คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Cappuccino

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Cappuccino

คำนี้ท่านได้แต่ใดมา : Cappuccino
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คำนี้ท่านได้แต่ใดมา
ผู้เขียน สุกิจ กิตติบุญญานนท์ (I Get English Magazine)

Cappuccino
หากพูดถึงกาแฟ เรามักจะคุ้นเคยว่าประเทศบราซิลเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่การดื่มกาแฟนั้นไม่ได้จำกัดแค่ในบราซิลเท่านั้น แต่ยังกระจายไปทั่วโลกจนคนหลายชาติติดการดื่มกาแฟกันอย่างงอมแงม ชนิดว่าขาดดื่มกาแฟวันไหนแทบจะขาดใจไปเลยทีเดียว

เพราะความนิยมของการดื่มกาแฟนี่เอง นอกจากการค้นหาเมล็ดพันธุ์กาแฟชั้นดีมาทำกาแฟแล้ว ยังมีการคิดค้นสูตรกาแฟออกมาอย่างหลากหลาย ด้วยความแตกต่างในการปรุงกาแฟโดยการเพิ่มนมและปิดท้ายด้วยฟองนมในชั้นบนสุดนี่เอง จึงทำให้เกิดเมนูยอดฮิตอย่างคาปูชิโน่ (Cappuccino)

ก่อนที่ Cappuccino จะมาเป็นหนึ่งในเมนูร้านกาแฟนั้น ชื่อนี้ไม่ได้มีที่มาเกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มเลย และที่น่าประหลาดใจไปมากกว่านั้น คำว่า "Cappuccino" นั้นไปเกี่ยวพันกับเรื่องของศาสนาครับ

กลุ่มนักบวช Franciscan ที่มีความเชื่อและยึดมั่นในคำสอนของนักบุญ Francis หรือ St.Francis นั้น มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตนตามคำสอนมาก เช่น ต้องไม่มีการโกนหนวด และต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักบวช Franciscan เห็นว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่กลุ่มของตนเองยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของ St.Francis นั่นคือเครื่องแบบที่กลุ่ม Franciscan สวมใส่ในยุคนั้น อาจจะแตกต่างไปจากเครื่องแบบที่ St.Francis ได้เคยสวมใส่ในอดีต

ดังนั้น เพื่อให้กลุ่มนักบวช Franciscan ที่มีความเลื่อมใสใน St.Francis ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง จึงมีการออกคำสั่งในปี ค.ศ. 1520 ให้เปลี่ยนแปลงชุดของนักบวชในกลุ่ม Franciscan โดยนอกจากชุดที่สวมใส่จะมีสีน้ำตาลปิดทั่วทั้งร่างกายแล้ว ยังมีผ้าทรงพีระมิด (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "hood") คลุมที่ศีรษะด้วย และหลังจากที่มีการออกคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงชุดของนักบวชมาได้ 8 ปี พระสันตะปาปาจากนครรัฐวาติกันในกรุงโรม ประเทศอิตาลีก็อนุญาตให้นักบวชกลุ่ม Franciscan นี้ สามารถสวมใส่ชุดดังกล่าวเพื่อเผยแผ่ศาสนาและออกช่วยเหลือคนยากจนได้อีกด้วย

ในภาษาอิตาลีนั้น คำว่า "Cappuccio" แปลว่า "ผ้าคลุมศีรษะ" และ "ino" นั้น มีความหมายว่า "เล็ก" ดังนั้นแล้ว "Cappuccino" จึงแปลว่า ผ้าคลุมศีรษะขนาดเล็ก เมื่อระยะเวลาผ่านไป คำว่า "Cappuccino" อาจจะหดสั้นลงหรือ ผิดเพี้ยนไปบ้าง จนเมื่อคำนี้ได้เข้ามาอยู่ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ จึงแปลงโฉมและเรียกว่า "Capuchin" และนานวันเข้า ชื่อของนักบวชกลุ่ม Franciscan ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนักบวชกลุ่ม Capuchin แทน เนื่องจากเครื่องแบบที่มีผ้าคลุมศีรษะที่เป็นเอกลักษณ์และสอดคล้องกับความหมายในภาษาอิตาลีนั่นเอง

สาเหตุที่ชื่อของกลุ่มนักบวช Cappuccino ในภาษาอิตาลี หรือ Capuchin ในภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นชื่อกาแฟที่ผสมกับนมและปิดท้ายด้วยฟองนมชั้นบนสุดที่เรียกว่า "Cappuccino" นั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการแรก อาจเป็นเพราะสีของชุดนักบวชที่มีโทนสีน้ำตาลเช่นเดียวกับสีของกาแฟที่ผสมกับนมแล้วอย่าง Cappuccino จึงนำชื่อดังกล่าวมาเรียกเป็นชื่อกาแฟครับ

ประการที่สอง อาจเป็นเพราะการใส่ฟองนมปิดท้ายที่ชั้นบนสุดของกาแฟ Cappuccino นี่เอง ที่มีความคล้ายคลึงกับการเอาผ้าคลุมมาใส่ปิดที่ศีรษะ เหตุที่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะนานวันเข้า คำว่า "Capuchin" นั้นไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่นักบวชที่เดิมเคยเรียกกลุ่มตัวเองว่า Franciscan เท่านั้น แต่ยังมีลิงและนกพิราบ ที่ถูกขนานนามว่า "Capuchin" ด้วย นั่นคือ "Capuchin Monkey" และ "Capuchin Pigeon" เนื่องจากสัตว์ทั้งสอง ชนิดนี้มีขนที่ปกคลุมบริเวณศีรษะที่มีลักษณะคล้ายผ้าคลุมของนักบวชกลุ่ม Capuchin นั่นเอง

กาแฟ Cappuccino นั้น แทบจะเป็นคำสากลเลยก็ว่าได้ครับ เรียกว่าไปประเทศไหน หากใครอยากสั่งกาแฟ Cappuccino ก็สามารถใช้ทับศัพท์ได้เลย แต่คำว่า "กาแฟ" เองนั้น กลับมีการใช้คำที่อาจจะออกเสียงใกล้เคียงกันแต่ก็สะกดต่างกันในหลายภาษา เช่น Coffee ในภาษาอังกฤษ, Cafe ในภาษาฝรั่งเศสและสเปน, Caffe ในภาษาอิตาลี, Kaffee ในภาษาเยอรมัน และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็ คือภาษาไทยครับ เพราะเรามีมากกว่าหนึ่งคำที่ใช้เรียกกาแฟ เพราะบางครั้งเราก็เรียกว่า "กาแฟ" บางครั้งก็เรียกว่า "โกปี๊" ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook