จริงดิ ?! อาหาร "โปรตีนสูง" อาจไม่ได้ลด "ความอ้วน" อย่างที่เข้าใจ !
แนวคิดของการกินอาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งมักเรียกกันว่า อาหาร "Low Carb" เป็นแนวคิดที่มาจาก ดร.โรเบิร์ต แอตกินส์ ที่เน้นให้กินอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ไข่ มากขึ้นโดยไม่จำกัด แต่ให้ลดการกินข้าว แป้ง น้ำตาล รวมทั้งคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในผัก ผลไม้ และนมลงด้วย
แนวคิดการกินอาหารโปรตีนสูงนี้ มาจากความคิดที่ว่าการจำกัดคาร์โบไฮเดรต ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง ร่างกายจึงต้องดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน การสลายไขมันที่มากขึ้นทำให้กรดไขมันในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และมีการสร้างสารที่เรียกว่า "คีโทน" ออกมามากขึ้นด้วย
สารคีโทนนี้จะยับยั้งความรู้สึกอยากอาหาร จึงทำให้กินอาหารได้น้อยลง วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักได้ค่อนข้างเร็วในระยะแรก เมื่อเทียบกับการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการที่กล่าวมาข้างต้น
แม้ว่าการกินอาหารโปรตีนสูงนี้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้จริงแต่ก็มีผลข้างเคียงของการมีสารคีโทนมากๆ คือ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และลมหายใจมีกลิ่นคล้ายสารระเหยออกมา
การกินอาหารแบบนี้ในระยะยาวจะเพิ่มภาระการทำงานแก่ตับและไต และยังทำให้ได้รับไขมันประเภทอิ่มตัวที่มากับเนื้อสัตว์สูงขึ้นด้วย จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และการไม่ได้รับผักผลไม้มากเพียงพอ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้นด้วย
งานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ในระยะสั้นการลดน้ำหนักด้วยวิธีกินอาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ จะได้ผลดีกว่าการลดน้ำหนักด้วยวิธีควบคุมทั้งคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เพราะน้ำหนักลดลงได้มากกว่าและเร็วกว่า
แต่หากเทียบผลในระยะยาวแล้ว การลดน้ำหนักในระหว่าง 2 วิธี นั้น ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากนัก
นอกจากนี้ ยังพบว่าการกินอาหารที่เน้นโปรตีนมาก จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ไม่นาน เพราะน้ำหนักที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นมาจากการสูญเสียน้ำร่วมด้วย การสูญเสียไขมันจะเกิดขึ้นทีหลังเมื่อเกิดการเบื่ออาหารและกินอาหารได้น้อยลงจึงมีการดึงไขมันส่วนเกินมาใช้ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่ใช่วิธีการลดน้ำหนักที่ยั่งยืน
ผลการวิจัยจากต่างประเทศก็ยังยืนยันว่า ผู้ที่ลดน้ำหนักได้มาก และสามารถป้องกันน้ำหนักกลับคืนในระยะยาวนั้น ส่วนใหญ่คือผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันต่ำและมีเส้นใยอาหารสูง พร้อมกับมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย
จะเห็นได้ว่า การรู้จักกินอาหารเพื่อลดน้ำหนักไม่ยากเลย คือการกินอาหารให้สมดุล ครบหมวดหมู่ ต้องจำกัดปริมาณอาหารบางอย่างลงให้พอเหมาะกับความต้องการของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้อาจจะรู้สึกว่ายากกับหลายๆ คน แต่ที่จริงแล้วคงไม่มีใครช่วยคุณได้ ถ้าคุณไม่ช่วยตัวคุณเองก่อน โดยการตั้งใจจริงและเริ่มลงมือปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป