แสงแดด...ดาบสองคมที่ควรรู้
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแสงแดดมีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์เรานั่นคือเป็นแหล่งของวิตามินดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น โดยที่แคลเซียมจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติและเสริมสร้างกระดูกเพื่อการเจริญเติบโต ผิวหนังคนเราสามารถสร้างวิตามินดี ได้เมื่อได้รับแสงอัลตราไวโอเลตชนิดบี ซึ่งในการผลิตวิตามินดีนี้ร่างกายไม่จำเป็น ต้องใช้แสงแดดมาก เพียงแค่ให้แสงแดด ส่องบริเวณใบหน้า แขน ขา เป็นเวลา ๑๐-๑๕ นาที สัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ตลอดทั้งปีก็เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้แสงแดดจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่แสงแดดก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพผิวได้เช่นกัน นั่นคือ ทำให้เกิดความผิดปกติของสีผิว เช่น ฝ้า กระ ทำให้ผิวไหม้เกรียม ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ผิวลดลง เกิดการแพ้แดด ทำให้ผิวมีริ้วรอย เหี่ยวย่นแก่ก่อนวัยและทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนัง นอกจากนี้ยังพบว่า โรคผิวหนัง และ โรคระบบอื่นๆ หลายโรคอาจกำเริบเมื่อถูกแสงแดด เช่น โรคลมพิษจากแสงแดด โรคเอสแอลอี ตาเป็นต้อ โรคติดเชื้อเริม ฯลฯ ขณะเดียวกันยาหลายชนิด เช่น ยาลดความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ ยาสตีรอยด์ ยารักษาสิว และยาต้านมะเร็ง อาจทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ รวมทั้งขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคบางอย่างเช่น ลูปัส
อันตรายจากแสงแดด
ในแสงแดดประกอบด้วยรังสีที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีชื่อเรียกว่ารังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) หรือรังสียูวี (UV) ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ว่าแสงยูวี แม้เพียงเล็กน้อยในยามแดดจัด ก็สามารถทำให้คอลลาเจน (เซลล์เนื้อเยื่อของผิวหนัง) เสื่อมสภาพได้ อนุมูลอิสระเป็นผลผลิตจากการที่ร่างกายต่อสู้กับสิ่งที่มาระคายเคือง เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน และมลพิษต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งหากหลงเหลืออยู่ในผิวหนัง สารอนุมูลอิสระนี้ก็อาจทำลายเซลล์รอบๆ ตัว ทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งโรคมะเร็งผิวหนังจะพบมากในคนตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย และถึงแม้ว่าโรคมะเร็งผิวหนังจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่พบว่า มีความสัมพันธ์กับรังสียูวี นั่นคือ ผิวหนังถูกแสงแดดแผดเผาเป็นเวลานานนับสิบปี
จำไว้เสมอว่าแสงแดดสามารถทำร้ายผิวของเราได้ทุกฤดูกาลตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นแดดอ่อนหรือแดดจัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และความเข้มของรังสียูวีในแสงแดด ปัจจุบันนอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผิวสดใสต้องร่วงโรยไปก่อนเวลาอันควร ก็คือ แสงแดดที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนอายุแค่ ๒๐ ปี แต่ดูสูงวัยเหมือนคุณป้า และส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐-๙๐ ของคนที่ดูแก่ก่อนวัย มักเป็นคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ ซึ่งจะแก่เร็วกว่าคนที่ทำงานอยู่ในร่มหรือในห้องปรับอากาศ
ชนิดของรังสียูวี
รังสียูวีแบ่งได้เป็น ๓ ชนิด คือ
รังสียูวีเอ (UVA) คือ รังสีอัลตราไวโอเลตที่มีคลื่นยาวกว่ารังสี UVB และ UVC (UVA มีความยาวคลื่น ๓๒๐-๔๐๐ นาโนมิเตอร์) ที่สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้ แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนังเมื่อสัมผัสกับรังสี UVA จะเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่รู้สึกเจ็บเมื่อได้รับรังสีนี้ แต่ผลในระยะยาวเชื่อกันว่าหากได้รับรังสี UVA มากๆ จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระในผิวหนัง ซึ่งจะทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำเข้ม ขาดความสดใส
รังสียูวีบี (UVB) คือรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นรองลงมา (ความยาวคลื่น ๒๙๐-๓๐๐ นาโนมิเตอร์) รังสี UVB จะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วน และลงมาถึงผิวโลกประมาณร้อยละ ๐.๑ ของแสงทั้งหมด รังสี UVB แม้จะไม่สามารถทะลุสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกได้เท่ากับรังสี UVA แต่ก็มีผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อน แดง และไหม้เกรียม (ภายใน ๒๔ ชั่วโมงที่โดนแสงแดดจัดนานๆ)
อย่างไรก็ตาม ทั้งรังสี UVA และรังสี UVB ก็ทำให้ผิวหนัง เหี่ยวย่นและก่อโรคมะเร็งผิวหนังได้พอกันทั้ง ๒ ชนิด รังสี UVB จะ มีความแรงสูงสุดในช่วงเวลากลางวัน คือตั้งแต่ ๑๐.๐๐-๑๔.๐๐ น. และแต่เดิมผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังเชื่อว่าเฉพาะรังสี UVB เท่านั้นที่ทำให้ผิวเกิดการไหม้ แต่ปัจจุบันพบว่ารังสี UVA ที่ทำให้ผิวคล้ำเมื่อถูกแสงแดดก็เป็นอันตรายต่อผิวเช่นเดียวกับรังสี UVB นอกจากนี้ยังมีหลักฐานแสดงว่ารังสีช่วงคลื่นยาวคือรังสีอินฟราเรดก็เป็นอันตรายต่อผิวหนังเช่นเดียวกัน
รังสียูวีซี (UVC) เป็นรังสีที่มีคลื่นสั้นที่สุด ในอดีตรังสี UVC จะถูกกรองไว้ได้ทั้งหมดโดยชั้นโอโซน จึงไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้ แต่ปัจจุบันนี้พบว่ารังสี UVC ก็สามารถทะลุชั้นโอโซนมายังพื้นโลกได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากมลพิษที่มนุษย์ก่อขึ้น จนไปทำลายชั้นโอโซนให้บางลง
ภัยแฝงจากแสงแดดที่คนไม่ค่อยรู้
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันที่มีเมฆหมอก วันที่ท้องฟ้าขมุกขมัว เวลาฝนตกหรือหน้าหนาว ไม่น่าจะเกิดอันตรายจากแสงแดด แต่ความจริงแล้ว แม้วันที่มีเมฆหมอก ไม่มีร่มเงาแดด แต่หากยังมีแสงสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ แสงยูวีก็ยังสามารถส่องผ่านมาได้ แม้กระทั่งวันที่มีลมพัดแรง ซึ่งผิวหนังอาจได้รับผลเสียจากแสงแดด และเกิดผิวไหม้ได้มากกว่าปกติ เพราะลมที่พัดแรงจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย ทำให้หลายคนอาจเผลออยู่กลางแจ้งหรือกลางแดดนานโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ เวลาเดินทางไปต่างจังหวัดที่ต้องใช้ เวลานานหลายชั่วโมง บางคนชอบเปิดหน้าต่างรถให้ลมพัดโกรกตลอดเวลา ผลคือ หน้าจะดำคล้ำลงทันทีเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง คนโบราณฉลาด และเก่งมากที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แล้วนำมาพูดเปรียบเทียบเป็นสำนวนประชดประชันว่า "แก่แดด แก่ลม" กับเด็กผู้หญิงที่อยากจะเป็นสาวทั้งที่อายุน้อยนิด แล้วรู้ไหมว่าการอยู่ในที่สูง เช่น บนภูเขา ก็ทำให้ผิวมีโอกาสได้รับอันตรายจากแสงแดดมากกว่าปกติด้วย เพราะพื้นที่สูงจะมีชั้นบรรยากาศ ที่ดูดซับรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงแดดน้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเล
วิธีป้องกันผิวจากภัยแดด
นับตั้งแต่วันที่มนุษย์ค้นพบว่าชั้นบรรยากาศของโลกปรากฏช่องโหว่ทะลุ จนแสงร้อนแรงสามารถแผ่รังสีมาทำร้ายผิว จนถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนังได้ในที่สุดนั้น วงการแพทย์จึงได้คิดค้นหาสารที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันรังสีความร้อน ในรูปแบบครีมกันแดดขึ้น เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผิวหนัง ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดสำหรับยุคนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นในการปกป้องผิวให้ปลอดภัยจากการรุกล้ำทำลายของแสงแดดที่นับวันจะมีพิษสงรุนแรงเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดหรือเป็นคำตอบสุดท้ายในการป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง เพราะถึงอย่างไร แสงยูวีก็ยังสามารถผ่านผิวหนังของเราไปได้ วิธีที่จะปกป้องผิวจากแสงแดดให้ได้มากที่สุด ต้องปฏิบัติตัวหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ
๑. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. เพราะเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ทั้งนี้เพราะรังสียูวีกว่าร้อยละ ๘๐ จะส่อง ลงมาในเวลาดังกล่าว และสามารถสะท้อนแสงเมื่อกระทบผิวน้ำ พื้นถนน ซีเมนต์ ทราย ป้ายโฆษณา อาคารสีอ่อนๆ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งชายหาดก็สะท้อนแสง ยูวีได้เช่นกัน
๒. พยายามหลบแสงแดดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ในทุกที่ ทุกเวลา
๓. สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่อต้องเจอแสงแดด หรือทำกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง
๔. สวมเสื้อผ้าให้ปิดผิวมิดชิด (มากที่สุดเท่าที่จะทำได้) ซึ่งโดยทั่วไปเสื้อผ้าที่ทอเนื้อแน่นสีเข้ม จะกันแดดได้มากกว่าเสื้อผ้าเนื้อบางๆ
๕. ทาครีมกันแดดในบริเวณผิวหนังที่ไม่สามารถป้องกันด้วยเสื้อผ้า เช่น บริเวณใบหน้าหรือหลังมือ พึงระลึกไว้เสมอว่ายากันแดดป้องกันได้เพียงแสงยูวีเท่านั้น แต่แสงที่ให้ความสว่าง หรือความร้อนจากแดด ซึ่งหากได้รับปริมาณมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังได้เช่นกัน ในส่วนนี้ยากันแดดไม่สามารถป้องกันได้
ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้หน้าดูแก่กว่าอายุจริง หรือเป็นโรคต่างๆ ทางผิวหนัง ก็ต้องใส่ใจดูแลผิวพรรณกันบ้าง ตามที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำไว้อย่างจริงจังเป็นประจำสม่ำเสมอ
ที่มา : facebook มูลนิธิหมอชาวบ้าน