ผลวิจัยชี้′เด็กไทย′ไอคิวต่ำ แพ้มาเลย์-เวียดนาม-อินโดฯ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยกรณีผลการวิจัยโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน หรือ SEANUTS (South East Asia Nutrition Sur) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) พบว่าเด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย อ้วน เตี้ย และไอคิวต่ำ ว่า ปัจจุบันมีการดูแลเด็ก จะดูแลทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และการศึกษาควบคู่กันไป โดยส่วนตัวเห็นว่า ในภาพรวมของเด็กไทย ด้านสติปัญญา ภาวะทุพโภชนาการไม่น่าจะต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากในปัจจุบันสุขภาวะเด็กไทยอยู่ในระดับที่ดี
ด้านนางนิภา โรจน์รุ่งวศินกุล หัวหน้าหน่วยชีวสถิติ และหัวหน้าโครงการสำรวจฯ กล่าวว่า ปัญหาเด็กไทยมีภาวะทุพโภชนาการที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข เห็นได้ชัดเจนจากผลการวิจัยของ SEANUTS ระหว่างปี 2554-2555 เปรียบเทียบระดับสติปัญญาในเด็กอายุ 6-12 ปี ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ภาพรวมพบว่า เด็กไทยมีสติปัญญาค่อนข้างด้อยกว่าประเทศอื่นๆ โดยพบว่า เด็กเวียดนามมีระดับไอคิวล่าช้ากว่าปกติ หรือมีระดับไอคิวต่ำกว่า 80 ถึง 25.7% ของจำนวนเด็กที่สำรวจทั้งหมด รองลงมาคือไทย 14.7% มาเลเซีย 10.1% และอินโดนีเซีย 6.8%
"เด็กไทยมีไอคิวระดับดีเลิศ 120 ขึ้นไป เพียง 1.9% มาเลเซีย 10.7% เวียดนาม 10.8% และสูงสุดคือประเทศอินโดนีเซีย 15.3%" นางนิภากล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า เรื่องทุพโภชนาการของเด็กนั้น สธ.จะทำงานร่วมกับโรงเรียน โดยส่วนมากโรงเรียนจะให้ข้อมูลเรื่องนี้กับเด็ก และมีการให้ข้อมูลกับผู้ปกครอง แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่เห็นความสำคัญในการควบคุมอาหาร หรือทำให้ลูกได้รับอาหารที่มีสารอาหารอย่างครบถ้วน และผู้ปกครองต้องสร้างภาวะที่ไม่ส่งเสริมการเป็นโรคอ้วนของเด็กด้วย เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของเข้าบ้าน อาจลดปริมาณการซื้อขนมถุงเข้าบ้าน ลดปริมาณขนมหวานที่เคยซื้อ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้ไม่มีขนม และสร้างกิจกรรมให้เด็กทำนอกบ้านเพื่อเป็นการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพที่ดีอีกทางหนึ่ง