จบวิศวะได้เงินเดือนเท่านี้... น้อยไปไหม ?
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
"ผมจบวิศวะจากมหาวิทยาลัย...(ชื่อดังของเมืองไทย) แห่งหนึ่งด้วยเกรดเฉลี่ย 2.90 แต่ผมสอบสัมภาษณ์ในบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง SCG, PTT ไม่ติดซักที่ จนผมคิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เพื่อน ๆ ผมยังทักเลยว่าทำไมไม่ติด
แล้วมาวันหนึ่งผมไปสัมภาษณ์ติดที่บริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ได้ทำงานตรงตามที่ผมจบมา เงินเดือนทดลองงาน 17,000 บาท พ้นทดลองงาน 18,000 บาทเองครับ คนจบมาเกรดต่ำกว่าผมยังได้อย่างน้อย ๆ 20,000 บาทเลย คิดแล้วน้ำตาจะไหล แต่ผมก็เริ่มชอบสังคมที่ทำงานนี้เพราะบรรยากาศอบอุ่น น่ารัก ได้ทำงานอย่างที่อยากทำ และได้เรียนรู้งาน ผมควรจะหางานใหม่ดีไหมครับ..."
นี่เป็นคำถามจากน้องที่เพิ่งจบจาก มหาวิทยาลัยมาหมาด ๆ และผมก็เชื่อว่าคำถามนี้คงจะตรงกับประสบการณ์ที่น้อง ๆ อีกหลายคนเจออยู่ตอนนี้ เลยอยากจะเอามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเรื่องนี้
ถ้าดูจากความต้องการของคนจบใหม่ และยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ Gen Y ไฟแรง ผมเชื่อว่าความต้องการของน้อง ๆ เหล่านี้ คือ
1.ได้ทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียง เวลาคุยกับเพื่อนในงานสังสรรค์ศิษย์เก่าเลี้ยงรุ่น ฯลฯ จะได้พูดชื่อองค์กรที่ทำงานอยู่ได้เสียงดัง (ให้คนอื่นได้ยินไปด้วย) ฟังชัด เพราะคนอื่นฟังแล้วรู้ว่าองค์กรนี้คือที่ไหน ใหญ่โตแค่ไหน แต่ถ้าอยู่ในบริษัทโนเนมบอกไปแล้วคนฟังร้อง "ฮา...บริษัทอะไรน่ะ" ก็คงจะรู้สึกเสียเซลฟ์ไปไม่น้อย จริงไหมครับ
2.ได้เงินเดือน (รวมถึงสวัสดิการ) เยอะ ยิ่งเยอะกว่าเพื่อนยิ่งดี ตามคำขวัญที่ผมบอกอยู่เสมอ ๆ ว่า "เงินเดือนเราได้เท่าไหร่...ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่" เพราะเอาไว้พูดเกทับ บลัฟข่มเพื่อน ๆ ให้อิจฉาเล่น นอกจากนี้ ควรจะมีโอกาสให้ได้ก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งได้เร็วยิ่งดี
3.บรรยากาศ และสภาพการทำงานต้องดี คือไม่ใช่อยู่กลางแจ้ง แดดร้อน เดี๋ยวโดน UV ผิวหยาบกระด้าง เดี๋ยวเป็นสิวฝ้าขึ้นมาแล้ว Selfie ภาพไม่สวยอายเพื่อน ๆ ถ้าอยู่ในห้องแอร์จะพิจารณาเป็นพิเศษ (555) ถ้าจะให้ดีกว่านั้นอยู่ในกรุงเทพฯจะดีที่สุด ถ้าเป็นต่างจังหวัดยิ่งเป็นจังหวัดไกล ๆ ขอคิดดูก่อน
4.มีหัวหน้าดี เป็นกันเอง คอยเอาใจใส่ พูดคุยสอนงานเรา มีปัญหาอะไรก็สอบถามปรึกษาหารือพี่เขาได้เพราะเขาคอยรับฟัง คอยสอนงานเหมือนพี่เหมือนน้อง พูดจาภาษาเดียวกัน และมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานที่เพียงพอ เหมาะสมกับงานที่เราทำ ผมว่าหลัก ๆ คงมีประมาณนี้สำหรับน้อง ๆ ที่จบมาใหม่จริงไหมครับ ?
แต่ที่ผมเล่ามาทั้งหมดข้างต้น 3-4 ข้อนั้นน่ะ ผมอยากจะบอกว่ามันเป็น "บริษัทในฝัน" นะครับ !
หมายถึงเป็นบริษัทที่อยู่ในความฝันไงครับ เพราะพอตื่นมาอยู่ในสภาพความเป็นจริงมันก็หายไป เพราะเราอาจจะฝัน (หรือคาดหวัง) ไว้ยังไงก็ได้ แต่เรื่องจริงอาจจะเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะในชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่คงไม่มีใครได้ทำงานอย่างที่ตัวเองใฝ่ฝันนัก หรอกครับ
สิ่งสำคัญคือ "ถ้าเราไม่ทำงานที่เรารัก...แต่เรารักงานที่เราทำ" บ้างหรือเปล่า ?
"ถ้าเราสามารถจะเลือกทำงานที่เรารักเราชอบได้ก็ต้องถือว่าทำบุญมาดี..."
แต่ถ้าเราไม่สามารถเลือกได้ล่ะ เราจะคิดกับงานที่เราต้องทำอยู่ยังไงให้อยู่กับมันได้ ?
เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หรือเป็นเถ้าแก่ผู้ประกอบการหลายคน อาจจะไม่ได้ทำงานที่เขารัก หรือที่เขาเคยฝันที่จะทำมาตั้งแต่แรก แต่คนเหล่านั้นเขารักงานที่เขาทำอยู่ตรงหน้าและรับผิดชอบ มุ่งมั่นเอาใจใส่ทำงานนั้นให้ดีที่สุดจนประสบความสำเร็จต่างหาก
ผมคงต้องย้อนกลับมาพูดเรื่อง "ทัศนคติคือทุก ๆ อย่างในชีวิต" กับน้อง ๆ ที่จบใหม่ อีกครั้งหนึ่งนั่นคือ ความสำเร็จในอนาคตทุก ๆ อย่างจะขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือวิธีคิดของน้อง ๆ ครับ
ถ้าในกรณีของคำถามข้างต้น ถ้าหากน้องมีวิธีคิดเสียใหม่ว่า
1.ไม่เอาเงินเดือนเราไปเปรียบเทียบกับเงินเดือนของเพื่อน
2.ไม่เอาบริษัทที่เราทำอยู่ไปเปรียบเทียบกับบริษัทของเพื่อน
3.ไม่ยึดติดหรือมี Ego ว่าเราจบมาได้เกรดเฉลี่ยสูงกว่าเพื่อน ทำไมเราถึงไม่ได้ทำงานบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนเพื่อน
4.ฯลฯ
น้องจะเห็นว่า 3-4 ข้อข้างต้นนี้น่ะ มันเป็นทัศนคติเชิงลบ (Negative Thinking) คิดแต่ในทางลบ ๆ แบบนี้คิดไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลยนะครับ แถมยังจะทำให้จิตใจของเราย่ำแย่ลงไปอีก
แต่ถ้าเรามีวิธีคิดเชิงบวก (Positive Thinking) เสียใหม่ว่า
1.เราอยู่ในบริษัทที่ได้ทำงานไม่ตรงกับที่เราเรียนรู้มา นี่เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้สั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่หาได้ยาก ได้เรียนรู้งานหลาย ๆ ด้าน ที่ถ้าแม้เราไปทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ก็ไม่มีโอกาสแบบนี้ เพราะในองค์กรใหญ่คงเรียนรู้ได้ด้านใดด้านเดียว (หรือแม้ว่าวันนี้เราอาจจะไม่ได้ทำงานตรงกับที่เรียน หรือที่อยากทำก็ตาม แต่อยากให้ลองคิดดูให้ดี ๆ ว่างานที่ทำอยู่นี้น่ะ ยังมีข้อดีอะไรบ้างไหม เราจะมีโอกาสได้เรียนรู้หรือทำงานนี้ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้บ้างไหม)
ลองมองหาเรื่องบวกในเรื่องลบให้เจอสิครับว่ามีบ้างไหม ซึ่งผมไม่เชื่อว่างานที่น้อง ๆ ทำอยู่จะมีแต่เรื่องเลวร้ายไม่ดีไปเสียทุกเรื่อง อยู่ที่ว่าเรา "อดทน" และให้เวลาอย่างเพียงพอที่จะเรียนรู้หรือค้นหาข้อดีของงานที่เราทำอยู่ได้ หรือไม่ แต่ผมบอกไว้ได้อย่างหนึ่งว่า ตราบใดที่เรายังมีทัศนคติเชิงลบอยู่ เราจะไม่มีทางมองเห็นข้อดีของงานที่เราทำอยู่ได้เลย
2.แม้ว่าเงินเดือนของเราในวันนี้จะน้อยกว่าเพื่อน ๆ แต่มันก็เป็นเงินเดือนของวันนี้ แต่ในอนาคตเมื่อเรามีความรู้ความสามารถในงานที่เพิ่มมากขึ้น เราเร่งทำงานที่เป็นชื่อเสียง หรือเป็นชิ้นงานที่สำคัญของเราเอาไว้เรื่อย ๆ ถึงวันนั้นแหละ เราก็จะเป็นคนกำหนดอนาคตในงานของเราได้เอง
ไม่ใช่องค์กรหรือใครจะมาเป็นคนกำหนด เพราะทุกวันนี้คนที่ทำงานดีมีฝีมือย่อมเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ
3.การได้เกรดเฉลี่ยที่สูง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคนคนนั้นจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระยะยาว เสมอไปครับ เพราะเกรดเฉลี่ยมันใช้แค่ตอนที่เพิ่งจบใหม่ แล้วไปสมัครงานเท่านั้นแหละครับ พอทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครเขามาสนใจถามอีกหรอกว่า "คุณได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่"
แต่เขาจะดูว่า "คุณทำงานได้ดีหรือไม่" ต่างหาก เพราะความก้าวหน้าและความสำเร็จในงานขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถในงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกรดเฉลี่ยตอนจบครับ จบป่ะ...
ถ้าน้อง ๆ คิดได้อย่างนี้และทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมเชื่อว่าเมื่อปัจจุบันดี อนาคตย่อมดีตามไปด้วยอย่างแน่นอน อย่าลืมว่าถ้าเราเลือกที่จะคิดในทางบวก อนาคตก็มีแนวโน้มจะเป็นบวก แต่ถ้าเราคิดลบ อนาคตก็จะเป็นลบตามไปด้วย
ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังหางานและทำงานทุกคนครับ