"เนื้อสังเคราะห์" อนาคตแหล่งโปรตีนโลก?

"เนื้อสังเคราะห์" อนาคตแหล่งโปรตีนโลก?

"เนื้อสังเคราะห์" อนาคตแหล่งโปรตีนโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อปี 2556 "มาร์ค โพสต์" นักวิจัยชาวดัตช์ อวด "แฮมเบอร์เกอร์จากห้องทดลอง" ชิ้นแรกของโลก ซึ่งใช้เนื้อที่ "สร้างขึ้น" จากสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) ของกล้ามเนื้อยึดกระดูกจากวัวตัวหนึ่ง ถือเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เทคโนโลยีทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ขึ้นมาแล้ว

แต่ก็ส่งผลให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่เนื้อซึ่งสังเคราะห์ขึ้นมาในห้องทดลองจะกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลกแทนที่เนื้อสัตว์ปกติ?

ทีมนักวิจัยอีกทีมจากเนเธอร์แลนด์เช่นเดียวกันศึกษาหาคำตอบของคำถามดังกล่าวอย่างจริงจังพบว่าอุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประการ ถ้าตอบคำถามสำคัญ 2 ประการนี้ได้ ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะเลิกทารุณกรรมต่อสัตว์ แต่ยังมีเนื้อกินเป็นปกติ ก็สามารถเป็นจริงได้ในที่สุด

ทีมนักวิจัยทีมดังกล่าว ประเมินเรื่องนี้ไว้อย่างรอบด้าน ตั้งแต่ในประเด็นเรื่องของ "กรรมวิธี" ในการผลิตระดับ "อุตสาหกรรม" โดยบอกว่า วิธีการผลิตที่น่าจะเป็นไปได้ ก็คือ การนำเอาชิ้นเนื้อจากสิ่งมีชีวิตเข้าไปเพาะเลี้ยงใน "น้ำซุป" สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เต็มไปด้วยสารอาหารภายในถังเพาะเลี้ยงซึ่งถูกเรียกว่า "ไบโอรีแอคเตอร์" หรือ "เซลล์แบงก์" เพื่อสร้างเซลล์ขั้นต้นจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำไป เพาะเลี้ยงเพิ่มเติมในภาชนะขนาดใหญ่ขึ้น จากนั้นก็นำไปแปรรูปเป็นเนื้อสับก้อนเหมือนก้อนเค้ก สำหรับจำหน่ายเพื่อปรุงเป็นอาหารต่อไป

ทีมวิจัยศึกษาประเด็นเรื่องการ "ยอมรับ" เนื้อที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาแทนที่เนื้อสัตว์จากธรรมชาติ พบว่า ปฏิกิริยาทั่วไป (ในเนเธอร์แลนด์) มักเป็นไปในทาง "ประหลาดใจ" และ "ทึ่ง" มากกว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้สึกไปในทำนอง "แหวะ" หรือ "อี๊" ซึ่งมักเชื่อมโยงไปกับประสบการณ์และทรรศนะของแต่ละคนที่มักนำเนื้อสังเคราะห์ทำนองนี้ไปเปรียบเทียบกับ "พืชอาหารปรับแต่งพันธุกรรม" หรือ "จีเอ็ม" มีบ้างบางคนเป็นกังวลกับความ "ไม่เป็นธรรมชาติ" และ "เป็นผลผลิตจากเทคโนโลยี" ของเนื้อ แต่ก็ถูกถ่วงดุลความกังวลคล้ายๆ กันต่อการปนเปื้อนและปลอมปนในระบบ "เกษตรโรงงาน"

ประเด็นสำคัญที่พบก็คือ ในขณะที่เนื้อธรรมชาติยังมีอยู่แพร่หลายและราคายังยอมรับได้ "เนื้อสังเคราะห์" ก็อาจไม่ได้รับความนิยมหรือยอมรับ แต่ในสถานการณ์ตรงกันข้าม การมองเนื้อสังเคราะห์เป็นทางเลือกก็จะมากขึ้นและการยอมรับก็จะง่ายขึ้น

ปัญหาใหญ่ในเวลานี้ที่ทีมวิจัยพบก็คือประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ ในเนเธอร์แลนด์ เนื้อสับราคาไม่ถึง 5 ยูโร (ราว 220 บาท) ต่อกิโลกรัม แต่เนื้อสังเคราะห์ตอนนี้คำนวณจากกระบวนการผลิตข้างต้นจะตกอยู่ในราว 391 ยูโร (17,000 บาทเศษ) ต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวย่อมลดลงอย่างฮวบฮาบตามหลักการ "อีโคโนมี ออฟ สเกล" นั่นคือ ยิ่งมีผู้ต้องการเยอะ การผลิตยิ่งมาก ต้นทุนต่อหน่วยลดลง ราคาขายย่อมลดลงตามไปด้วย ในเวลาเดียวกัน กระบวนการผลิตเนื้อตามธรรมชาติยิ่งเป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เพราะประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ถูกใช้ไปเพื่ออย่างอื่นมากกว่าเกษตรกรรม ในขณะที่ความต้องการเนื้อเพิ่มมากขึ้น การเลี้ยงปศุสัตว์จะยิ่งลดน้อยลง ในที่สุดก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนทั้งโลก

ผลวิจัยในเนเธอร์แลนด์หนนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม้ "เนื้อสังเคราะห์" มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นแหล่งโปรตีนในอนาคต

แต่อย่างน้อยก็ยังต้องอีกเนิ่นนานไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook