กรดไหลย้อน ไม่เล็กอย่างที่คิด

กรดไหลย้อน ไม่เล็กอย่างที่คิด

กรดไหลย้อน ไม่เล็กอย่างที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ เปิดโลกสุขภาพ

โดย นพ. พูนศักดิ์ ชื่นเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก แผนก ตา หู คอ จมูก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล


กรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบน ทำให้เกิดอาการจากการระคายเคืองจากกรด ส่งผลให้หลอดอาหารอักเสบทั้งมีแผลและไม่เกิดแผล ในรายที่กรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคกรดไหลย้อนธรรมดา เป็นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไกลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารนส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น กับ โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด

อาการของโรคกรดไหลย้อน

1. ทางคอหอยและหลอดอาหาร มีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปถึงคอรู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ แน่นคอ กลืนลำบาก รู้สึกเจ็บขณะกลืน กลืนติดๆขัดๆคล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ เจ็บ-แสบคอหรือลิ้น โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกมีรสขมของน้ำดีหรือรสเปลี่ยนของกรดในคอหรือปาก มีเสบหะอยู่ในลำคอหรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้

2.ทางกล่องเสียงและหลอดลม มีอาการ เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน ไอหรือรู้สึกสำลักน้ำลาย หายใจไม่ออกเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย ถ้ามีอาการหอบหืดที่เป็นอยู่(ถ้ามี) แย่ลงหรือไม่ดีขึ้นแม้ใช้ยา เจ็บหน้าอก เป็นโรคปอดอักเสบเป็นๆหายๆ

3. ทางจมูก และหู มีอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีโรคกรดไหลย้อน นอกจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และบริเวณท้องอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน อาจจะทดลองให้ยาลดกรดชนิด proton pump inhibitor (PPI) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วสอบถามอาการหลังจากที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ถ้าอาการดังกล่าว ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน อีกวิธีคือ ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วน หรือ ส่งตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหารและคอหอยส่วนล่าง

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

1.ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงความเครียด บุหรี่ ควันบุหรี่ เลี่ยงสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบ หลีกเลี่ยงการนอนราบ หลังรับประทานอาหารทันที ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากให้มากขึ้น ออกกำลังกายแบบแอโรบิกสม่ำเสมอ

2. รับประทานยา เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และ/หรือ เพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรด ปัจจุบันยาลดกรดกลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง ต้องใช้ขนาดยา PPI ในการรักษามากกว่าโรคกรดไหลย้อนธรรมดา ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยา หรือ หยุดยาเอง

3. การผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำใน ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รักษาไม่หายด้วยยา ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาได้



ที่มา:Hospital Healthcare วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook