นักวิทย์น้อยจากอียิปต์ พบวิธีแปรรูปขยะพลาสติก
ทั่วโลกมีขยะที่เป็นพลาสติกอยู่มากมาย ทำให้มีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากของเหลือใช้เหล่านี้ ทั้งเพื่อไม่ให้เป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อมไปยาวนาน และเพื่อสร้างคุณค่าของมันให้กลับคืนมาอีกครั้ง ภายใต้แนวความคิดนี้ ขยะพลาสติกถูกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ในหลายๆ ทาง หนึ่งในจำนวนนั้นคือการนำมาใช้เป็น "ฟีดสต๊อก" หรือวัตถุดิบสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตพลังงาน ซึ่งโดยปกติแล้วมักใช้กระบวนการเผาที่ความร้อนสูง เพื่อให้โมเลกุลของขยะพลาสติกแตกตัวออก รวมตัวกันใหม่เป็นโมเลกุลขนาดเล็ก ตั้งแต่ส่วนที่เป็นก๊าซของเหลว และของแข็ง
ตรงนี้เองที่สาวน้อยวัยเพียง 16 ปีอย่าง อัซซา อับเดล ฮามิด ไฟอัด นักวิทยาศาสตร์น้อยชาวอียิปต์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ในอียิปต์นั้น ขยะพลาสติกมีจำนวนมากมายในแต่ละปี ประเมินจากปริมาณการบริโภคแล้วอียิปต์มีเศษขยะพลาสติกเหลือมากถึง 1 ล้านตันในแต่ละปี สิ่งที่อัซซาคิดนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับการทำให้พลาสติก โพลีเมอร์ในขยะพลาสติกเหล่านี้แตกตัวออก เพื่อนำไปเปลี่ยนให้เป็น "ฟีดสต๊อก" สำหรับผ่านเข้าสู่กระบวนการผลิตพลังงานชีวมวลต่อไป
แนวความคิดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้กระบวนการของอัซซาโดดเด่นออกมาจากกระบวนการเดิมที่มีและใช้กันอยู่ก็คือ เธอเสนอให้ใช้ "อะลูมิโนซิลิเกต" เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (คะตะลิสต์) อัซซาระบุว่า อลูมิโนซิลิเกต ไม่เพียงไม่แพงแต่ยังให้ผลผลิตสูงกว่าเดิมอีกด้วย ตัวเร่งปฏิกิริยาของเธอจะเข้าไปทำให้โมเลกุลของขยะแตกตัวออก ให้ผลลัพธ์ทั้งที่เป็นก๊าซ อย่างเช่น โปรเปน, มีเทน และอีเทน ซึ่งจะถูกผ่านกระบวนการเปลี่ยนให้เป็นเอทานอลต่อไป
แร่อะลูมิโนซิลิเกต ที่เธอนำมาใช้เป็นตัวคะตะลิสต์ในกระบวนการนี้นั้น เป็นแร่กลุ่มใหญ่ที่มีอยู่มากมายเรียกกันทั่วไปว่า กลุ่มแร่ดินเหนียว (เคลย์ มิเนอรัล) ราคาไม่แพงแน่ เพราะนี่คือแร่ที่เป็นส่วนประกอบหลักของเปลือกโลก
อัซซาระบุว่า เทคโนโลยีนี้ของเธอจะส่งผลกรรมวิธีผลิตพลังงานไฮโดรคาร์บอนจากขยะไม่เพียงมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ยังประหยัดมากขึ้นอีกด้วย กระบวนการของอัซซานอกจากจะได้ก๊าซที่เป็นพลังงานได้ทันทีแล้ว ยังได้น้ำมันที่เรียกว่า "แนฟทา" ซึ่งปกติมักได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบและถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำมันดีเซล และป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมีเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกอีกด้วย
ประเมินจากขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันต่อปี อัซซาระบุว่า กระบวนการของเธอสามารถเปลี่ยนมันให้เป็นก๊าซพลังงานได้ 40,000 ตันต่อปี แนฟทาอีก 138,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 78 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,500 ล้านบาทเลยทีเดียว
กระบวนการของอัซซาได้รับรางวัลยูโรเปียน ฟิวชัน ดีเวลลอปเมนท์ อะกรีเมนต์ อวอร์ดส์ ในงานประกวดนักวิทย์น้อยแห่งสหภาพยุโรปมาแล้ว และกำลังเตรียมการเพื่อนำขึ้นจดสิทธิบัตรกับทางสำนักงานสิทธิบัตรแห่งอียิปต์อีกด้วย
ที่มา : นสพ.มติชน