เด็ก-ครู-ผู้ปกครอง กับ ′แท็บเล็ต′ การศึกษา

เด็ก-ครู-ผู้ปกครอง กับ ′แท็บเล็ต′ การศึกษา

เด็ก-ครู-ผู้ปกครอง กับ ′แท็บเล็ต′ การศึกษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติชนรายวัน 9 ก.ค. 2557

"1คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน" เป็นอีกหนึ่งโครงการประชานิยมที่ต้องอวสานไปกับรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมกับการผุดขึ้นมาของโครงการสมาร์ทคลาสรูม ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่กำลังติดปีกเดินหน้าท่ามกลางเสียงสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่

กล่าวสำหรับโครงการแท็บเล็ต เริ่มขึ้นครั้งแรกในปีงบประมาณ 2555 ประเดิมแจกนักเรียนได้ใช้กันทั่วประเทศ 856,886 เครื่อง ในวงเงินสูงเกือบ 2 พันล้านบาท ปีถัดมา สพฐ.เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างแทนโรงเรียนทั้งหมดในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออคชั่น ทั้งหมด 4 โซนหรือครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ต่อมา เกิดปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ประมูลได้ไม่สามารถส่งเครื่องแท็บเล็ตได้ตามข้อตกลง แถมยังมีการส่อฮั้วประมูลขึ้นในบางพื้นที่

อีกทั้งผลวิจัยและการติดตามผลหลังการใช้งานแท็บเล็ต ยังสรุปจนเห็นภาพว่า "ไม่คุ้มค่า"

แต่ในส่วนของข้อดีก็มีเช่นกัน

ยกจากตัวอย่างผลการสำรวจของ สพฐ. ในปี 2555 จากโรงเรียนจำนวน 20,700 แห่ง ครูผู้สอนเห็นว่าแท็บเล็ตส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอนถึง 89% ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แสดงความคิดเห็นว่า ถ้ามองแง่การให้แท็บเล็ตในชนบท ได้ใช้หาความรู้นอกจากการเรียนรู้จากครูผู้สอนแล้ว เห็นว่าแท็บเล็ตสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง

แต่ปัญหาคือเป็นแท็บเล็ตด้อยประสิทธิภาพ ชำรุดถึงร้อยละ 30 รัฐบาลยังไม่เตรียมความพร้อมเรื่องซอฟต์แวร์ หรือคอนเทนต์ที่จะใช้ในการเรียนรู้

"ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะระงับโครงการนี้ แต่ถ้าจะยกเลิกแบบถาวรเลยไม่เห็นด้วย เพราะยังเห็นความสำคัญของโครงการที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านแท็บเล็ต ส่วนกรณีแนวคิดจะตั้งเป็นสมาร์ท คลาสรูมเห็นว่าเป็นไปได้ยาก ใช้ต้นทุนสูง โรงเรียนขนาดเล็กๆ อย่างโรงเรียนบนเขา บนดอย คงจะไม่มีศักยภาพจะทำได้ แม้แต่ขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งที่มีห้องโสตศึกษายังถูกปล่อยให้เป็นห้องรกร้าง ขาดการบำรุงรักษา ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร" ผศ.ดร.อดิศร ให้ความเห็น

น.ส.ปฏิมา เพียรเพชร ครูประจำชั้น ป.1 โรงเรียนกุลโน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา บอกว่า โรงเรียนกุลโนได้รับแจกแท็บเล็ตจากรัฐบาลชุดที่แล้ว 134 เครื่อง ตามจำนวนของนักเรียนชั้น ป.1 จะให้นักเรียนใช้จนถึงชั้น ป.3 ผลการประเมินพบว่า ส่วนใหญ่นำไปใช้ผิดประเภท เช่น นำไปใช้ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกม ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ โรงเรียนต้องตรวจเช็กสภาพแท็บเล็ต

พบว่าเกือบ 100% เมมโมรี่เต็ม ต้องเสียเวลากับการลบข้อมูลที่ใช้ผิดประเภทออกเพื่อลงโปรแกรมการเรียนใหม่

นอกจากนี้ ครูที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสอนหนังสือก็ยังไม่พร้อม มีเพียงไม่กี่คน

นายสุพจน์ จงสุขวรากุล ผอ.โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) อ.เมืองแพร่ ให้ความเห็นว่า โรงเรียนรับแทบเล็ตสำหรับ ป.1 จำนวน 245 เครื่อง หากกล่าวถึงประโยชน์ในการเรียนรู้แล้วมีข้อดีมากกว่า โทษจะมีน้อยมาก ถ้านักเรียนเอาไปใช้ในทางที่ผิด สืบค้นในทางที่ไม่ถูกต้อง อยู่โรงเรียนครูควบคุมได้ แต่ถ้าเอากลับไปบ้านแล้ว ก็ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง

เท่าที่มีการติดตามการใช้งาน โดยประสานกับผู้ปกครองของเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องไอที ปัญหาการใช้มีน้อยมาก ยกเว้นบางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย

นางนวลพรรณ สมใจ อายุ 41 ปี ผู้ปกครองเด็กนักเรียนคนหนึ่ง อยู่ที่ ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องแท็บเล็ตว่า รู้สึกพอใจ ลูกสาวสนใจการเรียนมากขึ้น ในส่วนของแม่ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ใช้ค้นหาในเรื่องการเรียนรู้ เมื่อลูกสาวกลับมาจากโรงเรียน ก็มีการทบทวนกระบวนการเรียนรู้ทั้งในหนังสือและในแท็บเล็ต

ขณะที่ ด.ญ.ศศิพิชญ์ สมใจ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนวัดเมธังกราวาส กล่าวว่า "ตอนอยู่ ป.1 ตื่นเต้นที่ได้ใช้แท็บเล็ต แม้จะใช้ไม่ค่อยเป็นในตอนแรก แต่ก็มีครูคอยแนะนำ ที่สำคัญในแท็บเล็ตมีการสอนเป็นตัวการ์ตูน หนูชอบมากค่ะ เพื่อนๆ ก็ชอบ ทำให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น ตอนนี้อยู่ ป.3 แล้ว การใช้งานคล่องมากขึ้น สามารถค้นหาสิ่งที่อยากรู้ได้อีกด้วย"

ขณะที่ นายจำเริญ รัตนบุรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 12 นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในส่วนของ สพม.เขต 12 ได้รับแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนเขตพื้นที่ 12 ประกอบด้วย จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช รวม 98 โรงเรียน จำนวน 15,981 เครื่อง และสำหรับครู 412 เครื่อง

ถามว่าได้ประโยชน์หรือโทษ บอกได้เพียงว่า หากคนใช้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็คือประโยชน์ แต่หากใช้ไปในทางที่ผิดและไม่เห็นคุณค่าก็เกิดโทษ

เพียงแต่อยากให้ทุกฝ่ายคิดว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กในอนาคตให้ทำไป แต่อะไรที่แอบอยู่ก็ขอให้เลิกคิด สิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติเสียที

นางสาวเอ (นามสมมุติ) ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ตอบคำถามเรื่องแท็บเล็ต ว่า รู้จัก รู้แต่เพียงว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ใส่กระเป๋าสะดวก เคยเห็นหลานๆ ใช้ตอน ป.1 มองว่าไม่มีประโยชน์มากนัก สำหรับลูกสาวที่เรียน ม.2 อ่านหนังสือมีประโยชน์มากกว่า อาจจะไม่มีความรู้มากนัก แต่เชื่อว่าการอ่านจะทำให้เด็กฉลาดรู้และเชื่อมั่นที่สำคัญ ไม่ฝันเลื่อนลอยไปกับสิ่งใหม่ๆ มีความอดทนและอดกลั้น

ขณะที่เด็กนักเรียนชั้น ม.1 คนหนึ่ง ใน จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า คุณครูเพิ่งแจกแท็บเล็ต เพิ่งโทร.บอกพ่อ พ่อดีใจ แต่ส่วนตัวไม่รู้สึกอะไร แท็บเล็ตที่ได้มาค่อนข้างเก่า ไม่รู้แจกทำไม สู้ให้นักเรียนเรียนแบบเขียนอ่านธรรมดาจะดีกว่า คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนก็มีมาก เด็กเดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์มือถือทันสมัย ทุกคนไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย สามารถค้นคว้าจากสิ่งเหล่านี้ได้ รู้สึกเสียดายงบประมาณ

แวะไปที่ นายสมหมาย เก่งการ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง อ.เมือง จ.อ่างทอง บอกว่า ถ้าให้มองถึงประโยชน์และโทษของแท็บเล็ต ต้องให้เครดิตว่ามีประโยชน์สูงกว่า เด็กเอามาใช้ประกอบการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับครูว่ารู้จักออกแบบนำแท็บเล็ตเป็นสื่อเพื่อเสริมการอ่านได้ การเขียนได้ การคิดคำนวณได้ เป็นส่วนหนึ่งของสื่อประกอบการเรียนการสอน

นางสุนทรี กิตติมาสกุล ครูชำนาญการพิเศษใน จ.อ่างทอง กล่าวถึงแท็บเล็ตโรงเรียนว่า ในวิชาวิทยาศาสตร์สามารถใช้ได้ดี มีทั้งเนื้อหาคำถาม คำตอบมากมาย ประโยชน์ของการใช้งานมีมาก เด็กสามารถนำมาใช้สำหรับทบทวนเนื้อหาได้ดี

ขณะที่ ด.ญ.กัญชิภัทรศร วรเรียน นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง เป็นเด็กนักเรียนรุ่นแรกที่ใช้แท็บเล็ตตั้งแต่ชั้น ป.1 กล่าวว่า ถ้าถามถึงประโยชน์หนูคิดว่ามีประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้สามารถค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ ในห้องเรียนอาจไม่มี สำหรับโทษนั้นคิดว่าขึ้นอยู่กับคนที่นำไปใช้มากกว่า ถ้าเอาไปแล้วมัวแต่เล่นเกม ก็เป็นโทษอย่างแน่นอน

นี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งจากผู้ที่เคยใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา..เป็นเสียงที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการแท็บเล็ตถูกระงับไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook