คุยกับ "พ่อหมอ" เจาะข่าวตื้น ณัฐพงศ์ เทียนดี กับอีกหนึ่งแง่มุมชีวิต สุดจี๊ด

คุยกับ "พ่อหมอ" เจาะข่าวตื้น ณัฐพงศ์ เทียนดี กับอีกหนึ่งแง่มุมชีวิต สุดจี๊ด

คุยกับ "พ่อหมอ" เจาะข่าวตื้น ณัฐพงศ์ เทียนดี กับอีกหนึ่งแง่มุมชีวิต สุดจี๊ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปรากฏตัวมาพร้อมกับแว่นตากลมใหญ่ ในชุดพราหมณ์สีขาว

พิธีกรมาดกวนในนาม "พ่อหมอ" แห่งรายการ "เจาะข่าวตื้น ดูถูกสติปัญญา" รายการเล่าข่าววิเคราะห์ข่าวชนิดแสบสันมันส์ทรวง กวนโอ๊ยหลุดโลก ซึ่งมีคนติดตามมากที่สุดในโลกออนไลน์

จากหนุ่มโนเนมที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เมื่อมาประกบคู่กับพิธีกรหน้าหล่อ "จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์" นอกจากจะดูขัดกันจนน่าติดตามแล้ว ที่สำคัญคือสามารถสร้างเสียงหัวเราะแบบมีสาระเรียกยอดวิวทะลุล้านในแต่ละเทป

ไม่น่าเชื่อว่าในร่างทรงเดียวของพ่อหมอคนนี้ จะเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ และทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ทางเว็บไซต์มาก่อน

อีกทั้งยังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นเจ้าของนามปากกา "ไอ้ฟัก" อีกด้วย

จากเด็กวิศวะมาสู่เส้นทางนักเขียน และก้าวเป็นพิธีกรคู่กับหนุ่มจอห์น ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเส้นทางชีวิตของ "ณัฐพงศ์ เทียนดี" บุตรชายคนโตของ "ร้อยตรี ธวัชชัย เทียนดี" ทหารสื่อสารแห่งกองทัพเรือ ซึ่งตระกูลของพ่อเรียกได้ว่าเป็น "ลูกประดู่ทั้งหมด" อาทั้ง 8 คนเป็นทหารทั้งหมด ส่วนมารดา "ฉวี เทียนดี" เป็นครูสอนภาษาไทยผู้ปลูกฝังเรื่องการเขียนตั้งแต่เล็กๆ

ชีวิตวัยเด็กเติบโตในครอบครัวข้าราชการที่มีพ่อเป็นทหารเเละเเม่เป็นครู อาศัยอยู่ในค่ายทหาร แต่ไม่เคยคิดเป็นข้าราชการเหมือนกับพ่อและแม่

ณัฐพงศ์เกิดวันที่ 6 เมษายน 2521 มีน้องชายคนเดียวคือ "ศศิน เทียนดี" ปัจจุบันเป็นอาจารย์สายวิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

ด้านการศึกษา "พ่อหมอ" สำเร็จการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนเจริญผลวิทยา ระดับมัธยมการศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง ก่อนเลือกเรียนสายอาชีพ จบ ปวส.จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครเหนือ และเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หลังเรียนจบ ได้ทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ทางเว็บไซต์เกี่ยวกับการออกแบบ User Interface ของสายการบินขนาดเล็กอยู่ปีกว่า ก่อนจะออกมาเป็นฟรีแลนซ์รับออกแบบกราฟิก และในช่วงที่การเขียนในโลกออนไลน์กำลังโด่งดังนั้น เขาก็ได้กลายมาเป็นนักเขียนด้วย โดยเขียนบล็อกอยู่ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ก่อนจะได้รับการติดต่อให้ตีพิมพ์

มีพ็อคเก็ตบุ๊กในนามปากกา "นายฟัก" ออกมาแล้ว 3 เล่ม "เรื่องสั้นโรคจิต(วิปเลี้ยว)" "บล็อกโรคจิต 1" และ "บล็อกโรคจิต 2" ทั้งหมดเป็นรวมเรื่องสั้นตลก เสียดสี ประชดประชัน และหักมุมชนิดเอวแทบเคล็ด

"เป็นการรวมผลงานที่ผมเขียนลงบล็อกเอ็กซ์ทีน ซึ่งตอนนี้เป็นศูนย์รวมนักเขียนแล้ว ผมถือเป็นรุ่นแรกๆ เขียนสักระยะหนึ่งก็มีบรรณาธิการเข้ามาเห็น แล้วได้รวมเล่มแรกกับสำนักพิมพ์ My Bangkok Publishing House ส่วนอีก 2 เล่มออกกับสำนักพิมพ์มาร์ส สเปซ

"ความฝันสูงสุดของผม ถ้าเลิกจากงานนี้ผมจะไปเขียนหนังสือ คิดทุกวันเลยว่าอยากมีหนังสือที่เป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ พิมพ์ครั้งที่ 1,800 เป็นหนังสือที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจด้วย สำนักพิมพ์ได้ เราก็ได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเหนื่อยทำงานเป็นชิ้นๆ เหมือนทุกวันนี้ อยากจะเขียนหนังสือออกมาขายดี แล้วนั่งกินลิขสิทธิ์ไปเรื่อยๆ"

ถ้าถามว่า ผลงานเรื่องสั้นที่ออกมาแล้วขายดีไหม? พ่อหมอตอบทันทีแล้วหัวเราะร่วน "ไม่เคยได้พิมพ์ครั้งที่ 2"

ชีวิตของพ่อหมอมีสีสันมากขึ้นเมื่อมาพบกับภรรยา "จรรยา วงศ์สุรวัฒน์" หรือโรซี่ พี่สาวแท้ๆ ของ "จอห์น-วิญญู" ด้วยการรู้จักผ่านอินเตอร์เน็ต

พ่อหมอเล่าว่า ตอนอายุประมาณ 23 ปี ชอบหนังเรื่อง "กุมภาพันธ์" ของ "ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค" เลยเปิดไปดูในเว็บไซต์ของหนัง ได้เห็นว่าคุณโรซี่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับลำดับที่หนึ่ง รู้สึกว่าสะดุดตา ผู้หญิงคนนี้หน้าตาดื้อจัง ชอบอ่ะ เเล้วในเว็บมีอีเมลอยู่ เลยเเอดเมลไว้ใน MSN แต่ก็ไม่เคยได้คุยกันเลย

"จนผ่านไป 7 ปี เขาทักมาถามว่าเราเป็นใคร ซึ่งผมก็ลืมไปแล้วว่าเขาเป็นใคร ถามกลับไปว่าคุณอ่ะใคร ยังคิดด้วยซ้ำว่าเขาเป็นแฟนบล็อกหรือแฟนหนังสือเรา แต่ก็เริ่มคุยกัน จากนั้นพัฒนากันมาเรื่อยๆ กระทั่งหมั้นกัน เเละอีกไม่ถึงปีก็เเต่งงานกัน และเรื่องใครแอดใครก่อนนั้นก็คุยกันเถียงกันมาตลอด จนเพิ่งจะมานึกออกในวันแต่งงานนั่นเอง" พ่อหมอเล่าอย่างอารมณ์ดี

ส่วนจอห์น-วิญญูนั้น พ่อหมอสารภาพเลยว่าไม่รู้จัก

"คบกับคุณโรซี่ใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้จักจอห์น คุณโรซี่เขาบอกมีน้องเป็นดารา เห็นหน้าแล้วผมยังไม่รู้จัก จอห์น-วิญญูเป็นใคร(ว่ะ)"

ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นพิธีกรเล่าข่าว โดยเฉพาะเน้นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความคิดต่างๆ คู่กับหนุ่มหน้าหล่อ?

ณัฐพงศ์เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกธุรกิจทีวี คุณโรซี่ผลิตรายการกับน้องชาย พออินเตอร์เน็ตเข้ามาก็เปิดเป็นอินเตอร์เน็ตทีวี ซึ่งผมก็เปิดบริษัทรับเขียนเว็บเขียนโปรแกรมเน็ตเวิร์กอยู่ เหมือนกับโปรดักชั่นมาเจอไอที ผมก็ได้เข้ามาช่วยเรื่องเว็บรายการ การอัพโหลด และการบริหารจัดการยูทูป ถือเป็นหน้าที่แรกเลยของรายการเจาะข่าวตื้นและของช่อง SpokeDark TV ซึ่งในช่องยังมีรายการเก้าอี้เสริม โมเมพาเพลิน และอีก 2-3 รายการ

"เรื่องความสนใจข่าวการเมือง มีบ้างแต่ไม่มากเท่าจอห์นกับโรซี่ ทางนั้นคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังมา เป็นครอบครัวนักวิชาการ ส่วนผมมาจากครอบครัวธรรมดา พ่อผมรับราชการทหาร แม่ผมเป็นครูสอนภาษาไทย ผมเลยไม่ได้สนใจการเมืองมาก ผมเพิ่งมาสนใจจริงๆ ตอนปลายมหาวิทยาลัย จากการอ่านนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ที่ผมชอบคือ นาฏกรรมเมืองหลวง ผมจะอ่านแนวนี้"

นี่คือบางช่วงบางตอนของชีวิตน่าสนใจ

ลองมารู้จักอีกแง่มุมหนึ่งของ ณัฐพงศ์ เทียนดี พ่อหมอสุดแสบแห่งรายการ "เจาะข่าวตื้น"

"อ่านแล้วอยากจะรู้จักแง่มุมความคิดของหนุ่มมาดกวนให้เยอะกว่านี้ ติดตามคอลัมน์ใหม่ถอดด้ามของ "พ่อหมอ" ในหน้า "ประชาชื่น" ฉบับวันเสาร์ หนังสือพิมพ์มติชนเร็วๆ นี้"

เทปแรกของการเป็นพ่อหมอ?

เทปแรกที่ได้ออกรายการเจาะข่าวตื้น ตอนนั้นแต่งงานใหม่ๆ แล้วไปฮันนีมูน เพิ่งกลับมาก็มีเรื่องของเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ขัดแย้งกันเยอะๆ เทปนั้นให้จอห์นเล่นเป็นคนทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนชุดเป็นเสื้อเหลืองและเสื้อแดงแล้วเถียงกัน แล้วมีคนหลายคนมายืนด้านหลังจอห์นใส่ชุดสีเหลืองสีแดงตัดสลับไปมา ทีนี้ ตอนนั้นจะมีพราหมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่มาชี้นำว่าฝ่ายแดงต้องทำแบบนั้น ฝ่ายเหลืองต้องทำแบบนี้ เลยเกิดคำถามว่าใครจะมาเป็นพราหมณ์ คุณโรซี่พี่เลยลากผมจากออฟฟิศด้านบนมารับบทนี้ เขาก็แต่งหน้าเอาเมจิกมาเขียนคิ้วเขียนหนวด ใส่แว่นดำให้เหมือนกับจอห์น หลังจากนั้นตัวละครพ่อหมอก็ปรากฏเรื่อยๆ ตอนแรกก็จะไม่ค่อยมีบทพูด เดินผ่านไปผ่านมา หลังๆ เริ่มโฉบมาบ่อยเลยจับมานั่งเลยแต่ก็ยังไม่มีบทพูด จนมาหลังๆ ไหนๆ ก็มานั่งแล้วก็เริ่มมีบทพูด พอพูดแล้วก็พูดไม่หยุดเลย (หัวเราะ)

ผลตอบรับในบทบาท "พ่อหมอ" เป็นอย่างไร?

ช่วงแรกๆ ยังไม่มีผลตอบรับเท่าไหร่เพราะเหมือนเป็นตัวประกอบ แต่พอมานั่งปุ๊บมีผลตอบรับกลับมาเลยแบบ เอามานั่งทำไม หน้าตาไม่ดี พูดอะไรก็ไม่พูด หรือพูดออกมาทีก็กวนตีน บุคลิกไม่น่าจะถูกชอบได้ คนเขาก็จะมีคอมเมนต์แบบนี้ พอเราพูดก็มีเสียงวิจารณ์ว่าไอ้นี่มาเป็นพิธีกรได้ยังไง จอห์นคนเดียวก็พอแล้วรำคาญ ตอนนั้นกระแสต่อต้านเยอะ เคยคิดนิดหน่อยว่าจะกลับไปอยู่เบื้องหลังแบบเดิม แต่จอห์นกับโรซี่ยืนยันว่าจะต้องนั่งตรงนี้ บอกให้เราทำๆ ไปเถอะ แรกๆ ก็จะถูกด่าแบบนี้แหละ ตัวจอห์นเองในช่วงแรกที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมก็ถูกด่า พอสักพักคนเริ่มยอมรับก็สามารถอยู่ต่อได้ มีอยู่เทปหนึ่งจอห์นพูดเลยว่าพ่อหมอจะอยู่ตรงนี้ไม่ไปไหน มีปัญหาหรือเปล่า ผมเลยทู่ซี้อยู่ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนมาว่าพ่อหมอโดยตรงแล้ว คนดูคงชิน (หัวเราะ) เพราะคอมเมนต์แล้วมันไม่ไปทำไงได้ ก็ต้องทนดูกันต่อไป ส่วนคอมเมนต์ของภรรยาก็ไม่ค่อยมีแล้วสงสัยจะเล่นดีขึ้น

ร่วมงานกับจอห์นยากไหม แบ่งหน้าที่กันอย่างไร?

ไม่ยากครับเพราะเคมีตรงกันโดยอัตโนมัติ ก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะจอห์นเป็นน้องภรรยาผมก็เป็นพี่เขย พอหน้าเข้ากล้องก็เล่นตลกใส่กันเต็มที่เลยเหมือนเป็นเพื่อนกันมากกว่า เหมือนจูนกันได้ จอห์นก็บอกเสมอว่าเขารู้สึกโอเคกับผม อยู่ด้วยแล้วไม่เกร็ง เลยเล่นอะไรกันได้สนุกสนานเต็มที่

ส่วนหน้าที่ไม่ได้แบ่งชัดเจนครับ แต่จะเป็นที่รู้กันว่าจอห์นจะพูดเรื่องที่เป็นสาระที่เป็นแกนของเรื่องเสียส่วนใหญ่ พ่อหมอจะเป็นคอยพูดเรื่องอะไรที่เขาพูดไม่ได้ เช่น เรื่องที่อาจจะกระทบอาชีพในวงการของเขาแต่เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ พ่อหมอก็อาจจะเป็นคนพูดแทน

มีเทคนิคการเล่าข่าวการเมืองยังไงให้สนุก?

ต้องมีสิ่งที่เรายึดถือเป็นแกนหลัก ต้องมีอะไรจะพูด มีเรื่องราวที่จะสื่อสารจริงและเป็นเรื่องที่เราคิดที่เราเชื่ออยู่เป็นปกติ จากนั้นเอาเรื่องนั้นมานำเสนอโดยเอาความตลกความสนุกเคลือบไว้ไม่อย่างนั้นคนดูจะเบื่อ เพราะว่าแกนของเรื่องสังคม การเมือง ปรัชญาเป็นเรื่องน่าเบื่อ เลยต้องเอาความฮา ความห่าม ความทะเล้น ความกวนมาครอบเอาไว้ ทำให้เราได้ผู้ชมหลายกลุ่ม คือ คนที่คนที่จริงจังเสพแก่นเรื่องที่เราจะสื่อ คนที่ไม่จริงจังเป็นเด็กเป็นวัยรุ่นเขาจะดูเปลือกฮาๆ ขำๆ จะได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งบันเทิงและแก่นด้วย ก็ได้ประโยชน์ 2 เท่า ทำให้แฟนรายการเป็นคนหลายช่วงอายุ หลายวัย

เตรียมงานแต่ละเทปใช้เวลานานไหม?

เราจะประชุมสคริปต์กันเสาร์อาทิตย์ที่บ้านระหว่างกินข้าวกลางวัน ปรึกษากันว่าเราอยากจะคุยเรื่องอะไรกัน สถานการณ์ตอนนี้มีอะไรบ้าง โต๊ะกินข้าวบ้านจอห์นจะเป็นโต๊ะที่มีแผนที่โลกอยู่ กินข้าวไปสามารถพูดคุยกันได้ เช่น โซมาเลียอยู่ตรงไหน สามารถจิ้มชี้ได้เลยว่าประเทศไหนใหญ่กว่ากัน ที่รบกันเพราะอยู่ติดกันหรือเปล่าอะไรแบบนี้ เราก็จะเตรียมและคุยกันมาก่อน วันจันทร์สคริปต์จะขึ้น วันพุธจะถ่ายทำช่วงเช้า จากนั้นจะตัดต่อเพื่อออกอากาศในวันศุกร์ตอนเย็น

แต่ก็มีบางครั้งที่เตรียมเนื้อหาไว้แล้วแต่พอใกล้ออกอากาศก็มีข่าวใหม่มาต้องแก้หน้างาน เช่น การตัดสินของศาล หรือผลฟุตบอล ผลการโหวต

ล้อเลียนนักการเมืองบ่อยๆ กลัวโดนเคืองบ้างไหม?

เคยคิดว่าเขาจะไม่พอใจเป็นธรรมชาติ แต่ว่าคิดว่าเขาใจกว้างพอแล้ว เราก็เคยเจอนักการเมืองที่ล้อๆแซวๆ ตามงานต่างๆ เขาก็เข้ามาทักเราอย่างสนุกสนานว่านี่คุณด่าฉันใช่ไหมเทปนี้ คุณว่าผมหรือเปล่า พูดถึงผมใช่ไหม เราก็บอกว่าใช่ครับ เราพูดถึงคุณ เราวิพากษ์วิจารณ์คุณจริง แล้วคุณขำไหมล่ะ เขาจะบอกว่าก็ขำนะแต่บางทีก็ไม่ขำ แล้วหลายคนก็บอกว่าทำต่อไปเถอะ บ้านเราต้องมีอะไรแบบนี้บ้าง เราก็รู้สึกว่าดีที่เขาไม่เข้ามาต่อยหน้าเรานะ

ให้คำจำกัดความการเมืองไทยจะให้ว่ายังไง?

ขอใช้คำว่า loop วังวน ซึ่งคนไทยก็พยายามหาทางออกจากวังวนนี้ และเราก็อยู่ในวังวนเดียวกัน

มองการเมืองกับคนยุคใหม่อย่าง?

ผมว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยสนใจการเมืองมากขึ้น เป็นเรื่องสื่อด้วย อย่างสมัยก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ตให้เขาเสพดราม่าได้ ทีนี้ดราม่าบ้านเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมการเมืองและวัฒนธรรม เขาจะเสพสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ แต่จะดีหรือจะร้ายเป็นเรื่องที่ตัวเขาหรือผู้ปกครองที่จะช่วยดูแล จะช่วยกลั่นกรอง

มองว่ารายการเจาะข่าวตื้นมีอิทธิพลต่อเด็กรุ่นใหม่ คือ คนวัยรุ่นที่ติดตามน่าจะคิดได้ว่าเขามีสิทธิ เขาไม่ใช่เด็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แล้ว เขามีสิทธิในเรื่องการเมืองตั้งแต่เขาเริ่มจะมีเงิน พ่อแม่ให้เงินเขาไปซื้อขนมในร้านสะดวกซื้อว่าเขาต้องเสีย VAT คือเงินส่วนกลางของรัฐที่นำมาทำถนนให้เขาเดิน ทำทางม้าลายให้เขาข้าม ผมว่าเด็กก็จะรู้เรื่องพวกนี้เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราจะพยายามสื่อสารตลอด เด็กทุกคนมีสิทธิ วัยรุ่นทุกคนมีสิทธิ ผู้ใหญ่ทุกคนก็มีสิทธิ นั่นคือสิ่งที่เขาค่อยๆ ซึมซับเข้าไป

มองแวดลงหนังสือบ้านเราเป็นแบบใด?

ผมว่านักเขียนไทยวงการหนังสือไทยตอนนี้อยู่ในช่วงปรับตัว เพราะว่าสื่อกำลังปรับขนานใหญ่ การอยู่รอดของคนเขียนหนังสือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขียนดีหรือไม่ดีอย่างเดียวแล้ว ยังขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในระบบอะไร หนังสือคุณไม่ได้เขียนมาเพื่อเป็นหนังสืออย่างเดียว มันควรจะต้องเตรียมไว้เผื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย และผู้ที่เป็นค่ายหนังสือควรจะเตรียมพร้อมตรงนั้นเพื่อรับการใช้จ่ายเงินบนอินเตอร์เน็ตด้วย เพื่อให้ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์อยู่ได้


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
เรื่องโดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล เชตวัน เตือประโคน ภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook