ตื่นมาเช็ก ก่อนนอนอัพ ชีวิตคนยุคใหม่ "ขาดเน็ตเหมือนขาดใจ"

ตื่นมาเช็ก ก่อนนอนอัพ ชีวิตคนยุคใหม่ "ขาดเน็ตเหมือนขาดใจ"

ตื่นมาเช็ก ก่อนนอนอัพ ชีวิตคนยุคใหม่ "ขาดเน็ตเหมือนขาดใจ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ถูกใจต้องแท็ก โดนใจต้องแชร์ ต้องติดตามต่อ อยากคุย อยากเมาธ์ ต้องแชต อยากแสดงความคิดเห็น มีอิสระทางความคิดต้องโพสต์เป็น อาการของโลกสังคมออนไลน์ ที่ตอนนี้ใครๆ ก็ทำอย่างอัตโนมัติโดยไม่มีรู้ตัว สังคมออนไลน์ที่มีระบบอินเตอร์เน็ตเป็นตัวโครงข่ายหลักที่ใช้ในการสื่อสาร แทบจะเรียกได้ว่า "ปัจจัยที่ 5" ที่คนยุคปัจจุบันนี้ขาดไม่ได้ กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับ อากาศ อาหาร น้ำ และไฟฟ้า

ยิ่งคน "เจเนอเรชั่น วาย" หรือ "เจนวาย" (Gen Y) ด้วยแล้วละก็ อินเตอร์เน็ตและเครื่องมือติดต่อสื่อสารอย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเทคโนโลยีต่างๆ แทบไม่เคยห่างตัว บางคนนอนไปพร้อมกับโทรศัพท์ แท็บเล็ต เลยก็มี เหมือนกับเป็น "อวัยวะ" อีกชิ้นที่งอกเพิ่มขึ้นมาในร่างกาย

นายจตุพล นามนาย อายุ 21 ปี ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ เล่าว่า อินเตอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปเสียแล้ว

"ขาดอินเตอร์เน็ต ไม่ได้ ไม่มีไวไฟ หรือ 3G เอาไว้ใช้ เหมือนกับชีวิตตกข่าว ไม่สามารถติดตามข่าวสารอะไรของใครได้เลย มันทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น อีกอย่างการเล่นเน็ต ก็เหมือนเป็นการคลายเครียด หากไม่มีเน็ต ไม่มีไวไฟ ไม่มี 3G ชีวิตคงเฉาแน่ๆ"

วัยรุ่นหลายคนคงเป็นเช่นนี้ ดูจากจากผลการศึกษาวิจัยของ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เผยข้อมูลผลสำรวจเทคโนโลยีหัวข้อ Connected World เมื่อปี 2556 พบพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ทั่วโลกน่าตกใจ ต้องการเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กและอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่นอน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% คนกลุ่ม Gen Y ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า พวกเขาเช็กสมาร์ทโฟนเพื่อดูข่าวคราวอัพเดตในอีเมล์ ข้อความ และโซเชียลมีเดีย ก่อนจะลุกจากเตียง

ทั้งนี้ ร่างกายของมนุษย์เรามีกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น และสมาร์ทโฟนเปรียบได้กับกระดูกชิ้นที่ 207

สำหรับ คนรุ่น Gen Y ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 คนระบุว่า พวกเขารู้สึกกระวนกระวาย เหมือนกับว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต ถ้าไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเชื่อมต่อทุกที่ทุกเวลา

ผู้ตอบแบบสอบถาม 98% ระบุว่า ตนเองใช้เวลาเท่ากันหรือมากกว่าสำหรับการติดต่อเพื่อนฝูงทางออนไลน์ เมื่อเทียบกับการพบปะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว โดย 9 ใน 10 เชื่อว่าแต่ละคนมี "ภาพลักษณ์ออนไลน์" และ "ภาพลักษณ์ออฟไลน์" ที่แตกต่างกัน

กลุ่ม Gen Y กว่า 87% ยอมรับว่าออนไลน์เฟซบุ๊กตลอดเวลา และ 97% มีการอัพเดตเฟซบุ๊กวันละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย

น.ส.วรัญ ญา ฟังบาง อายุ 23 ปี ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นอีกหนึ่งในตัวแทนคนยุคเจนวาย ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและระบบอินเตอร์เน็ตแชร์เรื่องราวผ่านสังคมออ นไลน์ซึ่งมีความสำคัญกับชีวิตไม่น้อยว่า "ถ้าขาดเน็ตไปคงอึดอัดน่าดู เหมือนกับการที่เราทำอะไรทุกวัน จนเคยชินแล้ว อยู่ๆ ก็ไม่ได้ทำ เคยรู้เรื่องราวความเป็นไปของสังคมอย่างรวดเร็ว แต่อยู่ๆ ก็ไม่รู้ มันคงหงุดหงิดมาก"

"เดี๋ยวนี้ไวไฟ และ 3G สำคัญมาก ในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ดูรายการย้อนหลังหรือการอัพโหลด ดาวน์โหลดหนัง เพลง รูปถ่าย ข่าวสาร ถ้าไม่มี มันคงจะแย่มากๆ เหมือนการถูกปิดหูปิดตา"

ทางด้าน นายกิจณรงค์ แสงศิริสัมปันโน อายุ 22 ปี ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กลับไม่เป็นเช่นนั้น "ผมขาดได้ ไม่มี ไวไฟหรือ 3G ก็ไม่เป็นไร" เขาบอกอย่างมาดมั่น

"ปกติ นานๆ ครั้งที่เข้าไปดู ไปเช็กอิน จริงๆ มันก็สำคัญในการทำงาน ในการติดต่อสื่อสารเหมือนกัน เพียงแต่ว่า ผมไม่ค่อยได้อัพ โพสต์ แท็กชื่อ แชร์อะไรเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ใช้ในการติดต่องานกับเพื่อนๆ มากกว่า"

ขณะ ที่นายธนาคม ดวงคำ อายุ 21 ปี ชั้นปีที่ 3 คณะบริหาร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ไม่มีเน็ต ไม่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ "มันคงเหงามาก"

"แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร คือจริงๆ ชีวิตจริงคนเราก็อยู่ได้โดยที่ไม่มีเน็ตนะ ถึงแม้ว่าคนยุคเราจะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี เราก็ต้องแยกแยะให้ออกว่า เรื่องไหนชีวิตจริง เรื่องไหนโลกออนไลน์"

โดยคนรุ่นใหม่ยุคเจนวาย เหล่านี้ต่างก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า พอลืมตาตื่นนอนขึ้นมา ก็ต้องเปิดดูหรือเช็กแอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆ

"ตื่นมาแล้วต้องดู เป็นประจำบนที่นอนคือ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม การเปิดดูแบบนี้ คือการเช็กข่าวสารต่างๆ รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรานอนหลับหรือช่วงเวลาที่เราหายไป จากโลกออนไลน์"จะว่าไปแล้ว เรื่องของการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในโลก ปัจจุบันไม่น้อย เพียงแค่ใช้ให้ถูกวิธี ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ทำร้ายตัวเองและส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างน่าจะดีที่สุด!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook