ตะลึง! กวดวิชาพุ่ง 8.1 พันล้าน ปี′58 งานวิจัยชี้ "ค่าธรรมเนียม-เด็กติว" เพิ่ม
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมได้รับรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการกวดวิชาของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.)สำนักงานปลัดศธ.พบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉพาะปี2555ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชา2,005แห่งอยู่ในกรุงเทพฯ460แห่ง และภูมิภาค 1,545 แห่ง มีนักเรียนเรียนกวดวิชา 453,881 คน หรือ12% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด โดยมูลค่าการตลาดของธุรกิจกวดวิชา ปี 2556 ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตไปสู่ 8,189 ล้านบาท เพิ่ม 5.4% ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มราคาค่าเรียน และจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้น
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ผลการศึกษายังพบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกวดวิชา เช่น ผู้เรียนคาดหวังว่าผลการเรียนจะดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการสอบได้ ใช้เตรียมตัวสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เป็นต้น ส่วนผลกระทบจะมีค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาต่อเทอมค่อนข้างสูง
ผู้เรียนต้องออกนอกบ้าน และสถาบันกวดวิชาไม่เน้นสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สำหรับข้อเสนอการแก้ปัญหากวดวิชาจะต้องพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษาให้เท่าเทียมกัน สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนและปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบให้ สนย.ไปศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในเชิงลึกอีกครั้งเพื่อนำเสนอในที่ประชุมปฏิบัติการระดมความเห็นกำหนดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการกวดวิชาในเดือนกันยายนนี้
นายอำนาจ วิชชานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเร่งแก้ปัญหาการกวดวิชาอยู่ โดยจะวางแนวทางการแก้ปัญหาที่จะพัฒนาให้การเรียนการสอนของทุกโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ ศธ.ลดเวลาเรียนลงจึงได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ไปวิเคราะห์แล้วและคาดว่าการปรับลดเวลาเรียนคงไม่ได้ปรับใหญ่เพราะชั่วโมงเรียนไปสัมพันธ์กับหน่วยกิตการเรียนการสอนดังนั้นเบื้องต้นอาจปรับลดชั่วโมงเรียนในบางวิชาลงเช่นวิชาสังคมศึกษาที่มีการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมแทนเป็นต้นคาดว่าจะเริ่มปรับได้ทันทีในภาคเรียนที่2ปีการศึกษา2557ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุป สพฐ.จะจัดประชุมชี้แจงกลุ่มศึกษานิเทศก์ เพื่อให้นำไปขยายผลและจัดทำคู่มือให้กับครูใช้เป็นแนวทางในการสอน