′เดิน′ ให้เป็น ช่วยดูแลสุขภาพ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โดย ธิม โพธิศาสตร์
การเดิน ให้อะไรดีๆ มากกว่าที่คิด
นอกจากเป็นวิธีออกกำลังกายที่แทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันแบบที่เราแทบไม่รู้ตัวแล้ว ยังสามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย แถมให้ผลดีกับร่างกายอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น ช่วยเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดความตึงเครียด ความโกรธ ความเหนื่อยล้า และความวิตกกังวล ช่วยให้การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น ซึ่งอวัยวะทั้งสองนี้มีความสำคัญต่อเซลล์ต่างๆ ทุกส่วนของร่างกายจำเป็นต้องได้รับเลือดที่นำเอาออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงตลอดเวลา นอกจากนี้ การเดินยังลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ
ที่สำคัญ ยังสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า คงความเยาว์วัยตลอดกาล...ฟิตทั้งกายและใจเลยทีเดียว
ชาญณรงค์ ธีระโรจนารัตน์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์การ์มิน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพในปัจจุบันของคนไทย พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพ และใส่ใจในรายละเอียดการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว สุขภาพที่แข็งแรงเปี่ยมพลังในการดำเนินชีวิตก็สำคัญไม่แพ้กัน
"ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพและการออกกำลังกายได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อจำกัด ด้วยไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างที่ต้องการ จึงแนะนำให้เริ่มจากการเดิน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุน และยังทำได้ทุกที่ทุกเวลา" ชาญณรงค์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านออกกำลังกายจากเดอะ แล็บ แขกรับเชิญพิเศษในทริป "การ์มิน อีท มีทส์ ฟิต" (Garmin EAT MEETS FIT) แนะนำเทคนิคการดูแลสุขภาพง่ายๆ ที่ทำได้ทุกเวลาสำหรับคนที่ต้องการมีสุขภาพดี โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศ ซึ่งมีชีวิตเร่งรีบและไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองว่า การมีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรามีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน วิธีง่ายๆ ในการดูแลตัวเองเริ่มได้ด้วยการ "ลุกเดิน" และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระหว่างวันเล็กน้อย
เริ่มต้นวันด้วยการยืดเส้นยืดสายบนที่นอน อย่างการก้มแตะปลายเท้า หรือบิดขี้เกียจเพื่อยืดเส้นยืดสาย กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หากใครที่ช่วงเช้าไม่ต้องเร่งรีบมากนัก ลองเจียดเวลาสัก 15 นาที ออกไปเดินเรียกเหงื่อ เป็นการเพิ่มความสดชื่นก่อนอาบน้ำแต่งตัวไปทำงาน
ที่สำคัญ ไม่ควรละเลยมื้อเช้าที่ช่วยเติมพลังให้มีแรงทำงานตลอดทั้งวัน โดยเลือกเมนูที่ให้สารอาหารครบ 5 หมู่ ระหว่างวันไม่ควรมองข้ามการนั่งในท่าที่เหมาะสมสำหรับการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ อย่างการหาหมอนรองหลังขณะนั่งให้หลังตรงตลอดเวลา ลุกเดินทุกครึ่งชั่วโมง เปลี่ยนอิริยาบถ อาจจะแค่เดินไปชงกาแฟ เดินไปถ่ายเอกสาร เดินไปเข้าห้องน้ำ หรือถ้าอยากเพิ่มความปลอดโปร่งให้สมองแล่น อาจสละเวลาสัก 5-10 นาที ออกไปเดินเร็วๆ สัก 10-20 รอบที่หน้าลิฟต์หรือโถงทางเดิน
ขอแค่ให้ได้ลุกเดิน เพื่อป้องกันการปวดเมื่อยจากโรคออฟฟิศซินโดรม
เมื่อถึงช่วงบ่ายต้องเติมพลังด้วยอาหารว่างเพื่อสร้างความกระฉับกระเฉง แนะนำให้กินของว่างที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ปริมาณแคลอรีน้อยแถมอร่อยด้วย อย่างถั่วกรอบๆ ที่ให้โปรตีน หรือผลไม้สดสลับสับเปลี่ยนประเภทกันไปในแต่ละวัน หรือจะเป็นโยเกิร์ตหวานน้อยสักถ้วย เป็นของว่างที่กินได้ง่ายๆ ในที่ทำงาน เพื่อสมองที่ปลอดโปร่งพร้อมทำงานต่อไปได้อย่างเต็มที่จนถึงเวลาเลิกงานเลยทีเดียว
เวลาเดินทางกลับบ้าน หากขึ้นรถไฟฟ้าให้หลีกเลี่ยงบันไดเลื่อน หันมาเดินขึ้นบันไดให้หัวใจเต้นเลือดสูบฉีดแทนดีกว่า ถ้าอยากฟิตกว่านั้น ลองเปลี่ยนจากรองเท้าส้นสูงที่มีแต่ทำลายสุขภาพมาเป็นผ้าใบออกกำลังกายสักคู่ แล้วตั้งใจเดินจากที่ทำงานไปรถไฟฟ้า ทำได้แค่นี้ทุกวันก็ถือว่าได้ออกกำลังกายแล้ว
กลับถึงบ้านลองเปลี่ยนกิจกรรมเป็นเดินเล่นกับน้องหมา หรือเดินเล่นในบริเวณบ้าน แทนที่จะนั่งก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรือดูทีวี รับรองสุขภาพดีอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ขอแค่ลุกขึ้นมาเดิน เริ่มจากวันละนิดและค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเมื่อไรเดินได้ถึงวันละ 10,000 ก้าวก็เฮได้ ยิ่งสมัยนี้มีตัวช่วยมากมาย อาจใช้เครื่องนับก้าวที่ใส่ติดข้อมือ บอกให้รู้ว่าเราเดินได้กี่ก้าว ระยะทางไกลเท่าไร และมีสัญญาณเตือนเมื่อเรานั่งอยู่กับที่ไม่ลุกไปไหนเป็นเวลานาน เหมือนมีคนคอยเตือนให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ
การมีสุขภาพที่ดีไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราอีกต่อไป เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองให้มากขึ้น
เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ได้เลย ลุกจากเก้าอี้แล้วเดิน!
ที่มา นสพ.มติชน