ดื่มน้ำอย่างไร ให้ร่างกายสมดุล
คอลัมน์ พบอายุรแพทย์ โดย นายแพทย์สราวุฒิ สนธิแก้ว
ใคร ๆ ก็รู้ว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่เรายังพบเห็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำของร่างกาย โดยเฉพาะการบริโภคน้ำในเวชปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยน้ำ 55% - 70% ร่างกายใช้น้ำเป็นส่วนประกอบของโครงสร้าง เป็นตัวกลางในการดูดซึมสารอาหาร รักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบของโลหิต สารหล่อลื่นข้อต่อ ส่วนประกอบของทุกอวัยวะในร่างกาย ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ ปริมาณน้ำจึงต้องมีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ร่างกายได้รับน้ำจากการบริโภคทางปาก การเผาผลาญทางเคมีในร่างกาย และได้รับผ่านทางเส้นเลือด รวมไปถึงกรณีเจ็บป่วยแล้วได้รับน้ำเกลือ ร่างกายจึงมีความจำเป็นต้องปรับสมดุลของการรับน้ำในร่างกายให้เหมาะสม ด้วยการขับน้ำออกจากร่างกายทางไต ทางลมหายใจ ทางเหงื่อ ทางลำไส้โดยปนมากับอุจจาระ เมื่อร่างกายขาดน้ำ จะมีการกระตุ้นสมองให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำ เนื่องจากเมื่อร่างกายขาดน้ำ จะมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ มากน้อยต่างกัน ตามความรุนแรงของการขาดน้ำ ตั้งแต่ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น ไตทำงานลดลง สมองทำงานด้วยประสิทธิภาพลดลง ความต้านทางโรคลดลง ในทางตรงกันข้าม เมื่อน้ำในร่างกายเกิน น้ำจะไปสะสมตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการบวมตามส่วนต่าง ๆ เช่น ขา แขน ผิวหนัง ถ้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อปอด ทำให้หายใจไม่สะดวก เป็นอาการหนึ่งของภาวะหัวใจล้มเหลว
สำหรับผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมาก มักมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จึงแก้ปัญหาด้วยการดื่มน้ำน้อยลงในแต่ละวัน บางครั้งผู้ป่วยบางท่านกังวลว่า จะต้องตื่นกลางดึกเพื่อปัสสาวะ แล้วกลับมานอนไม่หลับ จึงดื่มน้ำน้อย ผลของการดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มีผลให้การทำงานของไตลดลงโดยไม่รู้ตัว ผิวหนังแห้ง จนบางครั้งเกาจนเป็นแผล ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องความรู้สึกกระหายน้ำลดลงเมื่อร่างกายขาดน้ำ จึงมีแนวโน้มการขาดน้ำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งความรู้สึกทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย
มีคำแนะนำให้ผู้สูงอายุที่ไม่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ไตวายเรื้อรัง ฯลฯ ดื่มน้ำวันละ 1,500 - 2,000 มิลลิลิตรต่อวัน หรือประมาณ 6 - 8 แก้วต่อวัน หรือ 30 - 35 มิลลิลิตรต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยอาจแบ่งช่วงเวลาการดื่มน้ำตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ถ้ากังวลเรื่องปัสสาวะกลางดึกหลายครั้ง ก็ให้ลดประมาณการดื่มน้ำลงในช่วงบ่ายถึงเย็น และก่อนนอน แต่ปริมาณการดื่มน้ำทั้งวันต้องให้ได้ปริมาณตามคำแนะนำดังกล่าว วันใดที่เดินทางกลางวัน ก็อาจดื่มน้ำกลางวันลดลง เป็นต้น การดื่มน้ำให้เพียงพอ ยังช่วยลดอาการท้องผูกในผู้สูงอายุเช่นกัน
วิธีการง่าย ๆ นี้ ที่ใช้ประเมินว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่นั้น ให้สังเกตจากสีปัสสาวะ ถ้าเข้มข้นมากขึ้น โดยไม่ได้กินยาหรืออาหารที่ขับออกมาทางปัสสาวะแล้วสีเข้มขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าสังเกตว่ามีอาการบวมบริเวณผิวหนัง หรือขา 2 ข้าง หรือเริ่มเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ อาจะเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะน้ำในร่างกายเกิน จำเป็นต้องลดการบริโภคลง
"น้ำ" เป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย ถ้าทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญและรู้จักวิธีการบริโภคที่ถูกต้อง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันให้สุขภาพของผู้สูงอายุแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง