เจาะปม...มหา"ลัยงัดสุดยอดโปรแกรม สกัดก๊อบธีสิส-ผลงานวิชาการ

เจาะปม...มหา"ลัยงัดสุดยอดโปรแกรม สกัดก๊อบธีสิส-ผลงานวิชาการ

เจาะปม...มหา"ลัยงัดสุดยอดโปรแกรม สกัดก๊อบธีสิส-ผลงานวิชาการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"ผลงานวิชาการ วิทยานิพนธ์ (ธีสิส) ไร้คุณภาพ ถูกจับได้ว่าลอกผลงานวิชาการ จ้างทำธีสิส ไม่ใช่ปมปัญหาใหม่ของวงการศึกษาไทย แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่ถูกละเลยและไม่มีการสะสางอย่างจริงจัง นับวันสถานการณ์เลวร้ายไปเรื่อยๆ ลามเป็นไฟไหม้ฟาง เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาทุกระดับชั้น ทั้งปริญญาตรี โทและเอก ไม่เว้นกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นักเรียนใช้วิธีก๊อบปี้ ซึ่งไม่มีวี่แววปัญหานี้จะลดลง มีแต่พัฒนารูปแบบกลโกงในการคัดลอกแบบทันสมัยและยากจะรู้เท่าทัน"

จนล่าสุด นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยรัฐ รวม 18 แห่ง ตั้งโต๊ะเซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการตรวจสอบการลอกเลียนงาน วรรณกรรม ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์เพื่อสกัดลอกวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโท และเอก

นพ.ภิรมย์ บอกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษเรื่องการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ เพราะโลกยุคปัจจุบันความรู้สามารถหาได้เพียงสัมผัสแป้นพิมพ์หรือหน้าจอ คอมพิวเตอร์เท่านั้น ดังนั้น การลอกวรรณกรรมจึงทำได้ในพริบตา นักศึกษาไม่ได้ค้นคว้าด้วยตนเอง แต่ไปลอกเลียนโดยไม่ทราบและไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานตนเอง

"ส่งผลเสียหายต่อวงการศึกษาไทยอย่างร้ายแรง กลายเป็นตราบาป หากถูกจับได้ในเวลาต่อมา อีกทั้งทำให้สังคมสูญเสียความเชื่อถือต่อมหาวิทยาลัยด้วย จึงพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดยใช้ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของจุฬาฯ ราว 15,000 เล่มเป็นฐานข้อมูลหลักจนประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรแกรมนี้"

โดยโปรแกรมนี้ใช้เวลาสร้างราว 2 ปีกว่า เริ่มใช้กับนิสิตที่จะจบในปีการศึกษา 2556 ด้วยการกำหนดให้วิทยานิพนธ์ทุกเล่มต้องผ่านการตรวจจากโปรแกรมนี้ก่อนสำเร็จ การศึกษา และปีการศึกษา 2557 ขยายผลให้สารนิพนธ์ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ทุกฉบับของนิสิตต้องผ่านการตรวจจากโปรแกรมนี้และโปรแกรม Turnitin ซึ่งนำมาใช้อยู่ก่อนแล้วเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการลอกเลียนใครมา

ถือว่าเป็นข่าวดีและนับว่าเป็นมาตรการเด็ด ที่ทุกฝ่ายหวังว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ โดยจุฬาฯ ได้ขยายผลให้มหาวิทยาลัย 17 แห่ง นำโปรแกรมนี้ไปใช้ฟรีจนถึงปี 2560 โดยเชื่อมข้อมูลวิทยานิพนธ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อสร้างขอบข่ายการป้องกันการลอกเลียนวรรณกรรมให้กว้างขวางและยังทำให้ มั่นใจว่าการลอกเลียนวรรณกรรมจะไม่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและระหว่าง มหาวิทยาลัย

ขณะที่ นายอมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยา จุฬาฯ บอกว่า การลอกเลียนวรรณกรรมเป็นปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าของทุกสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะการลอกผลงานรุ่นพี่ เนื่องจากโปรแกรมเดิมไม่มีฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดใน เมืองไทย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งตั้งเป้าว่าอีก 3 ปีการลอกวรรณกรรมต้องไม่เกิดขึ้น

ส่วนความเห็นจากมหาวิทยาลัยที่จะนำโปรแกรมนี้ไปใช้นั้น นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า นิด้าตรวจพบนักศึกษาลอกวิทยานิพนธ์มีไม่มาก ปัจจุบันนิด้าใช้โปรแกรม Turnitin ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ในการตรวจสอบ แต่โปรแกรมดังกล่าวมีข้อเสียคือมีเฉพาะผลงานทางวิชาการจากนักวิชาการ หรือวารสารต่างประเทศ ที่เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น

ขณะที่โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ของจุฬาฯ มีภาษาไทยด้วย แต่ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษอาจจะมีน้อย ดังนั้น หากใช้ทั้งสองโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานน่าจะมีความครอบคลุมมากขึ้น

"อยากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหน่วยงานกลางทำเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์และทำฐานข้อมูลกลางจัดเก็บ วิทยานิพนธ์จากทั่วโลก เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อโปรแกรมปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท"

ด้าน นายสนิท เหลืองบุตรนาค อธิการบดี มรภ.เลย บอกว่า การนำโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ไปใช้ครั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับนักศึกษา ได้ตรวจสอบผลงานให้มีความถูกต้องว่ามีส่วนใดที่นักศึกษาต้องแก้ไขข้อมูลที่ นำมาอ้างอิงให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและถูกต้องที่สุด

ขณะที่ฝั่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ก็ไม่น้อยหน้า ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการ หรือ Mycat (มายแคต) เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ บทความทางวิชาการของนักศึกษาและอาจารย์ เริ่มใช้ปีการศึกษา 2557

โดย นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. บอกว่า กระบวนการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ เริ่มจากนักศึกษาส่งไฟล์ร่างวิทยานิพนธ์เข้าสู่ระบบ จากนั้นระบบจะประมวลผลออกมาว่า วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวคัดลอกผลงานผู้อื่นในสัดส่วนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งคัดลอกในข้อความใดบ้าง โดยใช้แถบสีป้ายที่ข้อความนั้นและส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาว่าจะให้ วิทยานิพนธ์เล่มนี้ผ่านหรือไม่

โดยเร็วๆ นี้จะหารืออีกครั้งว่าการคัดลอกในสัดส่วนเท่าใดถึงจะให้วิทยานิพนธ์ฉบับนั้น ตกหรือผ่าน แต่โดยทั่วไปในต่างประเทศกำหนดว่าหากคัดลอกเกิน 20% จะถือว่าไม่ผ่าน

ขณะที่ น.ส.มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ นักศึกษาปริญญาโท คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. บอกว่า เห็นด้วยที่มีเครื่องมือตรวจสอบการลอกวิทยานิพนธ์ เพราะนักศึกษาควรจะสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญยังป้องกันชื่อเสียงของประเทศ โดยการทำให้นักศึกษาและนักวิชาการเกิดจิตสำนึกและมีความระมัดระวังไม่ไปลอก ผลงานของผู้อื่น โดยเฉพาะผลงานทางวิชาการของต่างประเทศ

สอดคล้องกับ น.ส.ฐิติรัตน์ ม่วงศิริ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นด้วยกับการตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม เพราะการทำวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ ต้องเป็นงานวิจัยหรือการค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อจบไปจะได้จบอย่างมีความภาคภูมิใจ แต่หากไปคัดลอกผลงานคนอื่นมา นอกจากจะไม่ภาคภูมิใจแล้วยังไม่ยุติธรรมกับเจ้าของผลงานด้วย

แต่ เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากจะใช้โปรแกรมสกัดการคัดลอกที่ทันสมัยล้ำยุคแล้วนั้น ถึงเวลาที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกันปลูกฝังให้นิสิต นักศึกษามีคุณธรรม จริยธรรมตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ทุจริตหรือว่าโกง

ที่สำคัญปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาลอกผลงานวิชาการนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนิสิต นักศึกษา แต่บ่อยครั้งพบว่ามีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ลอกผลงานทางวิชาการเช่นกัน ดังนั้น ต้องสร้างระบบป้องกันและปราบปราม รวมถึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ไม่นิ่งเฉยหรือมองข้าม

โดยต้องกำหนดมาตรการลงโทษหรือว่าถอดถอนปริญญาทันที หากตรวจสอบพบว่าคัดลอกมา เพราะพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยโดยตรง ถ้าทุกมหาวิทยาลัยหันมาเอาจริงเอาจังกับปัญหา เชื่อว่าอีกไม่ช้าการลอกผลงานวิชาการ หรือว่าปัญหาวิทยานิพนธ์ไร้คุณภาพก็จะค่อยๆ หมดไป

ที่สำคัญ จะช่วยล้างตราบาปให้กับวงการอุดมศึกษาไทยที่ถูกมองมาตลอดว่าจ่ายครบ จบแน่...


ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook