คนเราจะมีโซนที่รู้สึกว่าสบายที่สุด คือ ฉันจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะฉันคิดว่าอันนี้โอเคแล้ว นั่นคือ คอมฟอร์ตโซน เช่น ร้านอาหารที่ไปกินประจำ เพื่อนกลุ่มเดิม แต่ต้าร์ไม่ต้องการคอมฟอร์ตโซน บางครั้งเราอยู่ในคอมฟอร์ตโซนเยอะเกินไปเราก็รู้สึกว่าทำไมมันซ้ำเบื่อ ก็อยากจะกระโดดไปทำอย่างอื่นแปลกๆ บ้าง ที่มันยากๆ"
"พอทำแล้วรู้สึกยาก เราก็ยิ่งอยากทำ"