ผ่าทางตัน "สมศ." กู้วิกฤตศรัทธามหา′ลัย!!

ผ่าทางตัน "สมศ." กู้วิกฤตศรัทธามหา′ลัย!!

ผ่าทางตัน "สมศ." กู้วิกฤตศรัทธามหา′ลัย!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

มีปัญหามาโดยตลอดสำหรับเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ตั้งแต่รอบที่ 1-3 มีเสียงวิจารณ์มาตลอดว่าไม่สามารถสะท้อนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้จริง ขาดการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ส่งผลให้สถานศึกษาเกือบทุกระดับ ไม่นำผลการประเมินของ สมศ.ไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้ตามเป้าหมายของการประเมิน

จนมาถึงการประเมินรอบ 4 ใกล้จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยทั้งในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) จึงมีความพยายามเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวบ่งชี้ต่างๆ เพื่อให้เกณฑ์ที่ออกมาเหมาะสมกับมหาวิทยาลัยแต่ละประเภท

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีการตอบรับที่ดีจากทาง สมศ. โดยเฉพาะเมื่อ สมศ.ประกาศตัวบ่งชี้ที่กำหนดให้สถานศึกษาที่มีอายุเกิน 30 ปี และมีนักเรียนเกิน 3,000 คน ต้องมีทรัพย์สินจากการบริจาคของศิษย์เก่ามูลค่า 20 ล้านบาท ออกมาถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายอุดมศึกษาทั้ง 4 เครือข่าย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ประกาศระงับใช้หมวด 6 เรื่องมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545) ฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 สำหรับระดับอุดมศึกษา เป็นการชั่วคราว ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งพูดกันไปถึงขั้นเสนอให้มีการยุบ สมศ.เลยทีเดียว !!!

นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ.เปิดใจว่า ไม่รู้ว่าเหตุผลของความขัดแย้งดังกล่าวเกิดเพราะอะไร แต่เท่าที่ดูน่าจะเกิดจากการสื่อสารหรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากที่ผ่านมา สมศ. พยายามทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามปรับเกณฑ์ประเมินภายนอกของ สมศ.ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ประเมินภายในของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กว่า 80% รวมถึงพยายามเชิญสถานศึกษาผู้ถูกประเมินมาร่วมเสนอข้อคิดเห็น แต่ยอมรับว่าไม่สามารถรับข้อเสนอของทุกแห่งไปจัดทำเป็นตัวบ่งชี้ได้ทั้งหมด จึงต้องเลือกตัวที่เหมาะสมในภาพรวม ยืนยันว่าตัวบ่งชี้ทุกตัวของ สมศ.เกิดจากการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร สมศ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีการทำประชาพิจารณ์ ไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการ สมศ.ปรารถนา ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับตัวบ่งชี้ที่จะนำมาใช้ประเมินนั้นก็รู้สึกเห็นใจ เพราะคงกลัวว่าจะประเมินไม่ผ่าน แต่หากอุดมศึกษาดำเนินการโดยมีคุณภาพมาตลอด ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

"ขณะนี้ สมศ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์ประเมินรอบ 4 จะเริ่มประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2557 และเริ่มประมาณงบประมาณ 2559 ดังนั้นระหว่างนี้ยังถือว่ามีเวลาอีก 2 เดือน หากมหาวิทยาลัยมีข้อเสนอหรือต้องการให้มีการทบทวนอะไร ก็สามารถดำเนินการร่วมกันได้ การที่มหาวิทยาลัยยื่นหนังสือถึง คสช.ให้ชะลอการประเมินรอบ 4 อาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะคิดว่าจะต้องเข้ารับการประเมินทันทีในปี 2557" นายชาญณรงค์กล่าว

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะรองประธาน ทปอ. บอกถึงเหตุผลที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 4 เครือข่าย ตัดสินใจยื่นหนังสือเพื่อขอเบรกการประเมินรอบ 4 ว่า เพราะเห็นว่าตัวบ่งชี้หลายตัวของ สมศ.ยังไม่สามารถวัดคุณภาพของมหาวิทยาลัยได้จริง และอยากให้มีการพูดคุยเพื่อจัดทำระบบประกันคุณภาพที่เหมาะสมในภาพรวม ขณะที่เหตุผลหลักอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะมหาวิทยาลัยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการประเมินไปยัง สมศ.หลายครั้ง แต่ สมศ.ไม่ได้หยิบมาพิจารณา และส่วนใหญ่ สมศ.จะเป็นฝ่ายกำหนดตัวบ่งชี้ให้มหาวิทยาลัยทำตาม ซึ่งตัวบ่งชี้บางตัวทำให้มหาวิทยาลัยเกิดปัญหา

สอดคล้องกับ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยืนยันเช่นเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยไม่เคยคิดจะให้ยุบสมศ. เพียงแต่ขอให้ชะลอการประเมินในรอบ 4 ไปก่อน และ ทปอ. เคยยื่นข้อเสนอดังกล่าวกับ สมศ.ไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ โดย สมศ.อ้างว่าไม่สามารถชะลอได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ทำ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงต้องรวมตัวกันยื่นหนังสือถึง คสช. มหาวิทยาลัยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการประเมินเฉพาะกับ สมศ.เท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ เกี่ยวกับการประเมิน ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยต้องเข้ารับการประเมินทั้งจาก สกอ. และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) บางตัวบ่งชี้ของ สมศ. ก็เข้ามากำหนดทิศทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมากเกินไป

ขณะที่ นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพชัดเจนว่า การประเมินภายนอกของ สมศ. 3 รอบที่ผ่านมา ไม่ได้มีอำนาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย เพราะไม่มีใครนำไปใช้ในการพัฒนา เนื่องจากนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยสวนทางกับการประเมิน ถือเป็นภาระของมหาวิทยาลัย การเคลื่อนไหวของเครือข่ายอุดมศึกษาครั้งนี้ จึงถือเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนปัญหา ที่ สมศ.ต้องพิจารณาตัวเอง สมศ.ใช้งบปีละประมาณ 1 พันล้านบาท ในการประเมินภายนอกสถานศึกษา แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม จึงอยากให้ สมศ.ลองประเมินตัวเองด้วย

ถือเป็นเสียงสะท้อนที่ค่อนข้างดัง สมศ.คงต้องหยุดฟัง และทบทวนการทำงาน เพราะปัญหาใหญ่คือมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับในเกณฑ์การประเมินของ สมศ. แต่โดยหลักการไม่มีใครปฏิเสธว่าประเมินคุณภาพภายนอกยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยพัฒนาตัวเอง

ทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายคงต้องลดทิฐิ หันหน้ามาพูดคุยกำหนดตัวบ่งชี้ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย หากทำได้ เชื่อว่า สมศ.จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ!!


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook