Hormones ซีซั่น 2 ซีรีส์รักวัยรุ่น "พัวพัน พันพัว"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
หลังจากที่ประสบความสำเร็จ ถูกพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมืองและปิดซีซั่นแรกทิ้งให้คนดูรอคอยและลุ้นกับอนาคตของตัวละครในเรื่อง ก็ได้เวลาอันเหมาะสมที่ทีมงานเลือกแล้วว่าช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอมเหมาะสมที่สุดสำหรับการออกอากาศซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 ก็กลับมา
โดยได้ "ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร" หนึ่งในทีมเขียนบทเลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับ แทน "ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์" ที่ขยับไปเป็นโปรดิวเซอร์ เปิดตัวตอนแรกด้วยการสะท้อนเรื่องจริงที่ซีรีส์ฮอร์โมนเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถ่ายทอดลงไปในจออีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการปกป้องตัวเอง โดยใช้ละครเรื่อง "รักกรุ้มกริ่ม" เป็นตัวแทนซีรีส์ฮอร์โมน
"รักกรุ้มกริ่ม" เป็นละครดังในหมู่วัยรุ่น ในละครมีภาพวัยรุ่นมีเซ็กซ์ในวัยเรียนอย่างโจ่งแจ้ง แล้วโดนผู้ปกครองวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม มีกระแสสังคมต่อต้าน ที่โรงเรียนมีการเรียกประชุมผู้ปกครอง ซึ่งในการประชุมนั้น ผู้ปกครองมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป บ้างก็โทษละครเต็ม ๆ บ้างก็มองแบบกลาง ๆ บ้างก็มองแบบเข้าใจความเป็นจริงว่า สิ่งยั่วยุไม่ได้มีเพียงแค่ในละครเรื่องนี้เท่านั้น
ในประเด็นเนื้อหาที่ซีรีส์ฮอร์โมนนำเสนอออกมานั้น "ย้ง-ทรงยศ" โปรดิวเซอร์ของเรื่องบอกว่า ปัญหาของวัยรุ่นมันมีทุกอย่าง มีการลองผิดลองถูก การใช้ชีวิตตัวเองในเส้นทางความฝัน ความสัมพันธ์ ซีซั่นนี้เน้นเรื่องความสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งความสัมพันธ์อาจมีทั้งความรักชาย-หญิง ครอบครัว เพื่อน และมีปัญหาในเรื่องการออกไปลองสิ่งที่ไม่ควรลอง เช่น ยาเสพติด เซ็กซ์
"เจตนาของฮอร์โมนไม่อยากสอน ไม่อยากแนะนำ ไม่อยากสรุป ไม่อยากชี้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เราแค่อยากเอาความจริงเอาความเป็นวัยรุ่นทุกวันนี้มาเล่าให้คนดูฟัง พอเราโยนประเด็นนี้ลงไปแล้วคนดูคิดอะไร เราก็ไม่ได้สรุปว่าคิดแบบเราหรือคิดแบบไหนถูก มันเป็นแค่การจุดประกายให้คนคิด ผมรู้สึกว่าแค่จุดประกายให้คนคิดก็โอเคแล้ว ส่วนทางออกในการแก้ปัญหาของแต่ละคน ผมว่ามันเป็นเส้นทางของตัวเขาเอง"
ส่วน "เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ" นักแสดงหน้าใหม่ รับบทเป็น "ซัน" ที่เพิ่มเข้ามาในซีซั่นนี้บอกว่า ในสังคมจริง ๆ ทุกวันนี้ วัยรุ่นไปไกลกว่าซีรีส์อีกไกล แต่ก็มีหลากหลายแบบแตกต่างกันไป บางคนอาจจะมีชีวิตเรียบ ๆ แต่บางคนก็เจออะไรมาหนักกว่าในซีรีส์ ผมเชื่อว่ามันต้องมีวัยรุ่นที่เป็นเหมือนในเรื่อง ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นสังคมวัยรุ่นปัจจุบันว่ามันมีหลายแบบ ไม่ใช่เป็นเด็กดีหมดทุกคนหรือแย่หมดทุกคน และมันไม่ได้เป็นแค่ความคิดของวัยรุ่น แต่ยังมีแง่มุมของพ่อแม่และเรื่องเพื่อน ผู้ใหญ่สามารถดูเพื่อจะเข้าใจวัยรุ่น และวัยรุ่นดูเพื่อจะเข้าใจผู้ใหญ่ได้ด้วยเหมือนกัน
ด้าน "แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์" ฮอร์โมนเน็กซ์เจนอีกคน (รับบท นน) เสริมว่า โดยส่วนตัวคิดว่าฮอร์โมนน่าจะนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอนได้ เด็กไทยเรียนเยอะเกินจนไม่มีประสบการณ์ ขาดประสบการณ์ก็เลยแก้ปัญหาไม่เป็น ประสบการณ์สามารถหาได้หลายทาง จากการดูหนังดูละคร ผมว่าเอาแต่เรียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกิจกรรมรีแล็กซ์ ผมว่าการสอนโดยใช้สื่อ เด็กจะสนใจกว่าการสอนตามหนังสือ
ขณะที่ แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ นักแสดงหน้าใหม่ฝ่ายหญิงบอกว่า การมีซีรีส์ออกมาก็เป็นทางเลือกมากขึ้น เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าถ้าเจอปัญหาแบบนี้ แล้วเลือกแบบนี้มันก็จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ ถ้าเราเจอปัญหาเราก็เลือกได้ว่าจะแก้ปัญหายังไง
ด้านผู้กำกับ "ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร" บอกว่า ยังมีหลายเรื่องที่ไม่ได้พูดในซีซั่นหนึ่งและจะถูกพูดถึงในซีซั่นใหม่นี้ โดยจะไม่เล่าแบ็กกราวนด์ของตัวละคร เพราะได้เล่าไปแล้วในซีซั่นแรก แต่ซีซั่นนี้จะเน้นไปถึงเรื่องความสัมพันธ์อย่างเต็มที่ จะมีเวลาให้กับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ จะพัวพันกันมากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครในซีซั่นนี้เป็นผลมาจากการที่เขาทำอะไรในซีซั่นแรก การเขียนบทในซีซั่นนี้จะถูกล็อกไว้ประมาณหนึ่ง มีทั้งข้อดีข้อเสีย เพราะแคแร็กเตอร์ของแต่ละตัวละครมันชัดมากว่า คนนี้จะทำแบบนี้หรือเปล่า จะตัดสินใจแบบนี้ไหม การตัดสินใจมันโดนบังคับอยู่ด้วยแคแร็กเตอร์และสิ่งที่เขาทำมาก่อนหน้า เราไม่สามารถโกงเส้นทางของตัวละครได้
แต่ไหนแต่ไรมาทีวีไทยไม่เคยขาดละครหรือซีรีส์ที่สะท้อนเรื่องราวปัญหาร้อยแปดของวัยรุ่น เพียงแต่ที่เคยมีมานั้นมักจะเป็นแง่วัยรุ่นเกเร ยกพวกตีกัน หนีเรียน เด็กบ้านแตก มีปัญหากับพ่อแม่ หรือถ้าเป็นเรื่องรักวัยรุ่นก็จะแตะเฉพาะความสัมพันธ์หวานแหวว อกหักรักคุด หรือรักสามเส้าเท่านั้น
ซีรีส์ฮอร์โมนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตวัยรุ่น แต่ถือได้ว่าเป็นเรื่องแรกที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์และเพศสัมพันธ์ของเด็กมัธยมอย่างโจ่งแจ้งและมากกว่าที่เคยมีมา ทั้งยังพูดไปถึงความสัมพันธ์ ชาย-ชาย หญิง-หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง ทว่าเป็นเรื่องใหม่ที่มีการนำเสนอออกมาผ่านสื่อที่เข้าถึงผู้คนมากเช่นนี้ อาจจะด้วยพื้นที่ออกอากาศเป็นโทรทัศน์ดาวเทียม ทางทีมงานจึงกล้านำเสนอเนื้อหาที่รุนแรงกว่าที่เคยมีมาทางฟรีทีวี
ในช่วงระหว่างที่ซีรีส์เรื่องดังจบซีซั่นแรกไป ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) ก็เป็นฟรีทีวีที่หาญกล้าส่งซีรีส์วัยรุ่น "Love Sick" ที่สร้างมาจากนวนิยายวาย (นิยายชายรักชาย) อันโด่งดังจากบอร์เด็กดี
ทางช่อง 3 ยังคงมีซีรีส์ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ที่ออกอากาศต่อเนื่องมายาวนาน แต่ระยะหลังสีสันความสนุกสนานลดลงไปเยอะ ไม่ถูกพูดถึงมากเหมือนเมื่อก่อน และถ้าเทียบกับ ม.6/16 ร้ายบริสุทธิ์ที่เป็นจุดกำเนิดของซีรีส์เรื่องนี้ ถือว่าความเข้มข้นยังห่างกันมาก
ต้องรอดูต่อไปว่า หลังความสำเร็จของฮอร์โมน จะมีเจ้าไหนส่งซีรีส์ทำนองนี้ ตามมาเสิร์ฟคนดูอีกบ้าง
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ