อยากเป็น อ.มหาวิทยาลัย ต้องอ่าน! ข้อคิดเรื่องทุกข์ของ อ.มหาวิทยาลัยไทย

อยากเป็น อ.มหาวิทยาลัย ต้องอ่าน! ข้อคิดเรื่องทุกข์ของ อ.มหาวิทยาลัยไทย

อยากเป็น อ.มหาวิทยาลัย ต้องอ่าน! ข้อคิดเรื่องทุกข์ของ อ.มหาวิทยาลัยไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องทน

วีรชัย พุทธวงศ์
ชื่อบทความเดิม: อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เก่งอย่างเดียวไม่พอ ยุคนี้ต้องทนให้ได้อย่างน้อย 9 อย่าง


เริ่มจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใน ปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีนโยบายลดรายจ่าย จึงมีนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัยบรรจุตำแหน่งอาจารย์ในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงาน ทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดยมีข้อตกลงให้อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบัน คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า โดยตัดสิทธิที่ข้าราชการแต่เดิมได้รับทั้งหมดออก เป็นแรงจูงใจเรื่องเงินเดือน ให้ใด้คนเก่งเข้ามาทำอาชีพนี้มากขึ้น

ปัญหาคือ 15 ปีผ่านมาแล้ว มีบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ยอมออกนอกระบบเป็นพนักงานฯ กัน 100% ที่เหลือเกินครึ่งยังเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีข้าราชการผสมกับพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 15 ปี ข้อตกลงในปี 2542 ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคใหม่เก่งอย่างเดียวไม่พอ ผู้เขียนมีทัศนะอีกมุมนำเสนอว่า ท่านที่อยากมาเป็นอาจรย์มหาวิทยาลัยต้องรับให้ได้ในสิ่งดังต่อไปนี้

ต้องรับให้ได้กับการถูกหักเงินเดือนหน้าตาเฉย แม้มติ ครม. ปี 2542 ระบุว่าท่านต้องได้รับเงินเดือน 1.7 เท่าของฐานเงินเดือนข้าราชการปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ นอกจากท่านจะรับเงินเดือนในฐานเก่าแล้ว มหาวิทยาลัยบางแห่งจะหักเงินเดือนของท่าน ตั้งแต่ 0.2 - 0.7 (ส่วนใหญ่ได้รับจริง 1.0 - 1.5 เท่า) โดยมีข้ออ้างต่างๆ นานาว่า เงินที่หักไปจะนำไปจัดสวัสดิการ หรือพัฒนาระบบพนักงานมหาวิทยาลัยในองค์กร โดยไร้การตรวจสอบชี้แจงที่ชัดเจน

ต้องรับให้ได้กับการถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี แม้ท่านจบปริญญาเอก จบปริญญา 2 - 3 ใบ แต่หากเป็นนักเรียนทุน ก็ไม่สามารถหนีไปทำงานเอกชนได้ เพราะติดสัญญาชดใช้ทุน ต้องมาบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย การยื่นกู้เพื่อเข้าหาแหล่งเงินในการสร้างบ้าน หรือลงทุน ธนาคารจะไม่ค่อยอนุมัติ เพราะสถานภาพไม่มั่นคง มีสัญญาจ้างที่สั้น 1-3 ปี หรือ 1-5 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีระยะยาวถึงอายุ 60 ปี

ต้องรับให้ได้ว่า ท่านจะขาดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยตำแหน่งของท่านมีสัญญาจ้าง มีกำหนดเวลา หากพูดหรือวิจารณ์ไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ ไปโวยวายมากก็อาจไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้าง มีกรณีศึกษาเรื่องนี้เยอะมาก และพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน

ต้องรับให้ได้ว่า หากท่านถูกปลดออกจากงาน ท่านจะอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ของกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ เพราะท่านไม่ใช่ข้าราชการ มีหนทางเดียวคือฟ้องศาลขอความเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันใช้เวลานานมากกว่า 3 - 5 ปี ซึ่งท่านจะว่างงานตลอดระยะเวลารอคำตัดสิน และสถิติข้อมูลส่วนใหญ่จากศูนย์ประสานงานฯ พนักงานมหาวิทยาลัยส่วนมากแพ้คดี เพราะเป็นการจ้างตามสัญญาจ้าง

ต้องรับให้ได้ว่า บางมหาวิทยาลัยให้เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เพียงครึ่งเดียวของตำแหน่งข้าราชการ ทำให้ในมหาวิทยาลัยของรัฐ มีอาจารย์ที่เป็นข้าราชการได้เงินประจำตำแหน่ง ผศ. รศ. และ ศ. 2 เท่าตามนโยบายรัฐ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยรับไปเท่าเดียว เพราะไม่ใช่ข้าราชการ

ต้องรับให้ได้กับคำพูดดูถูกจากเพื่อนร่วมงานบางคน และจากผู้บริหารบางคนที่ขาดความเข้าใจในระบบพนักงานมหาวิทยาลัย มีคำสบประมาทดูถูกเพื่อนร่วมอาชีพที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่น "รู้ว่าเป็นอย่างนี้แล้ว มาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทำไม" "ที่อื่นดีกว่าก็เชิญลาออกไปอยู่" "คุณอย่าลืมว่าคุณคือพนักงานมหาวิทยาลัย" "พวกคุณมันเงินเดือนเยอะแล้ว จะเอาอะไรอีก" "พวกคุณ ได้คืบ จะเอาศอก" เป็นต้น

ต้องรับให้ได้ว่า ท่านจะไม่ได้โบนัสเหมือนข้าราชการ แม้ในมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวนมากมีสัดส่วนพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 80% แต่ผู้บริหารส่วนมากก็ยังเป็นข้าราชการ และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ครม. ให้โบนัสบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เป็นเงินรางวัลให้กับบุคลากรที่สร้างสรรค์ผลงานให้สถาบันตนเอง โดยให้เป็นเงินพิเศษโบนัส และกลุ่มผู้สร้างผลงานให้กับหน่วยงาน ก็คือ พนักงานมหาวิทยาลัยกว่า 80% ในสถาบันนั้นๆ แต่โบนัสเหล่านี้มหาวิทยาลัยบางแห่ง ห้ามแจกจ่ายให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย....

ต้องรับให้ได้ว่า ท่านจะโอนย้ายไม่ได้ เพราะระบบพนักงานมหาวิทยาลัยคล้ายเอกชน ต้องลาออกเพื่อไปสมัครที่ใหม่เท่านั้น

ต้องรับให้ได้ว่า ท่านต้องใช้ระบบประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน เข้าสถานรักษาพยาบาลในท้องถิ่นได้ 2 แห่ง ยืนต่อแถวกับแรงงานพม่า รับยาราคาถูก และต้องอดทนกับคำถามของพยาบาลว่า เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมไม่ใช้การเบิกตรงจากกรมบัญชีกลาง

ทั้งหมดนี้เป็นอีกมุมที่ขอนำเสนอและเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วยินดีต้อนรับสู่อาชีพพนักงานมหาวิทยาลัย


เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และเป็นเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ


ที่มา - เว็บไซด์ประชาไท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook