จาก"เงี่ยงปลาถึงแมงมุม" แบคทีเรียกินเนื้อคน

จาก"เงี่ยงปลาถึงแมงมุม" แบคทีเรียกินเนื้อคน

จาก"เงี่ยงปลาถึงแมงมุม" แบคทีเรียกินเนื้อคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นร้อนและสร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนอีกครั้ง หลังจากเกิดกรณีการแชร์แอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ถึงการเสียชีวิตเชื่อมโยงจากถูก

เงี่ยงปลาทับทิมตำแล้วได้รับเชื้อ "แบคทีเรียกินเนื้อคน" จนเสียชีวิต

ล่าสุด มีข่าวฮือฮาย้ำเตือนประเด็นเดิม เมื่อ พญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ศูนย์พิษวิทยาศิริราช และอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปผลตรวจซากแมงมุมต้องสงสัยที่ทำให้ชายชาวจังหวัดแพร่ต้องถูกตัดขาขวาทิ้งเพราะพิษลุกลามว่า แท้จริงไม่ใช่พิษจากแมงมุมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแมงมุมสีน้ำตาลหรือแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล แต่เป็นแมงมุม "สปิตติง สไปเดอร์" (Spitting Spider) ซึ่งพบได้ตามที่อยู่อาศัยทั่วไปและไม่มีพิษ โดยสาเหตุที่ถูกตัดขามาจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง

มาถึงจุดนี้อาจทำให้หลายคนยิ่งวิตกว่า เจ้าเชื้อแบคทีเรียทำลายกล้ามเนื้อชนิดนี้คืออะไร และรุนแรงน่ากลัวอย่างข่าวหรือไม่...

"นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า แบคทีเรียในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิดที่ก่อโรคแตกต่างกันไป โดยที่ก่อปัญหาต่อสุขภาพหลักๆ จะมีประมาณ 10 กลุ่ม แตกต่างกันออกไป แต่ที่เป็นประเด็นอยู่ในกลุ่มเชื้อแบคทีเรียแอโรโมแนส

ไฮโดรฟิลา (aeromonas hydrophila) ซึ่งก่อโรคที่เรียกว่า "เนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส" (Necrotizing fasciitis) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคเนื้อเน่า จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเชื้อแบคทีเรีย "แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา" เป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปตามสิ่งแวดล้อม แต่พบมากในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทั้งน้ำจืด น้ำทะเล หรือดิน และที่พบในสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา เนื่องจากอาจว่ายไปแล้วได้รับเชื้อดังกล่าวก็เป็นได้ จนทำให้ตัวปลามีเชื้อแบคทีเรีย หรือแม้แต่สัตว์บนบกอย่างหมู วัว ก็อาจได้รับเชื้อ แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะบริโภคไม่ได้ เพราะเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้ฆ่าได้ด้วยความร้อน หรือแม้กระทั่งสารคลอรีนก็สามารถกำจัดได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีเชื้อดังกล่าวในน้ำประปา หรือในสระว่ายน้ำ

หลักการแล้วเชื้อแบคทีเรียกลุ่มนี้จะก่อโรคได้ 2 ทาง คือ 1.จากการรับประทานเข้าไปโดยตรง ซึ่งอาจเป็นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือน้ำที่มีเชื้อ หรืออาจไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและกลืนน้ำเข้าไป อย่างแม่น้ำลำคลอง แต่กรณีนี้ไม่น่ากลัว และไม่ต้องวิตกเกินเหตุ เพราะเชื้อจะไปก่อโรคทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเสีย หรือเป็นโรคอุจจาระร่วง รวมทั้งอาจมีไข้ แต่อาการจะดีขึ้น ยกเว้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นโรคเบาหวาน จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ กรณีเช่นนี้พบน้อยมาก พบเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา กรณีชาวบ้านโชคอำนวย ตำบลวังตามัว อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จำนวน 7 คน เกิดอาการผิดปกติหลังจากบริโภคเนื้อวัวติดเชื้อจนเกิดอาการท้องร่วงฉับพลัน สำหรับการป้องกันการรับเชื้อจากการบริโภคนั้น ขอเพียงบริโภคอาหารปรุงสุก สะอาด และไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือปลาที่ตายผิดธรรมชาติก็จะลดโอกาสเสี่ยงได้

2.ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางผิวหนังจากบาดแผลเปิด หรือกรณีที่ถูกตำ เหมือนล่าสุดที่มีข่าวพบเงี่ยงปลาตำ กรณีนี้พบน้อยมาก โดยที่ผ่านมาไม่มีการจัดเก็บข้อมูลมากนัก เนื่องจากไม่ใช่โรคทางระบาดวิทยาและไม่ใช่โรคติดต่อ ซึ่งโอกาสได้รับเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา มีน้อย เฉลี่ยแต่ละปีพบผู้ป่วย 10-20 ราย เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำจะเกิดผลเร็วกว่าปกติ โดยเชื้อจะไปสร้างสารพิษและเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ ย่อยสลายกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อแขน ขา และจะลุกลามแพร่กระจายสู่กระแสเลือดและอวัยวะอื่นๆ ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า 50%

สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็ว และเชื้อแบคทีเรียยังไม่ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อมากนัก แพทย์จะทำการลดสารพิษด้วยการตัดเนื้อตายออก อาจจำเป็นต้องตัดแขน หรือขา จากนั้นจะให้ยาฆ่าเชื้อ แต่โอกาสรอดก็ไม่ 100% ซึ่งหากได้รับเชื้อจนทำลายเนื้อเยื่อแล้ว โอกาสที่เชื้อแบคทีเรียที่ก่อสารพิษจะกระจายและทำลายอวัยวะอื่นๆ มีสูง

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า จริงๆ แล้วเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ทางผิวหนังในแต่ละปีพบประมาณ 100-200 ราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่มาก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ที่ให้ระวังในอาชีพชาวนา เนื่องจากจะต้องทำงาน เดินลุยดงหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา ทำให้มีแผลถูกใบหญ้าใบข้าวบาด กิ่งไม้ข่วน เกิดแผลเล็กๆ จึงไม่ได้ให้ความสนใจทำความสะอาด เมื่อเชื้อโรคที่พบในดินในน้ำทั่วๆ ไปเข้าไปในแผล จะทำให้เกิดการอักเสบ ลุกลามได้ง่าย รายที่รุนแรงที่สุดคือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะไตวาย และช็อก เสียชีวิตในที่สุด

สิ่งสำคัญคือ 1.ไม่ควรรับประทานปลาที่ตายผิดธรรมชาติ เพราะเชื้อดังกล่าวสามารถก่อโรคได้ในตัวปลา โดยเฉพาะปลาที่มีแผลตรงลำตัวห้ามรับประทานเด็ดขาด 2.ต้องรับประทานปลาที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพราะเชื้อแบคทีเรียตัวนี้สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ส่วนแม่ค้าขายปลานั้นขอให้ใส่ถุงมือระหว่างจับปลา แต่ปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นแม่ค้าขายปลา ทั้งนี้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงอย่าให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลาม

โรค "เนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส" จริงๆ แล้วมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดและหลายกลุ่ม อาทิ เชื้อสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A) เชื้อเคลบซิลล่า (Klebsiella) เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) ที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เชื้ออีโคไล (E. coli) เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) เป็นต้น

แม้เชื้อก่อโรคกินเนื้อตัวนี้ไม่มีวัคซีน แต่ไม่ต้องกังวล เพราะอุบัติการณ์เกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขลักษณะให้ดี บริโภคอาหารปรุงสุก สะอาด และดูแลร่างกายให้แข็งแรง

ความรุนแรงของแบคทีเรียชนิดนี้ เพียงแค่เตือนให้ตระหนักได้ แต่อย่าตระหนก!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook