ทำยังไงดี หูอื้อเมื่อขึ้นเครื่องบิน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ คลินิกหู คอ จมูก โดย นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูล หัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
เดี๋ยวนี้การเดินทางโดยใช้เครื่องบินเป็นพาหนะถือเป็นเรื่องสามัญธรรมดา จากแต่เดิมที่ค่าโดยสารเครื่องบินค่อนข้างแพง ขั้นตอนยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีจำนวนสนามบินน้อย ไปได้เฉพาะเมืองใหญ่ๆ ไม่กี่จังหวัด แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ค่าโดยสารเดี๋ยวนี้ถูกลงจนแพงกว่ารถทัวร์หรือรถไฟไม่มาก โดยเฉพาะสายการบิน LOW COST เกิดขึ้นใหม่หลายสายการบิน ถ้าจองในจังหวะดีๆ และมีระยะเวลาล่วงหน้าพอประมาณ ก็จะได้ราคาถูกจนแทบไม่น่าเชื่อ ขั้นตอนต่างๆ สะดวกขึ้น มีการจองตั๋วทางอินเตอร์เน็ต มีการ CHECK IN ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้ง สนามบินในจังหวัดต่างๆ เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง แต่ละแห่งมีจำนวนเที่ยวบินทุกวันหรือหลายวันต่อสัปดาห์ และสามารถเลือกเวลาได้ตามความต้องการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเดินทางโดยเครื่องบินในปัจจุบันเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ประชาชนคนธรรมดาก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะคนรวยเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่อยากจะเขียนในฉบับนี้ เป็นเรื่องของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์หู คอ จมูก ด้วยเรื่องว่าหลังจากไปขึ้นเครื่องบินแล้วเกิดอาการหูอื้อ ปวดหูมาก พอลงมาจากเครื่องบิน อาการก็ยังไม่หาย ซึ่งพบได้บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะมาทราบกันว่ากลไกลที่เกิดขึ้นเนื่องจากอะไร การรักษาควรจะทำอย่างไรและแน่นอนที่สุดก็คือจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการนี้ได้อย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องทราบกันก่อนว่าหูของคนเราแบ่งเป็น 3 ชั้น คือหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน หูส่วนที่มีความสำคัญกับกลไกการเกิดอาการนี้ เป็นหูชั้นกลาง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปกว่าเยื่อแก้วหู ในหูชั้นกลางจะมีลักษณะเป็นห้องเล็ก ๆ ที่บรรจุ กระดูกหูขนาดจิ๋วจำนวน 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน ซึ่งทำหน้าที่ในการนำเสียงที่เป็นคลื่นการสั่นสะเทือนจากแก้วหูผ่านเข้าไปสู่หูชั้นใน ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงเป็นกระแสประสาท ส่งการรับรู้ไปยังสมองในที่สุด
ถ้าช่องหูชั้นกลางนี้เป็นห้องปิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความดันของอากาศอย่างรวดเร็ว จะเกิดความดันภายในหูชั้นกลางและภายนอกที่แตกต่างกัน นำไปสู่การโป่งหรือยุบของเยื่อแก้วหู ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางมากเหมือนกระดาษแก้ว ทำให้เกิดการปวดหูอย่างรุนแรง แต่ธรรมชาติอันสุดแสนวิเศษได้สร้างความมหัศจรรย์ให้มีท่ออันหนึ่งที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลาง กับด้านหลังโพรงจมูก ท่อนี้เรียกว่าท่อปรับความดันในหูชั้นกลาง หรือท่อยูสเตเชี่ยน (EUSTACHIAN TUBE) ทำหน้าที่ในการเฉลี่ยความดันภายในกับภายนอกให้เท่ากัน ดังนั้นขณะเมื่อท่านอยู่ในเครื่องบินช่วงที่จะมีอาการหูอื้อ จะเป็นอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงขาขึ้นที่เครื่องบินกำลังไต่ระดับขึ้นบนท้องฟ้าและช่วงขาลงตอนเครื่องบินลดระดับความสูงลงสู่พื้นดิน เพราะทั้ง 2 ช่วงนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าท่อปรับความดันนี้ทำงานได้ปกติ ไม่อุดตัน ไม่มีการอักเสบหรือการบวม เมื่อท่านเคี้ยวลูกอม หมากฝรั่ง หรือขยับกราม อ้าปากหุบปาก ท่อนี้ก็จะทำงานเฉลี่ยความดันทำให้หูไม่อื้อได้ แต่ถ้าท่อนี้ไม่ทำงาน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะมาอุดตัน มีการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้ปากท่อเกิดการบวมจากการเป็นโรคหวัด เป็นโรคภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ ผลที่ตามมาคือขณะที่เครื่องบินขึ้นและลง ท่านจะมีอาการหูอื้อ การได้ยินผิดปกติ รู้สึกแน่นอึดอัดในหู จนกระทั่งปวดหู อาจจะปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากอย่างรุนแรงจนทรมาน เป็นที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ บางคนพอลงจากเครื่องบินแล้ว เมื่อสภาพกลับสู่ปกติ อาการก็หายไปได้เอง แต่มีจำนวนไม่น้อยที่หูยังอื้ออยู่ จนต้องมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อทำการรักษาต่อไป
เมื่อท่านมีอาการดังกล่าว แพทย์หู คอ จมูก จะทำการซักประวัติ ดูความรุนแรงของอาการและตรวจส่องดูภายในช่องหู แก้วหู รวมทั้งโพรงจมูก ตลอดจนโพรงหลังจมูก บริเวณท่อยูสเตเชียน ถ้ามีการได้ยินผิดปกติ อาจจำเป็นต้องเข้าเครื่องตรวจการได้ยิน เพื่อดูว่าการได้ยินผิดปกติมากน้อยเพียงใด ร่วมกับเช็คสภาพความดันในหูชั้นกลางด้วยเครื่องพิเศษที่เรียกว่า TYMPANOGRAM ตรวจสภาพการทำงานของท่อปรับความดันว่ามีความ ผิดปกติหรือไม่ เป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรค จากนั้นก็ทำการรักษาโดยหาสาเหตุที่ทำให้ท่อปรับความดันหูทำงานผิดปกติ และให้ยาไปรับประทาน ซึ่งมักจะประกอบไปด้วยยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ยาลดบวม ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ บางครั้งถ้าอาการรุนแรง หูอื้อมาก อาจจะต้องให้ยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย การรักษาจะใช้เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ สาเหตุที่ทำให้ท่อปรับความดันทำงานผิดปกติ และระยะเวลาที่เป็นจนกระทั่งมาพบแพทย์ ครั้งนี้ขออนุญาตจบเพียงเท่านี้ก่อน ในคราวหน้าเราจะมาดูเรื่องการป้องกัน และการปฏิบัติตัวทั้งก่อนขึ้นเครื่อง ขณะอยู่บนเครื่อง รวมทั้งหลังลงจากเครื่องบินแล้วนะครับ จะบอกให้
(หน้าพิเศษ Hospital Healthcare)